เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phogphit

ทั่วโลกวันนี้มีกระแส 3 อย่างที่ผู้คนให้ความสนใจ คือ สุขภาพ การเงิน และภาษา

ผู้คนสนใจดูแลสุขภาพด้วยตัวเองมากขึ้น ไม่ใช่คิดแต่จะกินยาหาหมอ สนใจเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การพักผ่อนนอนหลับ การคลายเครียดด้วยการทำสมาธิและวิธีการต่างๆ

เรื่องอาหารการกินนั้นพบว่า คนใส่ใจอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารอินทรีย์ ไร้สารเคมี ถ้าไม่มีก็ขอให้ปลอดสารเคมีเป็นอย่างน้อย  ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะแม้แต่ที่ติดป้ายว่าอินทรีย์ก็ยังพบสารเคมีตกค้าง

วันนี้ผู้คนคุ้นเคยกับศัพท์สุขภาพที่หลายสิบปีก่อนไม่รู้จักหรือไม่ใช้กัน เช่น สุขภาพองค์รวม อินทรีย์หรือออร์แกนิก ใยอาหารหรือไฟเบอร์ โปรไบโอติก ปรีไบโอติก จุลินทรีย์ดี คีโต ไอเอฟ เป็นต้น

ส่วนหนึ่งคงเป็นการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะสื่อสังคม ไม่ว่ายูทูบ และอื่นๆ ที่แพทย์และผู้รู้เรื่องสุขภาพมากมายให้ข้อมูลเรื่องการดูแลสุขภาพด้วยตนเองแทบทุกเรื่องอย่างรอบด้าน

วันนี้เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า “สุขภาพดีอยู่ที่ปาก” ที่พูดกันมากว่า “กินอะไรก็ได้อันนั้น” (You are what you eat) แต่ก็ไม่ค่อยเชื่อกัน ยังเสพติดการกินแบบเลิกยาก แม้งานวิจัยต่างๆ จะชี้ให้เห็นว่า อาหารการกินมีผลต่อสุขภาพกว่าร้อยละ 80 โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ล้วนเกี่ยวกับปัญหาการเผาผลาญพลังงาน (metabolic syndrome)

ภาวะดังกล่าวทำให้เกิดความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันสูง ส่งผลให้มีปัญหาต่อหลอดเลือดและหัวใจ เกิดหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งมักเกิดกับคนที่มีไขมันในช่องท้องและรอบเอวสูง มีพุง เกิดอาการดื้ออินซูลิน เกิดเบาหวาน โดยเฉพาะโรคอ้วนที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก

เรื่องที่สอง คือ การเงิน การใช้จ่ายที่ต้อง “รัดเข็มขัด” มีการจัดการ การทำบัญชีอย่างใส่ใจและเคร่งครัดมากขึ้น เนื่องเพราะเกิดปัญหาเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากโควิด-19 และสงครามในยูเครนและปาเลสไตน์ ความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ การแข่งขันทางการค้า โลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนไปได้รับผลกระทบ

 รวมไปถึงภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทั้งอากาศร้อนจัดในหน้าร้อน ฝนตก น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร ห่วงโซ่อาหาร การขนส่งที่แพงขึ้น

เรื่องที่สาม คือ การเรียนภาษา โดยเฉพาะภาษาที่สอง ส่วนหนึ่งเพราะโลกที่ไร้พรมแดน และไม่ใช่โลกาภิวัตน์ทางการค้าแบบเดิม หากเป็นเรื่องการไปมาหาสู่ที่สะดวกสบายราคาไม่แพง การสื่อสารทางไอทีที่ไม่มีอะไรขวางกั้น และแทบจะไม่มีค่าใช้จ่าย

การเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ที่มีช่องทางและแพลตฟอร์มให้เลือกมากมาย ทำให้คนที่รู้หลายภาษาเข้าถึงได้ง่ายกว่า เร็วกว่า ซี่งมีผลต่อการตัดสินใจ การค้าขาย การท่องเที่ยว

ที่สำคัญ การรู้ภาษาอื่น เป็นการเปิดโลกทัศน์ชีวทัศน์ให้ออกจากโลกใบเดียวแคบๆ ของตนเองที่รู้ภาษาเดียว ทำให้เข้าใจคนอื่น วัฒนธรรมอื่นมากขึ้น เพราะภาษาคือ “รูปแบบของชีวิต” คือวิธีคิดของคน

การเรียนภาษาสามาถทำได้ทุกวัย ผู้สูงอายุก็สามารถเรียนได้ไม่แพ้คนหนุ่มคนสาว และช่วยให้สมองทำงานได้ดี ป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อม ความจำหาย อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน

ผู้สูงอายุเรียนภาษาเพื่อสุขภาพ เพื่อสังคม เพื่อการเดินทางท่องเที่ยว ก็จะเรียนอย่างมีเป้าหมายและมีความสุข ไม่ได้เรียนเพื่อไปสอบ

ปีใหม่นี้ควรมีแผนชีวิตใหม่ วางเป้าหมายไว้ให้ดี มีความตั้งใจทำอะไร อยากเสนอสิ่งที่ (เคย) เป็นหัวใจการเรียนใน “มหาวิทยาลัยชีวิต” อย่างน้อยในยุคเริ่มต้นที่นักศึกษาเรียนเรื่องการวางเป้าหมายและการวางแผนชีวิตไว้ 4 เรื่อง คือ แผนชีวิต แผนอาชีพ แผนการเงิน แผนสุขภาพ

แผนชีวิต คือ วางเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว พร้อมกับวิธีการทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น เช่น วางเป้าหมายว่าต้องเรียนให้ดี เรียนให้จบ  มีแผนเรียนภาษา มีแผนอ่านหนังสือให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 1 เล่ม  วางแผนจัดการชีวิตโดยลำดับความสำคัญก่อนหลัง อะไรสำคัญมาก่อนมาหลัง

แผนอาชีพ ทบทวนอาชีพที่ทำอยู่ จะบริหารจัดการให้ดีขึ้นอย่างไร วางแผนในรายละเอียดว่าจะ ต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ หรือต้องเปลี่ยนอาชีพใหม่ หรือทำอาชีพเสริม

แผนการเงิน ไม่เคยทำบัญชีรายรับรายจ่ายก็คงต้องทำปีนี้ จะได้รู้ว่า จะลดจะเพิ่มอะไร วางแผนการใช้เงินในสิ่งที่จำเป็น ตัดสิ่งฟุ่มเฟือยหรือจำเป็นน้อยออก วางแผนการใช้หนี้ การใช้จ่ายเพื่อสังคม เพื่อลูก เพื่อยามฉุกเฉิน จะได้ไม่อยู่แบบ “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” หรือไปกู้เงินนอกระบบ เป็นดินพอกหางหมู

แผนสุขภาพ เรื่องใหญ่ ถ้าเกิดเจ็บป่วยมา แม้มีบัตรทองก็ยังต้องมีค่าใช้จ่าย เสียเวลาทำมาหากิน เสียเวลาญาติพี่น้องมาดูแล จึงควรวางแผนเรื่องการกินการอยู่ การพักผ่อนนอนหลับ การออกกำลังกาย การคลายเครียด ซี่งเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของโรคภัยใข้เจ็บ

นักศึกษามหาวิทยาลัยชีวิตจำนวนมากได้สะท้อนว่า วิชาการวางเป้าหมายและวางแผนชีวิตช่วยให้แก้ปัญหาและพัฒนาตนได้  คนที่เคยมีรายได้วันละหลายพัน เดือนละหลายหมื่น แต่ไม่มีเงินเก็บ มีแต่หนี้ที่เพิ่มขึ้น เมื่อได้เรียนรู้วิชานี้ ชีวิตก็ดีขึ้น สุขภาพจิต สุขภาพกายก็ดีด้วย หนี้สินก็ลดลงและแก้ได้

แผน 4 แผน ใช้ได้กับคนทุกเพศวัย อายุน้อยก็วางแผนชีวิต แผนการเรียน แผนการใช้เงินออมเงิน แผนสุขภาพ ผู้สูงอายุ เกษียณแล้วก็มีแผนเพื่อให้อยู่ดีกินดี  มีความสุข คนมีหนี้สินก็ยิ่งต้องวางแผนให้ดี

ปราชญ์นิรนามบอกไว้ว่า “คนที่ล้มเหลวในชีวิตไม่ใช่เพราะไม่มีความรู้หรือไม่เก่ง แต่เพราะไม่มีเป้าหมายในชีวิต”

หลายสิบปีก่อน วิคตอร์ ฟรังเคิล คนเขียนหนังสือ “คนค้นหาความหมาย” (Man’s Search for Meaning) วิจัยที่สหรัฐอเมริกาบอกว่า สถิติการฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับสาม แต่ที่พยายามฆ่าตัวตายสูงกว่าถึง 3 เท่า สาเหตุสำคัญไม่ใช่ปัญหาเศรษฐกิจ แต่เพราะ “ไม่รู้อยู่ไปทำไม”