เสรี พงศ์พิศ

รัฐบาลมองมวยไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ดึงคนเข้ามาเที่ยว มาเรียนมวยไทย แต่ไม่เห็นการส่งเสริมมวยไทยในบ้านตัวเองอย่าง “เป็นเรื่องเป็นราว” เห็นแต่การเซ็นเอ็มโอยูเมื่อปี 2565 ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการส่งเสริมมวยไทยในสถานศึกษา ในทางปฏิบัติไม่รู้ทำกันไปถึงไหน เพราะ “เงียบ” จริงๆ

ถ้ามองมวยไทยเป็นเพียงเครื่องมือดึงดูดนักท่องเที่ยว ส่งเสริมเสน่ห์ไทยให้ต่างชาติชื่นชมก็แสดงว่ายังไม่เข้าใจคุณค่ามวยไทยจริงๆ ซึ่งมีมากมายและล้ำลึกกว่าเพียงแค่ “สินค้าทางวัฒนธรรม”

มวยไทยเป็นภูมิปัญญาไทย มรดกทางวัฒนธรรมที่ถูกถ่ายทอดมานับพันปี เป็นศิลปะการต่อสู้ที่ชายหนุ่มทุกคนต้องเรียนรู้ฝึกฝนเพื่อพร้อมที่จะออกรบ ป้องกันตนเอง ป้องกันบ้านเมือง

ถ้าถอดรหัสมวยไทยในฐานะภูมิปัญญาก็จะพบความเป็นศาสตร์เป็นศิลป์ที่ล้ำลึก ที่ไม่ใช่เป็นเพียงอาวุธที่มีพลานุภาพรุนแรง จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลกเท่านั้น แต่เพราะมวยไทยมี “ครู”

“ครู” ที่หมายถึง “จิตวิญญาณครู” ที่มวยไทยเป็นชีวิตและจิตวิญญาณของท่าน ที่สอนศิษย์ให้ “เป็นมวย” ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงทักษะการชกมวย แต่หมายถึง “เป็นคนเก่งคนดี” มีน้ำใจนักกีฬา มีคุณธรรม ไม่เอาเปรียบคนอื่น ปกป้องคนอ่อนแอ คนถูกรังแกทำร้าย

ครูมวยไม่สอนให้เอาวิชาทักษะมวยไทยไปรังแกใคร ทำร้ายใคร หรือเอาไปประกอบกรรมทำชั่วอาชีพทุจริต มวยไทยที่ครูถ่ายทอดมาจึงเป็นทั้ง “วิญญาณ” (soul) และ “จิตวิญญาณ” (spirit) ที่โอบและอุ้มทักษะมวยไทยในการใช้หมัด เท้า เข่า ศอก ด้วยกลยุทธ์ร้อยกระบวนท่า

การเรียนและฝึกฝนมวยไทยจึงไปพร้อมกับการเรียนเป็นคนดี มีวินัย มีคุณธรรม รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย เราจึงเห็นนักมวยกราบครูต่อสู้ที่อายุมากกว่าหลังการชก

การไหว้ครูจึงเป็นพิธีกรรม “ศักดิ์สิทธิ์” จริงจัง ทำเล่นไม่ได้ เพราะเป็นการ “บูชาครู” รำลึกถึงวิญญาณและจิตวิญญาณของท่าน ตั้งจิตอธิษฐานผ่านท่าร่ายรำอุ่นร่างกาย พร้อมตั้งสมาธิเพื่อทำการต่อสู้ให้ดีที่สุด

เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ผมเคยเป็นกรรมการในสภาสถาบันราชภัฏ ซึ่งทุกแห่งรวมเป็นสภาเดียวและอยู่ในคณะกรรมการการศึกษาของสถาบันเพื่อพิจารณาหลักสูตรต่างๆ เมื่อสถาบันราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงเสนอหลักสูตรบัณฑิตศึกษา ได้เห็นข้อความสั้นๆ ว่าด้วย “ปรัชญา” ของมวยไทยในต้นเอกสารแล้วประทับใจมาก

ได้เสนอให้ปรับข้อความว่าด้วยภูมิปัญญามวยไทยให้ยาวสักหลายหน้า และให้เสนอหลักสูตรตรี โท เอกมวยไทยไปเลย ซึ่งต่อมาก็เกิดหลักสูตรเหล่านี้ที่ “มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง” และได้รับเชิญไปสอนวิชา “ภูมิปัญญามวยไทย” ให้นักศึกษาปริญญาเอก ซึ่งมีทั้งครูมวย ผู้จัดการมวยมากมายหลายคน

ได้นำวิดีโอเรื่องการสอนมวยที่วัดเส้าหลินของจีนให้นักศึกษาดู ที่นั่นเขาสอนเด็กตั้งแต่อายุเพียง 10 ขวบ โดยเน้นการสอนทักษะกังฟูและการเป็นคนดีมีคุณธรรมไปพร้อมกัน ฝึกให้มีสติและสมาธิ ไม่ว่าเด็กจะโตขึ้นเป็นพระหรือไม่เป็น ก็จะนำวิชามวยไปใช้ประโยชน์ป้องกันตนเองและป้องกันคนอื่นที่ถูกรังแก ไม่เอาไปใช้เพื่อทำร้ายผู้อื่น พระครูที่วัดเส้าหลินบอกว่า การเรียนวิชามวยโดยไม่มีคุณธรรมอันตรายมาก เพราะจะนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง เอาเปรียบและทำอันตรายแก่ผู้คนและสังคม

ยี่สิบปีที่ผ่านมา ได้เขียนบทความหลายครั้งในสื่อต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเรียนมวยไทย เน้นที่การเรียนมวยไทยในโรงเรียน เป็นการออกกำลังกาย ศิลปะป้องกันตัว ไม่ใช่ส่งเสริมให้เด็กขึ้นเวทีแข่งขันชกมวย ให้นำมวยไทยไปประยุกต์ในการแสดงกลางแจ้งในพิธีเปิดงานต่างๆ ส่งเสริมนาฏมวยไทย จัดให้มีการประกวดแข่งขัน ให้รางวัลสถานศึกษาที่ทำได้ดี

ที่สำคัญ การฝึกฝนมวยไทยอย่างเหมาะสม นอกจากจะได้ศิลปะป้องกันตัวและสร้างความเชื่อมั่นให้เด็กเยาวชนนักเรียนแล้ว ยังจะสร้างนิสัยและวินัยให้พวกเขา และน่าจะเป็นวิธีหนึ่งที่ดีที่สุดเพื่อส่งเสริมความสามัคคีระหว่างนักเรียน ระหว่างโรงเรียน ไม่ยกพวกตีกัน ทำร้ายกัน หรือก่อกรรมทำเข็ญดังที่เป็นข่าวทุกวัน

การลงโทษผู้ปกครองคงแก้ได้ยาก หรือการลงโทษเยาวชนคนเกเรที่ชกต่อยกันให้ขึ้นเวทีชกกับนักมวยตัวจริงดังที่ทำกันในบางจังหวัดก็เป็นทารุณกรรมที่ผิดหลักสิทธิมนุษยชน เป็นศาลเตี้ยที่ไม่ควรทำ

นอกจากมวยไทยสร้างนิสัยดี มีคุณธรรม ยังสร้างเสริมสุขภาพได้ดีด้วย ดังที่เป็นปรากฏการณ์ที่น่าชื่นชมวันนี้ที่มียิมมากมายที่เปิดสอนมวยไทยเพื่อป้องกันตัวและเพื่อสุขภาพ ข่าวว่า กว่าร้อยละ 70 ของคนเรียนมวยไทยในยิมเป็นผู้หญิง มีตั้งแต่อายุน้อยไปจนถึงกว่า 60 ก็ไม่สายเกินไป

นอกนั้น ยังเป็นการประยุกต์มวยไทยในการออกกำลังกายหมู่ การเต้นแอโรบิก มวยไทยช่วยสร้างความเชื่อมั่นในยามอันตราย ในการปกป้องตนเองและผู้อื่น ทำให้สุขภาพแข็งแรง

การฝึกฝนมวยไทยสำหรับเด็กหญิงยิ่งมีความสำคัญวันนี้ที่สังคมเต็มไปด้วยอันตราย การเรียนมวยไทยจะทำตั้งสติได้เมื่อเผชิญกับวิกฤติ ไม่ใช่ลนลานจนทำอไรไม่ถูก วิ่งหนีได้ก็วิ่งไม่ออก มีอะไรที่พอคว้าเป็นอาวุธก็ทำไม่ได้เพราะมือไม้อ่อน  มวยไทยสอนให้เกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง จำเป็นต้องสู้ก็สู้ หนีได้ก็หนี

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเก่าเรื่องเดิมที่เคยเขียนมาหลายครั้ง เพื่อเสนอให้รัฐบาลกำหนดเป็นนโยบาย ให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเป็นนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการนำมวยไทยเข้าไปในหลักสูตรพลศึกษาของทุกระดับทุกชั้น ทั้งประถมและมัธยม สนับสนุนโดยกระทรวงอื่นๆ อย่างกีฬา สาธารณสุข

เห็นไปดูงานการศึกษาที่ฟินแลนด์บ่อย ไม่อายเขาหรือครับ ที่มีอดีตนักมวยไทยไปแต่งงานกับสาวฟิน เผยแพร่มวยไทย จนโรงเรียนจัดให้นำมวยไทยเข้าไปในหลักสูตรหลายโรงเรียน โดยผู้ปกครองเสนอเอง

คนไทยเราใกล้เกลือกินด่าง เห็นเทควันโด ยูโด คาราเต้เท่กว่า ทำให้มวยไทยเป็นแค่กีฬาและการพนัน สะใจซาดิสต์ที่รักความรุนแรงเลือดนองเวที ทั้งๆ ที่มวยไทยมีคุณค่าสูงกว่า ดีกว่านั้นมาก

แปลกดีที่เชิญชวนต่างชาติมาเรียนมวยไทยให้อยู่ได้เป็นปี แต่ไม่มีนโยบายอะไรให้คนไทย ซอฟต์พาวเวอร์เริ่มที่ “สมอง” ที่คิดเรื่อง “กระบวนการ” มากกว่าคิดแค่ขาย “ผลิตภัณฑ์”