ทวี สุรฤทธิกุล

ขอขัดจังหวะด้วยชะตากรรมของพรรคก้าวไกล เพราะนี่คือกรณีศึกษาของพรรคการเมืองยุคใหม่

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 อาจจะสะใจของของคนที่อยากให้พรรคก้าวไกลและผู้นำของพรรคนี้มีอันเป็นไป แต่ถ้ามองในแง่พัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย ก็อาจจะรู้สึกตะขิดตะขวงใจ ที่การดำเนินการของพรรคการเมืองเป็นการกระทำที่เป็นอันตรายต่อระบอบการปกครองของประเทศ ที่มีลักษณะไม่เหมือนใครในโลก โดยเรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า การกระทำของพรรคก้าวไกล ตั้งแต่ที่ยื่นแก้ไขมาตรา 112 เกี่ยวกับการลดโทษและปรับกระบวนการในการพิจารณาคดีเกี่ยวกับการหมิ่นพระมหากษัตริย์  เป็นการกระทำที่ “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย” (ไม่ทราบว่าเป็นศัพท์ทางกฎหมายอะไรหรือไม่) ถือว่าเป็นความผิดจะกระทำไม่ได้ ถ้าผู้เขียนฟังไม่ผิดก็น่าจะเป็นว่าด้วยการกระทำที่พรรคก้าวไกลได้ไปยุยงปลุกปั่นผู้คนให้เห็นด้วยในเรื่องดังกล่าว รวมถึงนำเรื่องนี้เข้าไปสู่กระบวนการของรัฐสภา ที่อาจจะนำภัยมาสู่สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นด้วย

ผู้เขียนเป็นอาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ อาจจะมีมุมมองที่แตกต่างจากนักกฎหมาย โดยเฉพาะท่านตุลาการในศาลรัฐรัฐธรรมนูญ แต่ก็อยากแสดงความคิดเห็นไว้ และพยายามที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ไปด้อยค่าหรือดูหมิ่นคำวินิจฉัยของท่านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเชื่อว่าท่านก็ไม่มีทางที่จะวินิจฉัยไปเป็นอย่างอื่น ดังจะเห็นได้จากผลของคำวินิจฉัยที่ออกมาเป็นเสียงเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียงนั้น

คนที่เรียนมาทางด้านรัฐศาสตร์ เมื่อพูดถึงความเป็นมาของระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องตอบได้เหมือน ๆ กันว่า เริ่มจากสิทธิเสรีภาพของบุคคล ที่ต่อสู้กับความไม่เสมอภาคเท่าเทียม โดยเฉพาะการกดขี่ของผู้นำแบบโบราณที่ปกครองโดยคน ๆ เดียว ที่เป็นลักษณะเด่นของการปกครองยุคโบราณ โดยเฉพาะระบอบกษัตริย์ โดยผู้คนในยุคนั้นอยากให้กษัตริย์และผู้ปกครอง “เห็นหัว” หรือให้ความสำคัญแก่พวกเขาที่เป็นประชาชนใต้ปกครอง ให้มีสิทธิและส่วนในการร่วมปกครองนั้นด้วย จนถึงขั้นที่มีปราชญ์ในแนวประชาธิปไตยบอกว่า แท้จริงแล้วอำนาจในการปกครองนั้นเป็นของประชาชน โดยประชาชนนั่นเองที่มอบอำนาจดังกล่าวให้กับกษัตริย์หรือผู้ปกครอง ในแบบที่มีอำนาจจำกัด ตามแต่หรือเท่าที่ประชาชนจะกำหนดมอบให้ รวมทั้สามารถเปลี่ยนผู้ปกครองนั้นได้ ถ้าประชาชนไม่พอใจ หรือผู้ปกครองไม่ได้กระทำตาม “สัญญาประชาคม” หรืออาณัติที่ประชาชนมอบหมาย

พูดง่าย ๆ ประชาธิปไตยคือ อำนาจเป็นของประชาชนทุกคน ไม่ใช่คนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มคน

ประชาธิปไตยของไทยบิดเบี้ยวมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นั้นแล้ว โดยคณะราษฎรได้รวบอำนาจไว้ที่กลุ่มของคณะราษฎรนั้นเพียงกลุ่มเดียว โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ห้ามให้มีกลุ่มการเมืองอื่นมาท้าทายอำนาจหรือร่วมใช้อำนาจร่วมกันกับคณะราษฎรนั้น ที่สุดการปกครองที่คิดว่าอยากจะให้เป็นประชาธิปไตย ที่อำนาจกระจายไปยังประชาชนทั้งหลาย ก็ถูกกระชับให้แน่น คณะราษฎรนั้นก็แตกกัน แย่งชิงอำนาจกัน ระหว่างกลุ่มทหารกับพลเรือน จนทหารรวบอำนาจไว้ได้ทั้งหมดในตอนก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เมื่อทหารต้องรับเคราะห์ว่าเป็นผู้พาประเทศไปร่วมรบกับญี่ปุ่น พลเรือนก็กลับมาแย่งอำนาจคืนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กระนั้นเพียงไม่ปีกว่า ใน พ.ศ. 2490 ทหารก็อาศัยกรณีที่รัชกาลที่ 8 สวรรคต ยึดอำนาจจากพลเรือน และสถาปนาระบอบประชาธิปไตย “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข” ขึ้นด้วยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ที่ทำให้ระบอบทหารเติบโตขึ้นในการเมืองของประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน

ผู้เขียนเกิดมาในยุค “ทหารครองเมือง” ตั้งแต่ที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีความหวังอย่างแรงกล้าที่คิดว่าระบอบทหารจะถูกกำจัดไปภายหลังการเดินขบวนขับไล่ของประชาชน ในเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 แต่ทหารก็คืนสู่อำนาจด้วยการจัดการกับนักศึกษานั่นแหละ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จากนั้นทหารก็สร้าง “เกราะเพชร” ด้วยการหลอมรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระมหากษัตริย์ อันเป็นประเด็นของการต่อสู้ที่คนรุ่นใหม่ตั้งแต่ยุคอดีตนายกรัฐมนตรีนักโทษชาย ได้สร้างกระแสขึ้นมา เพื่อขจัดพวก “แอบอ้าง”ที่ใช้ความสนิทสนมหรือการเกื้อกูลกันทางธุรกิจและสังคม กับพวก “แอบอิง” ที่ใช้ข้อกฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์ในระบบราชการ ซึ่งมีการต่อสู้ที่รุนแรงในสมัยที่พรรคการเมืองแนวคนรุ่นใหม่อย่างพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล ผู้เขียนจึงเชื่อว่าประเด็นนี้ยังจะคงเป็นข้อขัดแย้งในสังคมไทยไปอีกระยะหนึ่ง อย่างน้อยก็จนกว่าพวกคนรุ่นใหม่จะขึ้นมาครองอำนาจในทางการเมืองอย่างสมบูรณ์

เมื่อประชาธิปไตยเป็นแนวคิดที่มุ่งเน้น “สิทธิและเสรีภาพ” ของบุคคล พรรคการเมืองที่ชื่อ “อนาคตใหม่” จึงเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2562 โดยแกนนำของพรรคนี้ที่เป็นนักวิชาการสายฝรั่งเศส ได้นำเสนอไอเดียเรื่องการ “แตะต้องกษัตริย์” ซึ่งก็ได้ทำให้พรรคอนาคตใหม่ได้รับความนิยมและชนะเลือกตั้งได้เสียงเข้ามาเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะถูกยุบพรรคไป แต่ก็กลับมารวมตัวกันได้ภายใต้ชื่อพรรคก้าวไกล และก็ยังชนะเลือกตั้งมาอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ด้วยการนำเสนอประเด็นที่ล่อแหลมนี้

ในทางทฤษฎีรัฐศาสตร์ พรรคการเมืองมีหน้าที่นำเสนอนโยบายเพื่อเข้าไปปกครองและบริหารประเทศ โดยในระบอบประชาธิปไตยคือเป็นตัวแทนประชาชน ทั้ง “ความคิด” คือ อุดมการณ์ กับ “การกระทำ” คือเป็นผู้เสนอกฎหมาย ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ กับบริหารประเทศ ในฐานะฝ่ายบริหาร

ตอนนี้พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นรัฐบาล พอเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ จะเสนอกฎหมายตามนโยบายที่หาเสียงไว้ก็ถูกขัดขวางหรือมีอุปสรรคเสียแล้ว เรื่องนี้ก็น่าคิดต่อไปว่า “สมดุลอำนาจ” ของระบอบประชาธิปไตยกำลังเสียศูนย์ไปแล้วหรือไม่ ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ “ระบอบตัวแทน” ที่ถูกขัดขวางว่าเป็นตัวแทนที่กระทำการอันผิดกฎหมาย ซึ่งหลายคนฟังว่า พรรคการเมืองจะออกไปตามถนนหรือเล่นเกมใต้ดิน ยุงแยงปลุกปั่นประชาชนให้ทำลายความมั่นคงด้านต่าง ๆของรัฐนั้นไม่ได้ จะทำได้ก็แต่ในสภา และด้วยครรลองที่จะต้องไม่ไปแตะต้องเปลี่ยนแปลง “สถาบันหลัก” ของประเทศ

บังเอิญผู้เขียนก็เกษียณออกมาจากระบบราชการแล้ว ก็เสี่ยงอยู่เหมือนกันที่มาแสดงความเห็น “เสี่ยง ๆ” นอกห้องเรียน เพราะคงไม่มีกฎหมาย หรือจะ “แอบอ้าง - แอบอิง” อะไรจะมาคุ้มครอง

เว้นแต่จะขอความคุ้มครองจาก “สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือบ้านเมือง” อย่างเช่น พระสยามเทวาธิราช !