เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phogphit

เดือนที่แล้วที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่หนองบัวลำพู มี “ชาวสกล” ท่านหนึ่งขอให้ผมเสนอโครงการให้ครม. เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสกลนคร ซึ่งก็ไม่ได้อยากทำ เพราะไม่รู้เขาจะฟังไหม แต่ที่สุดก็ทำ

ไม่ได้ติดตามว่า เขาเสนอไปหรือไม่ และรัฐบาล “ซื้อ” ความคิดนี้ไหม จำได้ว่า ในสมัยรัฐบาล “ทักษิณ 1” นั้น นายกฯ รับแนวคิดใหม่ๆ เร็วมาก เสนอ “ร่างพรบ.วิสาหกิจชุมชน” ที่มูลนิธิหมู่บ้านร่วมกับผู้นำชุมชนเสนอ ก็รับแบบไม่ต้องอภิปรายในการประชุมครม.สัญจรที่เชียงใหม่เมื่อปี 2544

ยัง “30 บาทรักษาทุกโรค” ที่คุณหมอสงวน นิตยรัมภ์พงศ์และคณะเคยเสนอต่อพรรคการเมืองหนึ่งแต่ไม่รับ “ไทยรักไทย” รับเป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้งในปี 2544 และนำสู่การปฏิบัติเมื่อเป็นรัฐบาลจนถึงวันนี้

วันนี้คิดอยู่หลายตลบว่าจะเขียนถึง “ซอฟต์พาวเวอร์” อีกหรือไม่ เพราะมีการนำไปใช้อย่างฟุ่มเฟือยจน “เละเทะ” ไม่รู้แปลว่าอะไรจริงๆ  แม้แต่แข่งกินปาท่องโก๋ก็เป็นซอฟพาวเวอร์ ทั้งๆ ที่เลวต่อสุขภาพ

คำ “ซอฟต์พาวเวอร์” เป็น “วาทกรรม” (discourse) คำนี้ก็อีกเช่นกัน ใช้กันฟุ่มเฟือย วาทกรรมแปลว่า “คำ วลี ประโยค ที่พูดถึงแบบถกเถียงเพื่อหาความหมาย” ไม่ใช่นำมาใช้แทนคำ “แสดงโวหาร” จนถึง “ตีฝีปาก” หรือ “วาทศิลป์” ซึ่งคนละเรื่องกับ “วาทกรรม”

ได้เสนอ “สกลนครโมเดล: ซอฟต์พาวเวอร์คลัสเตอร์” ไม่รู้ว่ารัฐบาลเพื่อไทยจำได้ไหมว่า “ไทยรักไทย” เคยใช้คำว่า “คลัสเตอร์” มาแล้ว ซึ่งหมายถึง “กลุ่มกิจกรรม หรือองค์กรที่สัมพันธ์กันแบบเสริมกันให้สมบูรณ์”

อย่างคลัสตอร์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ประกอบด้วย SMEs มากมายที่ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ แล้วโรงงานรถยนต์นำมาใช้เพื่อประกอบเป็นรถที่วิ่งได้

หรือคลัสเตอร์ผ้าที่ปราโต ใกล้ๆ ฟลอเรนซ์ อิตาลี ที่มี SMEs นับพันแห่ง ที่ทำชิ้นส่วนต่างๆ ของเสื้อผ้า นำไปส่งโรงงานที่ประกอบเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นต่างๆ (เมืองนี้มีคนจีนหลายพันคนไปทำงานและเรียนรู้)  ที่ลำปางก็มีคลัสเตอร์เครื่องลายคราม ที่มีคนศึกษาลักษณะเด่นของคลัสเตอร์ SMEs ไทยเปรียบเทียบกับของอิตาลี

รัฐบาลไทยรักไทยขณะนั้นใช้ “จังหวัดคลัสเตอร์” หรือ “กลุ่มจังหวัด” ที่เสริมกันในการทำโครงการต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์หรือจุดแข็งของภูมิภาคนั้น

 สกลนครมี “ของดี” มากมาย ที่อาจส่งเสริมให้พัฒนาขยายได้หลายกิจกรรมเป็นคลัสเตอร์ มีหวาย มีน้ำหมากเม่า มีผ้าย้อมคราม มีข้าวฮาง ข้าวกล้องหลายสิบสายพันธุ์ มีเนื้อวัวโพนยางคำ มีวัวดำ หมูดำ ไก่ดำ กระต่ายดำ ที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาภูพานส่งเสริม ยัง “มวยโบราณ” ที่สืบสานกันอย่างต่อเนื่องที่สกลนคร

เหล่านี้ล้วนเป็น “พลังนุ่ม” หรือ “เสน่ห์ที่มีพลัง” ของสกลนคร และมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ สกลนครมีต้นทุนภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดกันมาหลายร้อยปี มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ถ้าสืบทอดให้ดีจะไม่มีแต่ “มูลค่า” แต่จะได้ “คุณค่า” มหาศาล ทำให้ผู้คนอยู่ดีกินดี อยู่เย็นเป็นสุข

เพื่อให้ “เข้าถึง” คุณค่าที่แท้จริงของภูมิปัญญา ต้องมีการ “ถอดรหัส” ไม่เช่นนั้นจะมองอย่างผิวเผิน ดูถูกว่าเก่าแก่โบราณไม่ทันสมัย แล้วเลือกเอาแต่สิ่งที่ชอบ “เด็ดยอด” เอามาทำธุรกิจ ไม่ได้สืบสานสิ่งที่เป็น “จิตวิญญาณ” อันเป็นพลังเสน่ห์ที่แท้จริง

สกลนครมีอัตลักษณ์ที่สะท้อนออกมาในองคาพยพของปัจจัย 4 ที่ภาษายุคใหม่ในภาคธุรกิจเรียกว่า “คลัสเตอร์” ไม่ว่าอาหาร ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า ยารักษาโรค

ถ้าจัดให้มีการวิจัยก็จะพบหลายอย่างที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดและเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆ เช่น อาหาร มีหวาย ที่ปลูกกันมากที่ภูพาน วางขายข้างถนนเต็มไปหมด นำมาทำอาหารพื้นบ้านหลากหลาย มีเนื้อโคขุนโพนยางคำ ที่มีชื่อเสียงมานาน คุณภาพระดับสากล มี “สี่ดำแห่งภูพาน” มีข้าวหลายสิบสายพันธุ์ทำเป็นข้าวฮาง ข้าวกล้อง แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่บ้านโคกสะอาดและใกล้เคียง อำเภอกุสุมาลย์

มีน้ำหมากเม่า ที่กลายเป็นเครื่องดื่มสุขภาพที่ดีที่สุดชนิดหนึ่ง ยังสามารถขยายไปนำเอาหมากแงว หมากไฟ หมากค้อ และผลไม้ป่ามาทำเหมือนที่คนอินแปงเคยทำ แต่ไม่ติดตลาดเหมือนน้ำหมากเม่า

มีผ้าย้อมครามที่มีชื่อเสียง ทำกันทั่วไปหลายอำเภอ จนสามารถส่งออกได้ ถูกนำไปใช้ในภาพยนตร์มหากาพย์สงครามกรุงทรอย และแปรเป็นเสื้อผ้าอาภรณ์แฟชั่น ที่ “คุณจิ๋ว” นำไปแสดงและขายทั่วโลก

ผ้าครามตามวิถีชุมชนมีคุณสมบัติพิเศษ ใส่หน้าร้อนก็เย็น หน้าหนาวก็อุ่น ใส่ไปทำงานในไร่ในนา กลับมาผิวยังขาวสวยเหมือนเดิม เพราะป้องกันแสงยูวีได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นผ้าแบบนาโน กินแบคทีเรีย ใส่แล้วสะบัดสองทีไม่ต้องซัก ใส่ได้อีกหลายวัน

สกลนคร คือ เป็นเมืองพระ มีพระเกจิอาจารย์สายวิปัสสนาสำคัญๆ อย่างหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่ฝั้น อาจาโร และอีกหลายท่าน ที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน มีวัด มีสถานที่ทำสมาธิวิปัสสนากรรมฐานหลายแห่ง

การเข้าวัด การทำสมาธิ เพื่อพบความสงบทางจิตใจ เป็นเรื่องใหญ่ในสังคมวันนี้ที่เต็มไปด้วยปัญหา ความเครียด ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ความขัดแย้งจนถึงอาชญากรรม

พัฒนาสกลนครให้เป็นเมืองน่าอยู่ ให้อยู่เย็นเป็นสุข จึงควรมองให้รอบด้าน มองอย่างเชื่อมโยง ไม่มุ่งแต่จะขายของ แต่มองเห็นมิติทางจิตวิญญาณที่ต้องการความสงบ ร่มเย็น คือความสุขที่ทุกคนแสวงหา

ความจริง ถ้ามีการทำ “แผนแม่บทสกลนคร” โดยชุมชนทั้งจังหวัด ก็ไม่เห็นต้องรอรัฐบาลเลย เพราะของดีที่มีอยู่ก็มาจากความริเริ่มและมรดกของบรรพชนคนสกลนครทั้งนั้น ทุกคนควรร่วมมือกันพัฒนาจังหวัดของเราให้เป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ทำให้ “คนอยู่ก็เย็นและเป็นสุข คนไปก็ได้ท่องเที่ยวและประทับใจ”