ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยรังสิต

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเราคุยกันไปเรื่องสงครามในตะวันออกกลาง ที่ดูแล้วมีทีท่าจะขยายวงและยกระดับขึ้นเรื่อยๆ ก็มีท่านผู้อ่านที่น่ารักติดต่อสอบถามกันเข้ามาว่าอยากให้วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นแก่เราๆชาวสยามประเทศ สัปดาห์นี้ก็จะจัดให้ตามคำขอครับ

ปัญหาการสู้รบกันในตะวันออกกลาง หากมีการขยายตัวและยกระดับมากขึ้นกว่านี้ เอาเป็นว่า ถ้าประเทศต่างๆที่อยู่เบื้องหลังกระโดดออกมาเป็นผู้เล่นเบื้องหน้ากันมากขึ้น เกิดการแบ่งข้างหรือเลือกข้างกันอย่างชัดเจน ณ จุดนั้น ก็ต้องบอกว่า โลกจะร้อนขึ้นอย่างแน่นอน เพราะบรรดาประเทศต่างๆ นอกเหนือจากเหตุผลด้านวัฒนธรรม ศาสนา หรือประวัติศาสตร์ที่กล่าวอ้างกันแล้ว ก็ยังหนีไม่พ้นเหตุผลด้านการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจ ที่เรียกได้ว่า มีผลประโยชน์ที่ต้องรักษาไว้ทั้งสิ้น เมื่อต่างฝ่ายต่างต้องรักษาผลประโยชน์ของตน สุดท้ายก็อาจต้องจบลงที่การใช้กำลังทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่การทูตเป็นหนทางที่ไม่ถูกเลือกใช้

ถ้าวิเคราะห์กันด้วยทฤษฎีสมดุลแห่งอำนาจ การรวมกลุ่มแบ่งข้างกันของประเทศต่างๆ ก็อาจนำไปสู่การคานอำนาจซึ่งกันและกันจะเกิดสมดุลของอำนาจ ที่ต่างฝ่ายต่างกลัวความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นถ้ารบกัน และอาจส่งผลให้ยังไม่เกิดสงครามขนาดใหญ่ คงไว้เพียงการฮึ่มๆกันตามสไตล์สงครามเย็น

อย่างไรก็ดี เราก็ยังตัดความเป็นไปได้ของการใช้กำลังต่อกันไม่ได้ เพราะทฤษฎีคือ “คำอธิบาย” ที่เกิดจากการอนุมาน ในสถานการณ์จริงผู้มีอำนาจตัดสินใจของประเทศต่างๆอาจวิเคราะห์แตกต่างจากนักวิชาการ อาจไม่ได้คำนึงถึงผลลัพธ์ด้านลบ หรืออาจคำนวณแล้วมองว่าได้มากกว่าเสีย หรืออาจมีเหตุผลอื่นๆ ซึ่งก็อาจทำให้คำอธิบายของทฤษฎีต่างๆเป็นจริงหรือไม่จริงได้ทั้งสิ้น

อย่าลืมว่า การเมืองเป็นพลวัตโดยสันดาน การเมืองจึงหักปากกาเซียนนักวิเคราะห์กันจนเป็นเรื่องปกติ

ในสถานการณ์ที่การเมืองระหว่างประเทศร้อนแรง ประเทศที่มีผลประโยชน์หรือมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ก็อาจจำเป็นต้องเลือกข้างเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ที่มากที่สุด หรือมิเช่นนั้น ก็ต้องลื่นไหลให้ได้ เหยียบเรือให้ครบทุกแคม เพื่อที่จะได้รักษาผลประโยชน์ไว้โดยไม่บาดหมางกับใคร แต่โดยมากมักไม่นิยมทำกัน เพราะสุดท้ายแล้วอาจเข้าตัว เผลอๆจะมีศัตรูรอบด้าน

เมื่อความขัดแย้งปะทุ เกิดการเปิดหน้าชนกัน ต่างฝ่ายต่างก็ต้องงัดพลังอำนาจที่มีออกมาสู้กัน ไม่ว่าจะเป็นพลังอำนาจทางทหาร พลังอำนาจทางเศรษฐกิจ หรือแม้แต่การใช้ Soft power เช่น การใช้ประเด็นและภาพลักษณ์ด้านเสรีภาพ ประชาธิปไตย หรือสิทธิมนุษยชนเป็นเครื่องมือโน้มน้าวหาพวกในเวทีระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับอีกฝั่งที่อาจหยิบยกเรื่อง muslim brotherhood หรือคุณค่าของความเป็นอาหรับออกมาโน้มน้าวหาพวกในฝั่งของตน

การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจซึ่งกันและกันอาจเกิดขึ้น ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไปว่าจะออกรูปไหน จะเป็นประโยชน์หรือโทษแก่ประเทศที่อยู่นอกวงความขัดแย้งอย่างเรา บางครั้งการคว่ำบาตรก็เป็นโอกาสเมื่อสินค้าของเราสามารถทดแทนความต้องการได้ แต่บางครั้งงัดกันไปมาก็อาจลามมาถึงเราได้เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อมหาอำนาจอาจกดดันให้เราร่วมมือกับการคว่ำบาตรต่างๆ ไอ้แบบนี้ก็อาจทำให้เราเสียโอกาสได้ ก็ต้องดูเป็นเคสๆว่าเสียอะไร ได้อะไร

แต่แน่นอนว่าเศรษฐกิจของโลกโดยรวมจะเกิดปัญหา การค้าขาย การเดินทาง ซึ่งรวมไปถึงระบบโลจิสติกส์จะเกิดข้อจำกัด ธุรกิจบางอย่างจะพ่ายแพ้ต่อต้นทุน แต่ก็อาจเกิดธุรกิจใหม่ขึ้นได้เช่นกัน เป็นไปตามพลวัตของโลกธุรกิจ เศรษฐกิจไทยที่ยึดโยงกับเศรษฐกิจโลกก็จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สินค้าบางประเภทอาจมีราคาสูงขึ้น การส่งออกอาจมีข้อจำกัด การท่องเที่ยวซึ่งเป็นเศรษฐกิจหลักของชาติอาจได้รับผลกระทบแต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับท่าทีของประเทศไทยด้วย ถ้ามีภาพว่าเราเป็น “ฝั่งไหน” ประชาชนของอีกฝั่งก็คง “พักก่อน” กับการเที่ยวเมืองไทย

ปัญหาการย้ายถิ่นฐานของคนจะเกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะผู้คนในประเทศของคู่ขัดแย้งที่จำต้องหนีภัยสงคราม แน่นอนว่าจะมีทั้งการย้ายถิ่นฐานทั้งโดยถูกและผิดกฎหมาย ที่น่าห่วงก็คือกลุ่มหลังที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ไม่ได้มีสถานะและศักยภาพที่จะย้ายถิ่นได้อย่างสะดวกสบาย ก็มักตกเป็นเหยื่อของเหล่านายหน้ามิจฉาชีพทั้งหลาย จนหลายต่อหลาย(ล้าน)คน กลายเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ กลายเป็นปัญหามนุษยชนต่อไป

อย่างไรก็ดี ถ้าวิเคราะห์ด้วยแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ ก็อาจมองได้ว่า ปัจจุบันโลกทั้งใบเชื่อมโยงกันด้วยพลังของโลกาภิวัตน์ แทบทุกประเทศบนโลกมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันไม่มากก็น้อย มองแบบนี้ สงครามขนาดใหญ่ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะต่างมีผลประโยชน์ที่จะเสียหายทั้งสองฝั่งถ้ารบกัน การรวมกลุ่มแบ่งข้าง จะไม่เกิดขึ้นง่ายๆ จะเกิดขึ้นเฉพาะผู้ที่อยู่ในความขัดแย้งจริงๆเท่านั้น เพราะประเทศต่างๆต่างมีความร่วมมือด้านใดด้านหนึ่งซึ่งกันและกัน จะเทลำเลือกข้างก็ต้องระมัดระวังกันอย่างมาก

อย่างหนึ่งที่ค่อนข้างมั่นใจ คือความขัดแย้งโดยตรงคงไม่มาถึงเราง่ายๆ พูดง่ายๆ เราคงไม่ได้ไปรบกับเขาด้วยแน่ๆ ยกเว้นแต่สถานการณ์จะขยายตัวจนเป็นสงครามโลกครั้งใหม่ที่บีบให้ไทยและทุกประเทศทั่วโลกต้องเลือกข้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไอ้แบบนั้นก็คงหนัก แต่เป็นสถานการณ์แบบสุดขั้วที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นง่ายๆในความเป็นจริง

อย่างไรก็ดี ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีสิ่งน่ากังวล สิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับประเทศนอกวงความขัดแย้งอย่างไทย คือ ความขัดแย้งทางความคิดของคนในสังคม รวมไปจนถึงการก่อการร้ายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้หากสถานการณ์ในตะวันออกกลางขยายตัว

โลกในยุคปัจจุบันมีโซเชียลมีเดียที่มอบพลังให้กับคนทุกคนในสังคม จนรัฐไม่สามารถชี้นำคนหมู่มากได้ง่ายเหมือนในอดีต ปัจจุบันรักใครชอบใครสนับสนุนใคร ก็แสดงออกได้เต็มที่ รวมกลุ่มกันได้เต็มที่ เมื่อความขัดแย้งระดับโลกขยายตัว แน่นอนว่าคนในสังคมย่อมมีความคิดเห็น พื้นเพ ศาสนา ตลอดจนคุณค่าและความเชื่อที่ยึดถือแตกต่างกัน จนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งกันทางความคิดของคนในสังคม เลวร้ายที่สุดก็อาจมีการแสดงออกในที่สาธารณะและอาจลุกลามบานปลายเป็นความขัดแย้งในสังคมได้ รัฐบาลทุกประเทศจะต้องรับบทหนักกับการรับมือความแตกต่างทางความคิด เรียกว่า ขยับเอียงไปทางไหนก็เตรียมตัวโดนด่าจากทุกฝ่าย การบริหารงานจะมีอุปสรรคมากขึ้น

เราอาจได้อยู่ในโลกที่ “ปัญหาความขัดแย้งระดับโลก อาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งของคนในระดับชุมชน ระดับซอย หรือแม้แต่ระดับครอบครัว ทั้งๆที่ไม่ได้ไปยิงปืนกับเขาด้วยเลยสักนัด”

ที่สำคัญ ประเทศไทยเป็นมิตรกับทุกประเทศ เรามีต่างชาติอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งอาหรับ ยิว จีน อเมริกัน และยุโรป หากมีความต้องการสร้างสถานการณ์ หรือต้องการทำร้ายชีวิตและทรัพย์สินของพลเมืองคู่ขัดแย้ง ประเทศไทยก็อาจตกเป็นเป้าหมายของการก่อการร้ายได้ไม่ยากเย็น

บทวิเคราะห์วันนี้คงไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกมิติ ด้วยความหลากหลายของมิติที่ต้องมองและพื้นที่ที่จำกัด แต่อย่างน้อยก็เชื่อว่า น่าจะทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพได้บ้าง

อ่านดูแล้วอาจรู้สึกว่าหม่นหมอง เพราะมีแต่ด้านลบ จริงๆแล้วด้านบวกหรือโอกาสก็ย่อมมีในทุกสถานการณ์ แต่โอกาสเหล่านั้นไม่ยากที่จะคว้าหากเกิดขึ้นจริง แต่การรับมือกับด้านลบนั้นต่างหากที่ยากกว่า บทวิเคราะห์นี้จึงอยู่บนพื้นฐานของการฉายภาพปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการเตรียมตัวรับมือของชาติและชาวสยามประเทศทุกคน

เอวัง