ทวี สุรฤทธิกุล

ผู้เขียนขอยืมคำของ อดัม สมิท ที่บอกว่า “รัฐและการปกครองเป็นสิ่งชั่วร้ายแต่จำเป็นต้องมี” มาแปลงเป็นว่า “พรรคการเมืองเป็นสิ่งชั่วร้ายและจำเป็นต้องมี” เพราะพรรคการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของรัฐและการปกครอง

ก่อนที่จะมีพรรคการเมืองมาเป็นกลไกหนึ่งในการปกครองประเทศ บรรดารัฐหรือประเทศต่าง ๆ ในโลกยุคโบราณจะมีการปกครองแบบ “คนคนเดียว” แทบทั้งนั้น ที่นิยมกันมากก็คือ ระบอบกษัตริย์ ซึ่งพอผ่านยุคกลางของยุโรป ราวคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในยุโรปก็เริ่มมีความคิดต่อต้านระบอบกษัตริย์รุนแรงมากขึ้น (ความจริงใน ค.ศ. 1215 สามัญชนอังกฤษก็สามารถควบคุมอำนาจของกษัตริย์ได้บางส่วน นั่นคือการลุกฮือขอจำกัดอำนาจกษัตริย์ จนเกิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของโลก คือ แมกน่า คาร์ตา ขึ้นในยุคนั้น แต่กว่าจะมีระบบพรรคการเมืองขึ้นทำหน้าที่ในสภาอย่างสมบูรณ์ก็มาเริ่มในคริสต์ศตวรรษที่ 17 หลังจากที่ในยุโรปมีกระแสเรียกร้องการปกครองแบบประชาธิปไตย) โดยการแพร่ขยายความคิดของปราชญ์แนวประชาธิปไตยจำนวนมาก ที่เด่น ๆ ก็เช่น จอห์น ล็อค ในอังกฤษ และ ฌัง ฌาร์ค รุซโซ ในฝรั่งเศส

แนวคิดที่ตรงข้ามกับระบอบกษัตริย์ก็คือ อำนาจที่เคยอยู่ในตัวคนคน เดียว อย่างที่เคยอยู่ในการควบคุมของกษัตริย์นั้น จะต้องเปลี่ยนไปเป็นอำนาจของประชาชน เพราะประชาชนคือเจ้าของอำนาจที่แท้จริง ผู้ปกครองนั้นเป็นเพียงผู้ที่รับอาณัติ หรือได้รับมอบหมายอำนาจนั้นมาจากประชาชน ผู้ปกครองจึงต้องอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของประชาชน ผู้ปกครองต้องเปลี่ยนได้ถ้าประชาชนไม่พอใจ และอำนาจของผู้ปกครองนั้นต้องมีจำกัดหรือเท่าที่จำเป็น เท่าที่ประชาชนจะมาตกลงร่วมกันและมอบหมายให้ รวมถึงระยะเวลาในการปกครอง ที่จะต้องมีกำหนดแน่นอน ให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองนั้นได้เป็นระยะ อันเป็นที่มาของการปกครองแบบใหม่ ที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย”

พรรคการเมืองจึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่ออาสาเป็นตัวแทนประชาชน และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และประสบความสำเร็จในการเข้ามาใช้อำนาจแทนที่ผู้ปกครองแบบเก่า  จนอาจจะกล่าวได้ว่า ในการปกครองสมัยใหม่ทุกประเทศต้องมีพรรคการเมือง แม้แต่ในประเทศที่เป็นเผด็จการ อย่างพวกสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ก็ยังต้องมีพรรคการเมือง เพื่อจะได้อ้างได้ว่าได้เข้ามาใช้อำนาจนั้นในนามประชาชน

รวบรัดตัดตอนมาที่ประเทศไทย ตำรารัฐศาสตร์ที่สอนกันอยู่ในหลาย ๆ มหาวิทยาลัย ลงความเห็นว่า ระบบพรรคการเมืองของไทยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทดลองให้ข้าราชบริพารและขุนนางในยุคนั้น มาร่วมแสดงบทบาทต่าง ๆ ตามแบบระบบการเมืองอังกฤษ ในเมืองสมมติที่พระองค์ทรงสถาปนาขึ้นในชื่อว่า “ดุสิตธานี” มีรัฐสภา มีรัฐบาล มีนายกรัฐมนตรี และมีพรรคการเมือง แต่ถ้าจะเรียกพรรคการเมืองในความหมายที่ว่า “คณะบุคคลที่ใช้อำนาจบริหารประเทศแทนประชาชน” ก็จะต้องเป็น “คณะราษฎร” ที่ยึดอำนาจการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ส่วนพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญพรรคแรกนั้น ก็คือ “พรรคก้าวหน้า” จัดตั้งโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489

ถ้าจะบอกว่า “พรรคการเมือง” เป็นพรหมลิขิตหนึ่งของผู้เขียนก็คงจะได้ เพราะต้องมายุ่งเกี่ยวกับพรรคการเมืองตั้งแต่ที่เข้าเรียนรัฐศาสตร์ ในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2519 โดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะได้มารู้จักกับท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ผู้ที่ได้ชื่อว่าตั้งพรรคการเมืองพรรคแรก คือพรรคก้าวหน้า (ที่ต่อมาได้ยุบไปรวมเป็นพรรคประชาธิปัตย์ใน พ.ศ. 2490 โดยท่านเป็นเลขาธิการพรรคคนแรกของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งพรรคการเมืองพรรคนี้ยังคงอยู่รอดมาจนถึงปัจจุบัน แต่ถ้าไม่ปรับโฉมเปลี่ยนแปลงก็คงจะไปรอดได้ลำบากเช่นกัน) โดยใน พ.ศ. 2519 ท่านเป็น สส.สอบตก แต่ก็ยังเป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคม ต่อมาพอผู้เขียนเรียนจบใน พ.ศ. 2522 ก็ได้มาเป็นเลขานุการของท่าน ระหว่างนั้นใน พ.ศ. 2525 ผู้เขียนก็ได้เรียนต่อปริญญาโท ในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ทำวิทยานิพนธ์ในเรื่อง “การต่อสู้ทางการเมืองของพรรคการเมืองไทย : ศึกษากรณีพรรคกิจสังคม แม้ว่าหลังปี 2528 ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคมแล้ว และผู้เขียนก็ต้องสอบไปเข้ารับราชการ จนมาเป็นอาจารย์อยู่ในสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ใน พ.ศ. 2530 ผู้เขียนก็ยังต้องไปช่วยงานให้กับรัฐมนตรีของพรรคกิจสังคมหลายคน ที่ได้เข้าร่วมเป็นรัฐบาลอยู่เป็นระยะ ตั้งแต่ พ.ศ. 2531 จนถึง พ.ศ. 2538 ซึ่งในปีนั้นท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ถึงแก่อสัญกรรม ผู้เขียนจึงได้กลับมาทำงานเป็นอาจารย์อย่างเต็มตัว จนเกษียณอายุ แต่กระนั้นก็ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับพรรคการเมืองต่าง ๆ อยู่หลายพรรค ไม่เว้นแม้แต่ “พรรคการเมืองบนท้องถนน” ที่ต้องไปยุ่งมาแล้ว 2 ครั้ง คือ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับ กปปส.

เสียดายที่ในปี 2560 ภายหลังจากที่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปีนั้น และจะต้องมีการเลือกตั้งในเวลาต่อไป มีลูกศิษย์ในสถาบันพระปกเกล้า มาชวนผู้เขียนให้ไปช่วยทำพรรคการเมืองที่กำลังจะจัดตั้งขึ้นมาใหม่ แต่ด้วยความยึดติดที่ยังแนบแน่นอยู่กับระบบราชการ ไม่อยากลาออกก่อนเกษียณ จึงปฏิเสธไป แต่ก็คิดอยู่เสมอว่าประเทศไทยจะต้องมีพรรคการเมืองดี ๆ ให้ได้ ซึ่งถึงปัจจุบันนี้ก็ยังมองไม่เห็นพรรคการเมือง “ในอุดมคติ” ดังกล่าว จึงอยากจะเขียนบทความชุดนี้ เพื่อเป็นส่วนร่วมในการสร้างพรรคการเมืองในอุดมคติดังกล่าว

คำว่า “พรรคการเมืองในอุดมคติ” ที่อยากจะให้มีในประเทศไทยนี้ ไม่ได้เป็นพรรคการเมืองตามแบบที่ปรากฏอยู่ในประเทศต้นแบบอย่างเป๊ะ ๆ โดยเฉพาะในแบบอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกา แต่จะเป็นพรรคการเมืองในแบบที่ “ควรจะเป็น” สำหรับประเทศไทย ที่แน่นอนว่าต้อง “ดูดี สะอาด และฝากอนาคตได้” ให้แตกต่างจากทุก ๆ พรรคการเมืองในขณะนี้ ที่ถึงแม้บางพรรคจะยังพอดูได้ แต่ทุกพรรคก็มีกลิ่นไม่ค่อยสะอาด และยังไม่น่าเชื่อถือว่าจะฝากอนาคตของประเทศนี้ไว้ให้ต่อไปได้

ผู้เขียนจะเรียบเรียงเรื่องนี้จาก “ความรู้และความจำ” ที่ได้รู้ได้รับมาจากท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ที่ไม่เพียงแต่จะได้ชื่อว่าเป็น “เสาหลักประชาธิปไตย – ปราชญ์รัตนโกสินทร์” แล้ว ยังเป็นผู้ที่มีอุดมการณ์มุ่งมั่นเพื่อชาติบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่งอีกด้วย ส่วนหนึ่งก็คือ “ความคิด - ความมุ่งหวัง” ที่จะให้ประเทศไทยมีผู้ปกครองและการปกครองที่ดี ที่รวมถึงระบบรัฐสภาและระบบพรรคการเมืองนี้ด้วย

ไหน ๆ ก็จะต้องมี “สิ่งชั่วร้ายที่จำเป็นแล้ว” ก็ต้องรู้ว่ามันมีดีอะไร และจะใช้มันอย่างคุ้มค่าได้อย่างไร