เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phogphit

สังคมไทยปีนี้มีคนอายุเกิน 60 มากกว่า 13 ล้านคน และจะมากขึ้นเรื่อยๆ เกินร้อยละ 20 ของประชากร สวัสดิการโดยรัฐมีน้อย เงินเพียง 600-1,000 บาท คงช่วยอะไรได้ไม่มาก ค่าน้ำค่าไฟ ค่าอาหาร ค่ายา ไปหาหมอ หลายคนคงรอเงินเดือนละ 3,000 รอเงินดิจิทัล 10,000 ก็ไม่รู้จะรอเก้อหรือไม่ โชคดีที่ยังมี "บัตรทอง"

แต่ประเด็นคงไม่ใช่เพียงเรื่องเงิน เป็นเรื่อง "คุณภาพชีวิต" โดยรวม ซึ่งไม่ทราบว่าหน่วยงานของรัฐมีข้อมูลมากน้อยเพียงใด ผู้สูงวัยที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่มีลูกหลาน หรือมีก็ไม่ดูแล อยู่ได้ด้วยความเมตตาของเพื่อนบ้านในชุมชน ส่วนอบต. เทศบาล หน่วยงานต่างๆ ก็มักวิ่งไปดูแลเมื่อเรื่องราวออกสื่อ

เป็นเรื่องดีที่อบต. เทศบาล มีโครงการดูแลผู้สูงวัย จัดให้รวมกลุ่มทำกิจกรรม แต่ก็มักจะเป็นสูตรสำเร็จที่เหมือนกันทุกที่ มิได้มีความหลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุในท้องถิ่นนั้นๆ

ชื่นชมความคิดริเริ่มของ ดร.สุกรี เจริญสุขในการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุรวมกลุ่มกันร้องเพลงประสานเสียง เรียกวงว่า "ปล่อยแก่" ที่ตั้งแล้วหลายจังหวัด และคงมีเป้าหมายให้มีทุกจังหวัด

ทุกวันนี้คนไทยร้องเพลงเก่งกันมาก มี "คาราโอเกะ" ทำให้ทุกเพศทุกวัยหยิบไมค์ร้องกันสนุกสนาน จนงานเลี้ยงงานแต่งนักร้องมักได้ร้องเพลงเดียว แล้ว (ถูกไล่ลง) ไปนั่งฟังคนมาร่วมงานแย่งกันร้องแบบไม่ไล่ไม่เลิก

การร้องเพลงไม่ใช่เรื่องยาก หากได้ฝึกฝนอย่างถูกวิธี ยิ่งเมื่อได้ร้องเพลงหมู่ ประสานเสียงอย่างไพเราะ ก็มีความสุข ได้เพื่อน ได้ออกงานแสดง ได้เดินทางไปที่ต่างๆ เกิดความภูมิใจในตัวเอง

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดอย่างหนึ่งของผู้สูงวัย คือ ความเหงา จนอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้า กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ภูมิต้านทานลด โรคร้ายรุมเร้า จนไม่อยากมีชีวิตอยู่

ดนตรีเป็นยาวิเศษชนิดหนึ่ง ถึงมี "ดนตรีบำบัด" ช่วยบรรเทาจนถึงรักษาอาการเจ็บป่วยได้ เพราะเหตุผลเข้าถึง "สมอง" แต่ดนตรีเข้าถึง "หัวใจ" ระบายอารมณ์ ปลดปล่อยความทุกข์ ความเครียด  มีดนตรีเพื่อทำสมาธิ (meditation) เพื่อการผ่อนคลาย พักผ่อนนอนหลับ เพื่อการพัฒนาสมองของเด็กและผู้ใหญ่

วันนี้มีรายการประกวดร้องเพลงทางทีวีมากมายให้ได้ชมได้ฟังเกือบทุกวัน เป็นรายการที่มีผู้ติดตามกันมาก มีแฟนคลับนักร้อง ส่วนใหญ่ไม่ได้ติดตามฟังอย่างเดียว แต่ร้องได้ทุกเพลงที่นักร้องคนโปรดร้อง เมื่อเชียร์มากอย่างหลงใหล คนโปรดไม่ชนะก็โกรธกรรมการ เลิกดูรายการประกวดนั้นเลยก็มี

นอกจากร้องเพลง ยังเรื่องการเล่นดนตรี ที่เรียนไม่ยากถ้าอยากเล่นให้สนุก ถ้ามีครูมีคนแนะนำดีๆ ใครๆ ก็เล่นได้ ไม่ว่าเด็กผู้ใหญ่ ครูดนตรีบางคนมีลูกศิษย์อายุ 70 กว่ามาเรียนดนตรี เล่นอย่างมีความสุข

ถ้าไม่อยากลงทุนมากก็ซื้อเครื่องดนตรีไทยราคาไม่แพงอย่างขลุ่ย ขิม ซอ มาเล่น ยิ่งถ้าได้เล่นเป็นวงก็จะสนุก เพลงไทยเดิมก็ได้ เพลงสมัยใหม่ก็ดี ถ้ามีตังค์และชอบก็เล่นเครื่องดนตรีสากล ดีด สี ตี เป่า ได้ทั้งนั้น หรือเล่นเครื่องดนตรี "พื้นบ้าน" ในท้องถิ่นอย่างแคน โปงลาง พิณ หรือเครื่องดนตรีชนเผ่าต่างๆ

การร้องเพลงและการเล่นดนตรียกระดับอารมณ์และจิตวิญญาณของคนร้องคนเล่นขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ระดับหนึ่งที่บางครั้งเหมือนคนอยู่ในภวังค์ ร้องเพลงแบบมี "อินเนอร์" อารมณ์เพลงดี คนร้องกับเพลงกับเครื่องดนตรีที่เล่นกลายเป็น "หนึ่งเดียว" หรือร้องเพลงแบบเล่าเรื่องให้คนฟังเข้าใจ ซาบซึ้งและเป็นสุข

ในรายการ "ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร" ของไทยพีบีเอส แสดงให้เห็นชีวิตของอาจารย์ไพศาล มีสุนทร ชาวนครศรีธรรมราชที่ลาออกจากการเป็นอาจารย์มาดูแลสุขภาพตัวเอง และสอน "ชาวบ้าน" แม่ค้าในตลาดให้วาดภาพ เพื่อช่วยให้ผ่อนคลาย หายเครียด

อาจารย์ไพศาลยืนยันว่า ทุกคนวาดได้วาดเป็น เขาสอนคนในคุก และทุกแห่งที่เชิญเขาไปสอน เขาบอกให้ผู้เรียนเอาสิ่งที่อยู่ข้างในตัวเองออกมา ปล่อยวาง วาดอะไรก็ได้ เป็นการทำสมาธิ สบายกายสบายใจ

เขาเชื่อว่า มะเร็งที่เขากำลังเผชิญมาจากความเครียดด้วย จึงได้ลาออกจากงานและมาดูแลสุขภาพตัวเอง การเป็นจิตอาสาสอนวาดภาพให้คนทั่วไปเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสุขภาพของตนเอง เขาทำด้วยใจปล่อยวาง และมีความสุขที่ได้ช่วยให้คนมีสมาธิ คลายเครียดได้

บ้านเรามีสถาบันอุดมศึกษาจำนวนมากที่มีคณะหรือภาควิชาเกี่ยวกับศิลปะและดนตรี ปีหนึ่งๆ มีผู้จบการศึกษาจำนวนมาก หากอบต. เทศบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุจ้างพนักงานช่วยงานผู้สูงอายุโดยกำหนดคุณสมบัติว่ามีความสามารถด้านศิลปะหรือดนตรี ก็จะเป็นการส่งเสริมกิจกรรมผู้สูงวัยได้ดี

หรือไม่ก็จ้างเป็นงานพิเศษในวันหยุดเพื่อมาสอนศิลปะและดนตรีให้ผู้สูงอายุ  พวกเขาอาจมีความคิดริเริ่ม กิจกรรมใหม่ๆ ทำให้คนแก่ร่วมกันเรียนรู้และปฏิบัติอย่างมีความสุข

ศิลปะดนตรีอาจเป็นสื่อเชื่อมสัมพันธ์เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่กับปู่ย่าตายาย ผู้สูงวัยในชุมชน ถ้าการเรียนรู้อยู่ในกระบวนการ "คืนสู่รากเหง้า" ดังที่ "เจริญ ดีนุ" ชาวปะกาเกอะญอที่เชียงใหม่ไปถอดรหัสเพลงร้องของชนเผ่าบรรพชนของตน แล้วนำมาสอนเด็กๆ เพื่อให้เกิดสำนึกในรากเหง้าเผ่าพันธุ์ จัดให้มีการเล่นเตหน่า เครื่องสายชนเผ่า ร้องรำตามทำนองที่คนเฒ่าคนแก่ในชุมชนสอน

หลายสิบปีก่อน เมื่อชาวบน หรือ "ญัฮกุร" ที่บ้านน้ำลาด อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ได้เรียนรู้จนเกิดสำนึกในรากเหง้าของตน ภูมิใจในเผ่าพันธุ์บรรพบุรุษ คุณยายหลายคนจึงไปสอนเด็กนักเรียนให้รำตามแบบของชนเผ่า คุณตาสอนร้องเพลง และเป่าใบไม้เป็นเสียงดนตรี ชุมชนมีความสุขที่ได้ฟื้นฟูวัฒนธรรมของตนเอง

ในหนังสือ "เทวาสายัณห์" นิทเช่ นักปรัชญาที่มีคนคิดว่าเป็น "คนบ้า" บอกว่า "คนมองคนเต้นรำว่าบ้า เพราะพวกเขาไม่ได้ยินเสียงดนตรี" และ "หากขาดดนตรี ชีวิตน่าจะเป็นความผิดพลาด" หรือ "บ้า" จริงๆ

ปิกัสโซ ศิลปินแห่งศตวรรษที่ 20 ที่วาดภาพได้ตั้งแต่อายุไม่กี่ขวบบอกว่า "เด็กทุกคนล้วนเป็นอัจฉริยะ ประเด็นอยู่ที่ว่า จะคงความเป็นอัจฉริยะจนเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างไร" เขาบอกว่า ทำได้ถ้ามีการเรียนรู้และฝึกฝน

มาส่งเสริมศิลปะเพื่อชีวิตที่รื่นรมย์และมีคุณภาพของผู้สูงวัยกันเถิดครับ