ทวี สุรฤทธิกุล

ปัญหาใหญ่หลายเรื่องเคยแก้กันได้ในประวัติศาสตร์ ด้วยการประจานและทำความจริงให้ปรากฏ อย่างเช่นการกอบกู้เอกราชของอินเดีย ที่มหาตมะคานธีประจานรัฐบาลอังกฤษให้ประชาคมโลกได้มองเห็น

มหาตมะคานธีเป็นวีรบุรุษชาวอินเดีย เขาเป็นผู้นำในการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ โดยใช้เวลากว่า 40 ปี เรื่องราวการต่อสู้ของเขาถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และออกฉายในปี 2525 ได้รับรางวัลออสการ์ถึง 8 รางวัล โดยเฉพาะรางวัลใหญ่ ๆ อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ดารานำฝ่ายชายยอดเยี่ยม และผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม ทั้งนี้ก็เพราะเป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวได้สมจริงและสะเทือนอารมณ์มาก ๆ แต่ที่คนทั่วโลกชื่นชมมาก ๆ ก็คือ ก็คือการต่อสู้ของคานธีได้พิสูจน์ให้เห็นว่า “อหิงสา” หรือการต่อสู้อย่างสันติ ไม่ใช้วิธีการที่รุนแรง ก็สามารถเอาชนะศัตรูที่ยิ่งใหญ่ได้ รวมถึงการสร้างสรรค์สิ่งที่ยิ่งใหญ่ อย่างเกียรติภูมิของชาติอินเดียให้ผงาดขึ้นมาในเวทีโลกอย่างรวดเร็วนั้นด้วย

ผู้เขียนดูภาพยนตร์เรื่องคานธีกับท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เพราะผู้เขียนทำงานเป็นเลขานุการของท่าน โดยมีหน้าที่อีกอย่างหนึ่งก็คือหาเช่าวิดีโอจากร้านเจ้าประจำมาดูกันที่บ้านสวนพลู ซึ่งอย่างที่ทราบกันในยุคนั้นว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นคนดัง ถ้าจะไปดูหนังตามโรงภาพยนตร์ คนที่จะไปชมภาพยนตร์ก็จะแห่มาดูท่านเสียมากกว่า โชคดีที่เทคโนโลยีสมัยนั้นที่มีการเช่าตลับเทปให้มาดูที่บ้านได้ (ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ยิ่งสบายเพราะมีเน็ตฟลิคและแอปสตรีมมิ่งต่าง ๆ มากมาย) รวมถึงเป็นโชคดีของผู้เขียนที่ได้ฟังคำวิจารณ์และความรู้ต่าง ๆ จากการชมภาพยนตร์ทุก ๆ เรื่องนั้นด้วย

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ถามผู้เขียนเมื่อตอนที่ชมภาพยนตร์เรื่อวนี้จบลงว่า “รู้ไหมว่าคานธีมีปมด้อยอะไร แต่เป็นปมด้อยที่ทำให้แกเอามาใช้ประโยชน์ในการต่อสู้กับอังกฤษได้เป็นอย่างดี” ผู้เขียนตอบด้วยความไม่รู้จริง ๆ ว่า “ไม่ทราบครับ” ท่านก็เฉลยว่า “แกอายในความเป็นแขก ตอนแรก ๆ แกพยายามจะเป็นฝรั่ง ไปเรียนอังกฤษก็ใช้ชีวิตและแต่งตัวอย่างฝรั่ง ไปทำงานที่อาฟริกาก็ยังเป็นฝรั่งจ๋า แต่พอฝรั่งไล่แกไปนั่งรถไฟชั้นสาม ก็ก็แค้นใจ พอกลับมาอินเดียแกก็เลิกเป็นฝรั่ง นุ่งผ้าเตี่ยวกับห่มผ้าขาวบางของแก ทั้งยังทอผ้านั้นใช้เองอีกด้วย และแกก็เอาความเป็นแขกนี่แหละสู้กับอังกฤษ และอังกฤษก็ต้องแพ้แก เพราะแกเรียกแขกออกมาได้ทั้งประเทศ ด้วยปมด้อยที่ถูกมองว่าเป็นแขกนี่แหละ”

“อ้อ อีกอย่างหนึ่ง แกเอาชนะฝรั่งด้วยการประจานฝรั่งนั้นด้วย”

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อธิบายว่า มหาตมะคานธีใช้วิธีการอดอาหารเพื่อประท้วงอังกฤษ ที่คนทั่วไปอาจจะคิดว่าเป็นแค่การเรียกร้องความสนใจ (หรือในสมัยนี้อาจจะเรียกว่าพวกหิวแสง สร้างข่าว หรือสร้างคอนเทนต์) แต่ความจริงแกมีอุบายลึกซึ้งกว่านั้น โดยเราอย่าลืมว่าแกเป็นแขกอินเดีย อินเดียเป็นดินแดนกำเนิดของ 2 ศาสนาใหญ่คือศาสนาพุทธกับศาสนาฮินดู แม้ว่าในสมัยของคานธีศาสนาพุทธจะไม่มีบทบาทในสังคมของอินเดียมากนัก แต่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น ศาสดาและสาวกของศาสนาฮินดูก็ “ปรับใช้” อยู่หลายเรื่อง เพราะฮินดูในยุคแรก ๆ ที่มีการช่วงชิงผู้ศรัทธา ก็ใช้แนวคิดและวิธีปฏิบัติในศาสนาพุทธมาสอน เพื่อผูกมัดจัดพุทธศาสนิกชนให้เปลี่ยนมานับถือศาสนาฮินดูนั้นให้สะดวกใจขึ้น อย่างเรื่อง “อหิงสา” ก็เป็นแนวคิดที่พระพุทธเจ้าท่านทรงใช้ในการแก้ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ในสมัยของท่าน ตั้งแต่การเอาชนะหมู่มารในตอนตรัสรู้ การเอาชนะช้างตกน้ำมัน การทรมานเอาชนะองคุลีมาล และการเอาชนะพญานาคราช เป็นต้น ที่ต่อมามีผู้มาผูกมัดเป็นคาถา ชื่อว่า “คาถาพาหุง” นั่นไง

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์พูดถึงคานธีต่อไปว่า คานธีนั้นเป็นผู้ที่เคร่งครัดในศาสนาฮินดู เมื่อต่อสู้กับอังกฤษนั้นก็เคยนั่งท่องคาถาต่าง ๆ อยู่เสมอ แน่นอนว่าแกก็ต้องรู้ถึงการต่อสู้ในแนวทางสงบที่เรียกว่า “อหิงสา” นั้นด้วย เพราะภาพที่เห็นในภาพยนตร์ก็คือแกจะต้องออกไปนั่งในที่โล่งแจ้ง(แต่ก็มีร่มเงาเพื่อหลบแดดหลบฝน)ให้คนทั้งหลายได้เห็น ยิ่งในเวลาที่กองทัพอังกฤษส่งทหารเป็นร้อยเป็นพันมาขู่ให้แกหยุดเลิกการอดอาหารประท้วง ก็ยิ่งดูเหมือนภาพพญามารพร้อมบริวารมารังควาญคนแก่ ๆ ผอม ๆ ตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งกระนั้น เมื่อภาพปรากฏออกไปทางสื่อ ที่สมัยนั้นยังเป็นแค่หนังสือพิมพ์ ก็ได้ “บิ๊กพิคเจอร์” หรือ “ข่าวใหญ่” เอาไปประจานให้ทั่วโลกได้รับรู้ คนอินเดียที่ยังหวาด ๆ ก็เลิกกลัวอังกฤษ และอยากช่วยคานธีก็ออกมาส่งเสียง กลายเป็นแรงบีบบังคับอังกฤษให้รัดแน่นเข้าเรื่อย ๆ ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เรียกว่า “เรียกแขก” นั่นแหละ นี่ถ้าเป็นด้วยความตั้งใจของคานธีก็ถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในการนำหลักศาสนามาประยุกต์ใช้แก้ปัญหา นับว่าเป็นผู้ที่มีสติปัญญามาก ๆ คนหนึ่ง

พอดีตอนนี้ประเทศไทยก็มีปัญหาใหญ่ ๆ พอ ๆ กับที่อินเดียได้เสียเอกราชให้อังกฤษไปแล้วนั้นเหมือนกัน นั่นก็คือปัญหาของ “นักโทษทิพย์ ทักษิณ ชินวัตร” ที่มีคนพยายามจะหาคำตอบว่าป่วยรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจจริงหรือไม่ ประมาณว่ามีทั้งผู้ร้องเรียนและผู้ขอตรวจสอบเรื่องนี้นับ 10 ราย ที่บางรายขอตรวจสอบไปถึงเจ้าหน้าของกรมราชทัณฑ์และโรงพยาบาลตำรวจนั้นด้วยว่า พยายามปกปิดหรือละเมิดกฎหมายอะไรหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ได้ก่อให้เกิดการหมดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ที่อาจจะถึงขั้นจะทำให้ระบบนิติรัฐของประเทศไทย “ ล้มเหลว” อันเทียบได้กับการสูญเสียเอกราชทางกระบวนการยุติธรรมนั่นเลยทีเดียว

วันนี้ก็เลยนึกถึงคนใจเด็ด ๆ อย่าง ร.ต.ฉลาด วรฉัตร ซึ่งท่านได้เสียชีวิตไปเมื่อ 2 ปีก่อน ถ้าใคร ๆ จำได้ท่านได้ฉายาว่า “จอมอดอาหารประท้วง” ตั้งแต่ที่ประท้วงรัฐประหาร 2534 กับ 2549 และล่าสุด 2557 โดยเฉพาะในปี 2534 ที่เป็นเชื้อไฟหนึ่งของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 ที่สร้างชื่อเสียงไว้มาก ก็เลยอยากได้คนแบบนี้มา “ประท้วง - ประจาน” ความหน้าด้านของผู้ร่วมในกระบวนการ “อำพรางนักโทษ” ในทุกวันนี้ด้วย น่าจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะสร้าง “แรงบีบทางสังคม” หรือ “เรียกแขกมาลงแขก” ไล่ล้างความระยำตำบอนในกระบวนการยุติธรรมนี้ได้บ้าง

ตอนนี้คนชื่อทวีรวมถึงผู้เขียนนี้เดือดร้อนมาก ๆ พอดีหน้าบางไม่หนาเหมือนบางทวี จึงขอร้องเรียนมาด้วยอีกคนครับ ว่าเดือดร้อนจริง ๆ ครับ