เสรี พงศ์พิศ

คน 2 คนที่น่ากลัว คือ คนไม่อ่านหนังสือ กับคนอ่านหนังสือ

คนไม่อ่านหนังสือน่ากลัวเพราะมักเป็นคนมองโลกอย่างคับแคบ ยึดตัวเองเป็นหลัก มีตรรกะแบบศรีธนญชัย ไม่ชอบเรียนรู้ อนุรักษนิยมแบบหัวชนฝา ไม่ยอมรับความคิดต่าง ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง

คนอ่านหนังสือก็น่ากลัว เพราะเป็นคนฉลาด มองโลกกว้าง มีตรรกะสากล วิเคราะห์และสังเคราะห์เรื่องราวต่างๆ อย่างรอบด้านจนยากที่คนทั่วไปจะตามทัน มักเป็นคนฟังมากกว่าพูด น้ำนิ่งไหลลึก

คนไม่อ่านหนังสือน่ากลัวเพราะอาจจะทำอะไร “โง่ๆ” และถ้าเกิดมีอำนาจวาสนาเพราะเส้นสายหรือทรัพย์สินก็ยิ่งน่ากลัว ถ้าได้เป็น “ผู้นำ” ก็อาจจะนำคนลงเหวลงนรกได้

คนอ่านหนังสือน่ากลัวเช่นกันถ้าไม่มีคุณธรรม มักจะฉลาดแกมโกง หรือโกงอย่างฉลาดจนจับผิดได้ยาก มักมีเล่ห์เหลี่ยมสูง และถ้าได้เป็น “ผู้นำ” ก็จะ “เก่งแต่โกง” จนอาจนำความหายนะมาสู่สังคม ประเทศชาติได้

บรรดาบุคคลที่ “เปลี่ยนโลก” ล้วนเป็นนักอ่านทั้งสิ้น เป็นนักเรียนรู้จากหนังสือมากที่สุด เพราะที่นั่นคือขุมพลังปัญญาที่มาจากความรู้ที่ถูกกลั่นกรองจากประสบการณ์ ผ่านการทดสอบและตกผลึก นำมาต่อยอด ประยุกต์ใช้ในสถานการณ์และบริบทของตนเอง

อับราฮัม ลินคอล์น คือ ตัวอย่างของนักอ่านตัวยง ได้เข้าเรียน “ในระบบ” ไม่กี่ปี ความรู้ที่เขาได้มาเกือบทั้งหมดมาจากการอ่านและจากประสบการณ์ของตนเอง ของขวัญที่มีค่าที่สุดสำหรับเขา คือ หนังสือ

การอ่านทำให้มีเวลาคิด ไตร่ตรอง ตั้งคำถาม หาคำตอบ จนเกิดความรู้ใหม่ ทำให้อับราฮัม ลินคอล์น จบกฎหมาย ได้เป็นทนายความ เป็นนักพูดนักปาฐกถาหาตัวจับยาก จนได้เป็นประธานาธิบดี

เขาสารภาพว่า หนังสือนวนิยายเรื่อง Uncle Tom’s Cabin ของแฮร์รี บีทเชอร์ สโตว์ (1811-1896) ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1852 มีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อการตัดสินใจเลิกทาส

วันหนึ่งมีคนแนะนำให้เขารู้จักกับสตรีนักเขียนคนนี้ ประธานาธิบดีลินคอล์น กล่าวแบบชื่นชมว่า “นี่หรือคนเขียนหนังสือที่ทำให้เกิดสงครามครั้งนี้” สงครามกลางเมืองที่มาจากนโยบายเลิกทาส

“ลุงทอม” เป็นตัวแทนของ “ทาส” ในอเมริกา สะท้อนความไม่เป็นธรรมของการกระทำของคนผิวขาวต่อคนผิวดำที่เป็น “ทาส”  ที่จริงเป็นหนังสือ “ศาสนา” ไม่ใช่หนังสือ “การเมือง” ผู้เขียนเป็นศาสนิกที่ศรัทธาและเชื่อว่า “ความรัก” จะเอาชนะ “ความเป็นทาส” ได้ เพราะ การกระทำต่อผู้อื่นแบบทาส เป็น “บาป” เป็นความผิดต่อเพื่อนมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่ากัน และเป็นบุตรพระเจ้าเหมือนกัน

นายแพทย์นักปฏิวัติอย่าง เช เกวารา อ่านหนังสือมาก โดยเฉพาะหนังสือปรัชญา เศรษฐกิจ การเมือง เรื่องราวสะท้อนปัญหาสังคม จนทำให้เขาเดินทางหลายพันไมล์ ไปสัมผัสกับปัญหาของประชาชนที่ “ถูกกดขี่” ทั่วละตินอเมริกา ไปร่วมปฏิวัติคิวบาและกลายเป็นกำลังสำคัญของรัฐบาลที่นั่น ทั้งๆ ที่ตนเองเป็นอาร์เจนไตน์

นักต่อสู้ทุกรูปแบบอย่างเนลสัน แมนเดลา เรียนรู้ใน “มหาวิทยาลัยเรือนจำ” 27 ปี อ่านหนังสือทุกชนิดที่เรือนจำอนุญาต โดยเฉพาะการเรียนกฎหมายทางไกลจนได้ปริญญาตรีในปี 1989 หนึ่งปีก่อนที่เขาจะได้รับการปลดปล่อย และได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปี 1994

เนลสัน แมนเดลา ได้รับการยกย่องจากทั่วโลกให้เป็น “รัฐบุรุษ” เพราะการต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมของคนไม่ว่าสีผิว เผ่าพันธุ์ หรืออุดมการณ์ความเชื่อใด เขาเป็นนักอ่านตัวยงตั้งแต่เยาว์วัย เรื่องราวที่เขาเล่าในหนังสือ “หนทางยาวไกลสู่เสรีภาพ” เขาได้รับคำชื่นชมว่าเป็น “นักอ่านที่ยิ่งใหญ่” (a great reader)

แรงบันดาลใจไม่จำเป็นต้องมาจากหนังสือเล่มโต นวนิยายอมตะเท่านั้น เล่มเล็กๆ อย่าง “เจ้าชายน้อย” ก็สร้างความประทับใจ ให้คนมองโลกมองชีวิตได้อย่างวิพากษ์ เหมือนเทียนเล่มน้อยที่คอยส่องให้เห็นความเป็นจริงที่หลากหลาย ทั้งดีและเลวร้ายของสังคม ด้วยภาษาและการมองของ “เด็ก”

นวนิยายเล่มจิ๋วอย่าง “ต้นสัมแสนรัก” ที่ผู้อ่านจบแล้วไม่เสียน้ำตากับ “เซเซ่” ก็นับว่าใจแข็งมาก เพราะชีวิตของเด็กน้อยผู้นี้ คือตัวแทนของเด็กทั่วโลกที่มีความฝัน และถูกผู้ใหญ่ทำลายความฝันนั้น เพราะไม่เข้าใจสภาพจิตใจ อารมณ์ความรู้สึกและความใฝ่ฝันของเด็ก

“เซเซ่” ในต้นสัมแสนรัก คือ โจเซ่ วาสกอนเซลอส นักเขียนชาวบราซิล ที่เล่าประสบการณ์วัยเด็กของเขา ในชุมชนแออัดของริโอ เดอ จาเนโร

โจเซ่ ไม่มีคนเข้าใจเขาและรักเขา เพื่อนคนเดียวที่เขารักมาก คือ ต้นส้มในสวนหลังบ้าน ที่เขามักจะไปพูดคุยด้วย ระบายความในใจ ความทุกข์ ทำให้เขาสบายใจเมื่อได้พูดกับต้นส้มแสนรัก แต่สุดท้าย เพื่อนดีที่สุดของเขาก็ถูกสังคมทำลายในนามของ “การพัฒนา” ทางการมาตัดถนนและตัดต้นส้มนี้ด้วย

เรื่องดูเหมือนเล็กๆ นี้ ยังมีให้เห็นทั่วโลกทุกวัน ที่การพัฒนาทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายที่อยู่อาศัย ที่ทำมาหากินของ “ชาวบ้าน” คนยากคนจน อย่างที่เป็นข่าวระยะนี้กับ “แลนด์บริดจ์” ของไทย และการประท้วงของ “ชาวบ้าน” ที่จะได้รับผลกระทบจาก “โครงการพัฒนาอภิมหาโปรเจกต์” นี้และอีกหลายโครงการ

หนังสืออย่าง “โจนาธาน ลิวิงสตัน นางนวล” ถูกสำนักพิมพ์หลายแห่งปฏิเสธ กลายเป็นเบสต์เซลเลอร์แปลไปไม่รู้กี่ภาษา เพราะสะท้อน “วิญญาณเสรี” ของผู้คนที่ต้องการเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ไม่ถูกครอบงำจากสังคม ที่ต้องการให้คน “ว่านอนสอนง่าย” อยู่ใต้บังคับัญชาโดยไม่ต่อต้านโต้เถียง ทำให้คนอยู่เหมือนกลไกหรือไม้ในกระถาง ที่เป็นได้เพียงไม้ประดับเท่านั้น

หนังสือ “สอนลูกให้คิดเป็น” ถูกสำนักพิมพ์ปฏิเสธ ผู้เขียนจึงพิมพ์เอง และพิมพ์ 8 ครั้ง ไม่ใช่หนังสือ “ฮาวทู” ที่สอนเทคนิคในการเลี้ยงลูก เพียงแต่แนะนำให้ลูกอ่านหนังสือ 10 เล่ม ดูหนัง 10 เรื่อง เพื่อให้ “คิดเป็น ตัดสินใจเป็น เลือกเป็น” จะได้ “พึ่งตนเองได้”

“เจ้าชายน้อย” “ต้นส้มแสนรัก” และ “โจนาธานนางนวล” ก็เป็น 3 ใน 10 เล่มนั้น