การกลับมาของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์”  สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล บนสังเวียนการเมือง รอบนี้ แม้ด้านหนึ่งจะช่วยลด “เงื่อนไข” การเปิดเกมร้อน  กระแสความนิยมเทไปหนุน พรรคก้าวไกล หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาในทางที่เป็นลบต่อพิธา 
 แต่อีกด้านหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า สำหรับ “พรรคเพื่อไทย” แล้วอาจไม่มี “ปัจจัยบวก” ที่มากพอ แม้วันนี้จะอยู่ในฐานะ “พรรคแกนนำรัฐบาล” ก็ตาม  

 มติของศาลรัฐธรรมนูญ 8 ต่อ 1เสียง วินิจฉัยให้ พิธา ไม่สิ้นสุดสมาชิกภาพสส.  จากกรณีถือหุ้นไอทีวี ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง สส.เนื่องจาก บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ประกอบกิจการหรือมีรายได้จากกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ เมื่อวันที่ 24 ม.ค.67 ที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ พรรคก้าวไกล ได้ “หัว”  คือ ตัวพิธา เข้าสภาฯดังเดิม 
 
แนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ได้เคยมีการตั้งข้อสังเกตและคาดการณ์จากหลายต่อหลายฝ่ายมาก่อนหน้านี้แล้วว่า พิธา มีโอกาส “รอด” มากกว่า “ร่วง” ซึ่งแต่แน่นอนว่าเมื่อพรรคก้าวไกล วันนี้เมื่อได้พิธา คืนสภาฯ ย่อมไม่เพียงแต่จะทำให้บรรยากาศของปีกฝ่ายค้าน คึกคักเท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือนขวัญกำลังใจให้เดินหน้าเตรียมพร้อมเข้าสู่โหมดของการ “ซักฟอกรัฐบาล” อย่างเข้มข้น เมื่อวาระการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มาถึง 
 
ปัญหาของพรรคเพื่อไทย ที่เวลานี้ต้องยอมรับกำลังรับมือศึกหลายด้าน ทั้งจาก “98สว.” ที่เข้าชื่อยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้จะไม่มีการลงมติ ตามมาตรา 153 แต่ประเด็นที่เปราะบาง คือการที่สว.พุ่งเป้าไปยัง “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ที่วันนี้จะอยู่ในสถานะ “นักโทษ” แต่ทักษิณ คือผู้มีอิทธิพลต่อพรรคเพื่อไทย 
 
การรับมือกับสว.ในศึกอภิปรายฯรอบนี้ โจทย์ของพรรคเพื่อไทย คือการหาทาง “ปกป้อง” และ “ปัดป้อง” ไม่ให้ ทักษิณ ที่ยังได้รับไฟเขียวนอนพักรักษาตัวอยู่บนชั้น 14 ในโรงพยาบาลตำรวจ ไม่ให้ถูกดึงลงมา “ถล่มกลางสภาฯ” ได้อย่างไร 
 
ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยเองซึ่งยังไม่สามารถคลอดผลงานผ่านนโยบายหลักที่หาเสียงเอาไว้ คือ โครงการแจกเงินหมื่นผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ให้เป็นรูปธรรมออกมาได้ มิหนำซ้ำยังมีสัญญาณว่า “ส่อล่ม” และหากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ไม่สามารถเกิดขึ้นจริง พรรคเพื่อไทยจะเสียหายอย่างรุนแรง ตามมา โดยไม่ต้องรอให้ไปถึงการเลือกตั้งในอีก 4ปีข้างหน้าด้วยซ้ำ 
 
การทำหน้าที่ฝ่ายค้านเชิงรุกของพรรคก้าวไกล คือคำสัญญา ที่พรรคเคยให้ประกาศเอาไว้ต่อสาธารณะ ในฐานะฝ่ายตรวจสอบรัฐบาล ในเวทีนิติบัญญัติ และด้วยบทบาทเช่นนี้ ในด้านหนึ่งย่อมเป็นการ “ถ่วงดุลอำนาจ” ระหว่าง พรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกล  จากที่เคยเป็น “มิตร” ก็แปรเปลี่ยนเป็น “คู่แข่ง” 

 หมายความว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ดูเหมือนว่าพรรคเพื่อไทย จะเสียเปรียบมากกว่าใคร เพราะหากพิธา ไม่รอดบ่วงคดีหุ้นไอทีวี มีอันต้องหลุดจากสส. “คะแนนนิยม” ที่พรรคก้าวไกล เคยได้มาอย่างถล่มทลาย  จะก้าวกระโดดเป็นทวีคูณ 


 และเมื่อวันนี้พิธา คืนกลับเวทีสภาฯ และจังหวะเวลาขึ้นสู่ตำแหน่ง “หัวหน้าพรรค” เช่นเดิม แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือการที่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย จะถูกพิธา ซักฟอกในสภาฯ เท่ากับว่าไม่ว่าคำพิพากษาจะออกมาในหน้าใด “ส้ม” ก็ยัง สกัด “แดง” ได้อยู่ดี !