รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เคยจัดทำดัชนี “การเมืองไทย” ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2554 หรือเมื่อ 13 ปีมาแล้ว แต่การจัดทำดัชนีการเมืองไทยได้ยุติลงชั่วคราวเมื่อปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์การเมืองไทยไม่ได้อยู่ในโหมดประชาธิปไตยเต็มใบ แต่เมื่อบ้านเมืองกลับมาสู่การมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ด้วยการจัดตั้งรัฐบาล “เศรษฐา 1” ที่ก่อตัวขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน ได้รับการโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย และมีการแถลงนโยบายครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 นับรวมแล้วเป็นเวลา 4 เดือนเต็มหลังวันแถลงนโยบายครั้งแรก

ดังนั้น ในปี 2567 นี้ ดัชนีการเมืองไทยของสวนดุสิตโพลจะกลับมาเริ่มสำรวจใหม่เป็นประจำอีกครั้ง โดยจะสำรวจเป็นครั้งแรกในเดือนมกราคมนี้ ...

การสำรวจดัชนีการเมืองไทย เป็นการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ เน้นตัวชี้วัด 25 ประเด็นที่บ่งบอกถึงความเชื่อมั่นต่อการเมืองไทยในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ผลงานของรัฐบาล ผลงานของฝ่ายค้าน พฤติกรรมนักการเมือง สภาพเศรษฐกิจ สภาพสังคม ค่าครองชีพ สิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมไปถึงการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของรัฐบาล เช่น ปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน ความโปร่งใส ปัญหาการว่างงาน ปัญหาความยากจน ปัญหายาเสพติดและผู้มีอิทธิพล เป็นต้น ซึ่งแต่ละตัวชี้วัดจะมีคะแนน เต็ม 10 คะแนน เมื่อได้ผลสำรวจแล้วจะสรุปเป็นคะแนนดัชนีการเมืองประจำเดือนนั้น ๆ ทั้งนี้ระยะเวลาการสำรวจจะอยู่ระหว่างวันที่ 25-30 ของทุกเดือน เพื่อเปรียบเทียบผลเดือนต่อเดือน และทุก ๆ ไตรมาส

เมื่อการสำรวจดัชนีการเมืองไทย เสร็จสิ้นในแต่ละเดือนแล้ว จะเผยแพร่ผลการสำรวจให้กับสื่อมวลชนต่าง ๆ และนำเสนอ
ผลการสำรวจผ่านรายการ “Poll Talk Live  ดัชนีการเมืองไทย” โดยเป็นการ Live สดบนช่องทาง Youtube ของสวนดุสิตโพล ร่วมกับนักวิชาการจากโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

เพื่อให้คอการเมือง นักการเมือง และนักรัฐศาสตร์ ตลอดจนประชาชนและผู้สนใจทุกสาขาอาชีพ ไม่พลาดการ Live สด รายการ “Poll Talk Live  ดัชนีการเมืองไทย” ตลอดปี 2567 ในช่วงเวลา 10 โมงเช้า ทุกท่านสามารถติดตามการไลฟ์สดตามวันและเดือนต่อไปนี้

พุธ 31 ม.ค. / พฤหัส 29 ก.พ. / ศุกร์ 29 มี.ค. / อังคาร 30 เม.ย. / ศุกร์ 31 พ.ค. / ศุกร์ 28 มิ.ย. / พุธ 31 ก.ค.
ศุกร์ 30 ส.ค. / จันทร์ 30 ก.ย. / พฤหัส 31 ต.ค. / ศุกร์ 29 พ.ย. และ จันทร์ 30 ธ.ค.

รายการ “Poll Talk Live  ดัชนีการเมืองไทย” เป็นการเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการเมืองไทย และนักวิชาการได้มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ผล ได้นำเสนอแนวคิดและมุมมอง เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเมืองในมิติต่าง ๆ รวมถึงเป็นการเปิดโอกาสในการสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ร่วมกันของบุคลากรและนักศึกษามหาวิทยาลัยสวนดุสิต

แม้ว่าในทุกวันนี้การจัดทำ "ดัชนีการเมือง" ยังไม่มีการยอมรับในระดับนานาชาติเกี่ยวกับตัวชี้วัดที่ดีที่สุด โดยเฉพาะในแง่มุมการเมืองหรือการปกครอง หากใช้วิธีการและเกณฑ์ที่แตกต่างกัน ผลลัพธ์ที่ได้ก็อาจจะแตกต่างกัน แม้ว่าจะสำรวจในประเทศเดียวกัน ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่ผู้เสพข้อมูลจะต้องพิจารณาอย่างระมัดระวังเพื่อมิให้สรุปข้อมูลผิดพลาดก็คือ วิธีการและเกณฑ์ที่ใช้ของแต่ละดัชนี

ข้อมูลที่ผิด บิดเบือน และความคิดเห็นแบบมีอคติทางการเมือง ย่อมสร้างและส่งผลเสียหายหรืออันตรายทาง การเมือง !!!  ดัชนีการเมืองไทย ... อาจเป็นคำตอบที่ดี (ที่สุด) ... ให้กับทุกฝ่าย ...

การทำดัชนีการเมืองไทยเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของการทำ Fact-checking ให้กับผู้เสพข้อมูลข่าวสารทางการเมืองใน ยุคที่ข้อมูลข่าวสารท่วมท้นบนสื่อออนไลน์และเต็มไปด้วยข้อมูลจริงและข้อมูลลวงปะปน “มั่วซั่วกันสุดสุด” ซึ่งเป้าหมายสำคัญของการทำ Fact-checking ก็เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เชื่อถือได้ และสามารถตัดสินใจโดยมีข้อมูลครบถ้วนตามข้อเท็จจริง ซึ่งผลการสำรวจดัชนีการเมืองอาจช่วยชะลอหรือหยุดการแพร่กระจายของข้อมูลทางการเมืองที่เป็นเท็จหรือทำให้เข้าใจผิดซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อภาครัฐ ภาคสังคม และภาคประชาชน นอกจากนี้ การทำ Fact-checking ผ่านดัชนีการเมืองไทยยังช่วยให้ผู้คนพัฒนาทักษะการประเมินข้อมูลด้วยตนเอง และสามารถแยกแยะข้อเท็จจริงออกจากข้อมูลปรุงแต่งผ่านการคิดเชิงวิเคราะห์

ดัชนีการเมืองไทย ยังสะท้อนถึงความชื่นชอบหรือคะแนนนิยมของประชาชนคนไทยที่มีต่อรัฐบาล ทำให้รัฐบาลมีข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในการบริหารบ้านเมืองและการตัดสินใจทางการเมืองด้วยข้อมูล เป็นการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนการเมือง “Data-driven Politics” เนื่องจากบริหารบ้านเมืองให้ตรงจุด ตอบโจทย์ และถูกใจประชาชน เป็นงานหนักอึ้ง เพราะโลกวันนี้ ห้อมล้อมไปด้วย“PERMACRISIS” หรือ “เพอร์มาไครซิส" ที่เป็นวิกฤตการณ์ยาวนานเรื้อรัง เช่น วิกฤติสภาพภูมิอากาศ การระบาดใหญ่ของโควิด-19 การแบ่งขั้วทางการเมือง ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีดิสรัปชั่น

การกลับมาอีกครั้งของการทำ “ดัชนีการเมืองไทย” ของสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต คงสร้างความตื่นตัวทางการเมืองให้กับทุกฝ่ายทั้งรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน คอการเมือง นักรัฐศาสตร์ ฯลฯ อย่าลืมติดตามผลสำรวจในเร็ว ๆ นี้ ครับ...