ทวี สุรฤทธิกุล

อาจารย์นิเทศศาสตร์เคยสอนว่า “สังคมบริโภคสื่ออย่างไร สังคมก็เป็นอย่างนั้น”

เมื่อ 60 ปีก่อน ที่ผู้เขียนเริ่มจำความได้ ทุกเช้าแม่จะเปิดวิทยุฟังข่าวและเตรียมอาหารเช้าให้กับทุกคนในบ้าน คนอ่านข่าวที่ดังมาก ๆ ในตอนนั้นไม่มีใครเกิน “นายหนหวย” ด้วยลีลาการอ่านข่าวที่สนุกสนานมีชีวิตชีวา แม้ว่าข่าวส่วนใหญ่จะเป็นข่าวอาชญากรรม โดยเฉพาะการฆ่ากันหรือฆาตกรรม แต่ชื่อผู้เกี่ยวข้องในข่าวมักจะใช้ชื่อสมมุติ ทั้งฝ่ายผู้กระทำและผู้เสียหาย และไม่มีการใส่สีใส่ไข่หรือใส่ความคิดเห็นของผู้อ่านข่าวอะไรแต่อย่างใด เป็นการอ่านตามเนื้อข่าวหนังสือพิมพ์ ที่มีการลำดับเนื้อหาข่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “เกิดอะไร ใคร ที่ไหน อย่างไร” โชคดีที่ยังได้ยินแต่เสียง จึงยังไม่สร้างอารมณ์หรือดราม่าอะไรให้เกิดขึ้นได้มากในยุคนั้น

พอโตมาเป็นวัยรุ่น ทีวีเริ่มมีบทบาทในทุก ๆ บ้าน ข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ ก็ถูกนำมาเผยแพร่ แต่ก็ยังเป็นภาพจากหนังสือพิมพ์ ต่อมาทีวีช่องต่าง ๆ ก็มีผู้สื่อข่าวของตนเอง จนกระทั่งบางช่องตั้งเป็นสำนักข่าวและขายข่าว รวมถึงเอกชนที่ตั้งบริษัทมาทำข่าวขาย ข่าวต่าง ๆ จึงมีการแข่งขันกันเข้มข้น ถึงบางทีก็มีการสร้างฉากหรือเรื่องราวต่าง ๆ ขึ้นมา อย่างที่เรียกว่า “สร้างข่าว” หรือภาษานักข่าวด้วยกันเรียกว่า “เต้าข่าว” จนถึงยุคที่มีทอล์คโชว์หรือสัมภาษณ์บุคคลที่เป็นข่าว ก็จะมีการจับเอาคู่กรณีมา “วิวาทะ” โต้ตอบกัน บางทีก็ตั้งคำถามให้ผู้ตอบแบบที่เรียกว่า “ตั้งธง” จนถึงขั้นมีการทะเลาะกัน จึงมีคนเรียกการกระทำแบบนี้ว่า “เสี้ยมข่าว”

มาถึงสมัยปัจจุบันในยุคดิจิทัล โซเชียลมีเดียมีบทบาทมากกว่าสื่อทีวี วิทยุ และหนังสือพิมพ์ การแข่งขันของสื่อก็ยิ่งมีความรุนแรงและเข้มข้นมากมายมหาศาล คนผลิตสื่อจึงไม่ได้มีแต่พวกสื่อหลัก คือทีวี วิทยุ และหนังสือพิมพ์ เหมือนในยุคก่อน (และหลายสื่อยุคเก่าเหล่านั้นก็ล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมากแล้ว) เพราะได้เกิดมี “สื่ออิสระ” หรือ “สื่อเฉพาะคน - เฉพาะกลุ่ม” เกิดขึ้นอย่างมโหฬาร ด้วยเหตุนี้เราจึงพบว่ามี “เฟคนิวส์ - ข่าวทิพย์” เป็นจำนวนมาก อันแสดงถึงความเสื่อมโทรมแห่งยุคสมัย ทั้ง ๆ ที่เทคโนโลยีกำลังเจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งไปอย่างรวดเร็ว

ผู้เขียนเคยมี “ไอดอล” เรื่องการอ่านข่าวนี้อยู่คนหนึ่ง ด้วยในยุคหลังปี 2540 ที่มีการแข่งขันกันทำข่าวกันมาก ๆ โดยเฉพาะข่าวการเมือง ผู้อ่านข่าวคนนี้สามารถนำข่าวการเมืองมาวิเคราะห์ในเชิงลึกได้ดีมาก ๆ โดยเฉพาะการสัมภาษณ์นักการเมืองคู่กรณี โดยที่ไม่รู้สึกเลยว่านั่นคือ “การเสี้ยม” เพื่อสร้างสีสันในการเสนอข่าว ต่อมาเขาก็มาตั้งบริษัทรับทำข่าวและหาโฆษณา (จนเกิดเรื่องของการขายโฆษณาเกิน และต้องรับโทษอยู่ช่วงหนึ่ง) ข่าวของเขามีสีสันและรายละเอียดได้อารมณ์ดีมาก ซึ่งผู้เขียนก็ยังไม่สะกิดว่า กำลังอยู่ในสถานการณ์ของการ “เต้าข่าว” หรือสร้างข่าวให้มีสีสันและอารมณ์ต่าง ๆ เหล่านั้น โดยเฉพาะข่าวอาชญากรรม ก็จะเน้นภาพของความหฤโหดทารุณ ภายใต้การเบลอภาพ แต่ด้วยเทคนิคการถ่ายทำและการนำเสนอ ก็จะแช่ภาพให้ผู้ชมเห็นรายละเอียดของความสูญเสียเป็นเวลานาน ๆ ถ้ามีเสียงคร่ำครวญหรือสะอื้นไห้ก็จะปล่อยให้ได้ยินเป็นเวลานาน ซึ่งต่อมาก็ใช้เทคนิคนี้กับข่าวสังคม ที่ถ่ายทอดให้เห็นความเสียหายของผู้คน อารมณ์เศร้า และความสะเทือนใจต่าง ๆ จนดูเหมือนจะเป็น “แบรนด์” ของผู้อ่านข่าวคนนี้ไปในที่สุด

ต่อมาในปลายปี 2554 ที่มีน้ำเหนือไหลบ่ามาท่วมกรุงเทพฯ ครั้งรุนแรงที่สุดในรอบพันปี ผู้อ่านข่าวคนนี้พร้อมด้วย “เซเลบ” ที่เอามาประกอบการสร้างอารมณ์ข่าว ก็นำเสนอข่าวด้วยความดุดันผสานความเศร้าสะเทือน ที่ผู้เขียนจำได้แม่นยำที่สุดก็คือข่าวการไหลของน้ำจากสนามบินดอนเมืองมาตามถนนวิภาวดี พอดีบ้านผู้เขียนอยู่ในซอยบนถนนวิภาวดี ก็ติดตามข่าวนี้ด้วยใจระทึก ตอนนั้นเป็นปลายเดือนตุลาคม น่าจะเป็นวันที่ 26 หรือ 27 ที่ผู้อ่านข่าวคนนี้บอกว่า “มาแล้ว ๆ มันมาแล้วครับ มันกระแทกเข้ามา ไหลลงมา ...” ด้วยลีลาถมึงทึง น้ำเสียงกระโชกโฮกฮาก จนผู้เขียนและคนในบ้าน (และคนอื่น ๆ ที่ดูข่าวนี้อยู่ในบ้านอื่น ๆ) ก็คงจะตื่นตระหนกและขวัญเสียมาก ๆ แต่วันนั้นก็ไม่ได้ไหลมาท่วมอะไร รวมถึงอีก 2-3 เช้าต่อ ๆ มา ในขณะที่ผู้อ่านข่าวคนนี้ก็ยังนำเสนอข่าวตามแบบเดิม เหมือนว่ามวลน้ำมหาศาลกำลังจะมาท่วมทุกหลังคาเรือนบนถนนวิภาวดีและตามซอยต่าง ๆ นั้น แต่เอาเข้าจริง ๆ น้ำนั้นค่อย ๆ เอ่อลงมาช้า ๆ จนในที่ 2 พฤศจิกายนจึงได้ท่วมเข้ามาถึงบ้านผู้เขียนที่อยู่ลึกเข้ามาในซอยวิภาวดี 64 ระหว่างนั้นผู้เขียนก็ยังติดตามการอ่านข่าวของผู้อ่านข่าวคนนี้ ที่ตอนนี้ดูจะหันไปสร้างดราม่าที่อื่น คือไปเดินลุยน้ำในเวลากลางคืนในหมู่บ้านจัดสรรต่าง ๆ แถวปทุมธานี ซึ่งผู้รู้ในการใช้กล้องบอกว่า ถ้าถ่ายทำกลางคืนจะไม่ต้องห่วงภาพมุมกว้าง เพราะจะถ่ายให้ได้เห็นเฉพาะจุดที่ต้องการเน้นให้เห็นระดับน้ำ เช่น จะเอาให้เห็นว่าท่วมสูงเท่าเข่าหรือเท่าเอวก็ได้ ในบริเวณที่น้ำท่วมแห่งเดียวกัน

ปัจจุบันผู้อ่านข่าวคนนี้ก็ยังได้รับความนิยมมากอยู่ รวมถึงยังเติบโตรุ่งเรืองไปในแนวทางสื่อนี้ด้วยดี เพราะนอกจากจะมีรายได้จากการอ่านข่าวและทำข่าวให้โทรทัศน์ช่องหนึ่งแล้ว เป็นเลข 6-7 หลักต่อเดือนแล้ว ยังมีช่องสื่อของตนเองแตกขยายออกไปอีกหลายแพลตฟอร์ม ทั้งนี้ก็ยังเป็นไปด้วยลีลาการอ่านข่าวและนำเสนอข่าวแบบเดิม ๆ จนทำให้เกิดความสงสัยว่า สังคมไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลยหรือ อย่างที่ผู้เขียนเคยได้ยินอาจารย์นิเทศศาสตร์ท่านหนึ่งพูดไว้ข้างต้น

คนไทยทุกวันนี้กับคนไทยเมื่อ 60 ปี ยังชื่นชอบข่าวสารที่ดู “เกินจริง” เช่น ถ้าสนุกสนานก็ต้องเฮฮาให้สุด ๆ ถ้าโหดเหี้ยมรุนแรงก็ต้องหายนะชโลมเลือดให้มาก ๆ หรือถ้าเศร้าโศกสะเทือนใจก็ต้องร่ำไห้เกลือกกลิ้งกันออกมาถึงนอกจอนั่นเลย ทำให้นึกถึงการแสดงอย่างหนึ่งของไทย คือ ลิเก ที่ทุกวันนี้อาจจะเสื่อมความนิยมไปจากสื่อต่าง ๆ แต่ “ดีเอ็นเอทางสังคม” หรือที่ทางสังคมวิทยาเรียกว่า “จารีตประเพณี” แบบ “ลิเก ๆ” นี้ยังคงฝังแน่น คือ “จอมปลอม เกินจริง และเพ้อฝัน” ไม่ว่าจะในการนำเสนอข่าวสารเรื่องใด ๆ หรือการแสดงบทบาทใด ๆ ในทางสังคมก็ตาม

เราจะต้องอยู่ในโลกของการ “สร้าง เสี้ยม และเสื่อม” นี้ไปอีกนานเพียงใดหนอ?