เสรี พงศ์พิศ

โรงแรมบางแห่งในสเปนตั้งเครื่องอัตโนมัติให้ผู้มาพักซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวอาบน้ำได้วันละ 4 นาที  หลายแห่งปิดสระว่ายน้ำ ห้องอาบน้ำที่ชายหาดก็จำกัดน้ำจืดเพื่อการอาบเช่นเดียวกัน

ปี 2023 ยุโรปได้เห็นอุณหภูมิสูงสุดและภัยแล้งเลวร้ายสุดในรอบ 500 ปี เลยมาถึงปี 2024 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเกษตร รวมไปถึงการท่องเที่ยว แม่น้ำลำคลองที่เหือดแห้ง ไม่สามารถนั่งเรือชมธรรมชาติที่ไร้สีเขียวแห้งเหี่ยวเพราะขาดน้ำ

สเปนมีนักท่องเที่ยวปีละ 85 ล้านคน รองจากฝรั่งเศส (88 ล้าน) มากกว่าอิตาลี (75 ล้าน) ประเทศเหล่านี้ รวมทั้งเยอรมนี ฮังการี เช็ค และประเทศอื่นๆ ในยุโรปกลางต่างก็ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำเพื่อการบริโภค การเกษตร และการท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยวจากยุโรปตอนเหนือที่อากาศหนาวจะ “อพยพ” ไปยุโรปใต้ที่อากาศอุ่น อย่างสเปน อิตาลี กรีซ มีนักท่องเที่ยวปีละ 30 ล้านคน ตุรเกีย 50 ล้าน มาจากรัสเซีย 7 ล้านคน การขาดแคลนน้ำส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวด้วย ลองนึกภาพโรงแรมที่ปิดสระว่ายน้ำ หรือจำกัดน้ำให้อาบเหมือนโรงเรียนประจำ

ยุโรปเริ่มตื่นตัวและเร่งมาตรการการแก้ไข เริ่มจากภาพรวมการลดโลกร้อน อันเป็นต้นเหตุใหญ่ของภัยแล้ง การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน การเกษตรที่ใช้น้ำน้อย เกษตรอินทรีย์ การวิจัยและพัฒนา “เนื้อในห้องแล็บ” ที่จะลดพื้นที่ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ และลดสัตว์เลี้ยงอย่างวัวที่มีส่วนสำคัญทำให้โลกร้อน           

ประเทศไทยเหมือนไม่ค่อยตื่นเต้นกับภัยแล้ง คงเพราะคุ้นเคยกับความแล้งซ้ำซาก และน้ำท่วมจนชาชิน โดยรัฐบาลไหนก็ไม่ได้มีมาตรการในการป้องกันและแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

นักการเมืองไทยคิดแต่จะทำเมกะโปรเจกต์เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง อย่าง “โขงชีมูล” และการเชื่อมต่อแม่น้ำ แหล่งน้ำต่างๆ  โดยไม่ได้คิดถึงภาพใหญ่ของการลดโลกร้อนโดยการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ให้ครัวเรือน สถานประกอบการ โรงงานต่างๆ สามารถลผิตไฟฟ้าจากหลังคาใช้เอง แบบ “แฟร์ๆ” ไม่ใช่ไฟเหลือใช้ขายรัฐราคาถูก ซื้อกลับมาราคาแพงอย่างปัจจุบัน เพราะการ “ผูกขาด” พลังงาน

รัฐไม่ได้ให้ความสนใจส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” ในการจัดการน้ำ รัฐบาลใดมาก็คิดแต่จะทำโครงการแก้ปัญหาภัยแล้ง “จัดจ้างแบบพิเศษ” เพราะ “เร่งด่วน” อย่างโครงการ “ฝายแม้ว” เป็นแสน หรือ “ฝายมีชีวิต” ไม่ใช่ตาม “ต้นฉบับ” แต่ตามที่ออกแบบมาแล้ว ที่มีการ “ลงทุน” ที่สามารถกินหัวคิวได้

การจัดการน้ำอย่าง “ธนาคาน้ำใต้ดิน” ที่มีต้นแบบและแพร่หลายไปหลายจังหวัด พิสูจน์ถึงประสิทธิภาพในการแก้ไขภัยแล้งและป้องกันน้ำท่วม กลับไม่ได้รับความสนใจ  8-9 ปีไม่มีการส่งเสริมจริงจัง เห็นว่ารัฐบาลนี้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาแล้ว ก็ไม่รู้ว่ามีแผนงานใหญ่น้อยเพียงใด ถ้าเชื่อว่าเป็นแนวทางแก้ปัญหาได้ “จากข้างล่าง” จริง น่าจะทำให้เปิดเผยและใหญ่กว่าที่ทำกันเงียบๆ ถ้าทำสำเร็จ จะได้ใจชาวบ้านไม่น้อย

การแก้ปัญหาน้ำในประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากเรื่องใหญ่ระดับชาติ คือ การลดโลกร้อนโดยใช้พลังงานหมุนเวียนและวิธีการอื่นๆ ส่วนเรื่องน้ำเป็นเรื่องที่ชุมชนและท้องถิ่นแต่ละแห่งร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเอง

บ้านเรารอแต่รัฐบาลจะทำโครงการใหญ่ ขณะที่มูลนิธิชัยพัฒนาส่งเสริมชุมชนให้จัดการแก้ปัญหาน้ำ และมอบรางวัลดีเด่นให้ชุมชนต่างๆ

บ้านลิ่มทอง ต.หนองโบสถ์  อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ จากเดิมประสบปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งซ้ำซากมากว่า 40 ปี พื้นที่การเกษตรกว่า 3,700 ไร่ ไม่มีแหล่งน้ำ คลองส่งน้ำ ยามน้ำหลากก็ท่วมถนนในหมู่บ้าน ยามแล้งไม่มีน้ำใช้ส่งผลชาวบ้านเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

แกนนำชาวบ้านจึงนำเรื่องนี้เข้าเวทีประชาคมหมู่บ้าน ช่วยกันวางแผนแก้ปัญหา เอาน้ำท่วมมาเก็บกักเป็นน้ำใช้ ด้วยเริ่มจากหาข้อมูลแหล่งน้ำเดิม สำรวจแหล่งน้ำและเส้นทางน้ำหลาก โดยใช้แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม เครื่องระบุพิกัด GPS โดยได้รับความเอื้อเฟื้อจากมูลนิธิอุทกศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์กรมหาชน)

ปี 2549 จึงเริ่มขุดลอกคลองขนานกับถนนขุดคลองขวางดักน้ำหลากพร้อมกับขุดแก้มลิงในพื้นที่สาธารณประโยชน์ และชักชวนให้ชาวบ้านขุดสระเก็บกักน้ำในที่ดินส่วนตัว เพื่อผันน้ำที่ท่วมถนนทุกปีให้ไหลลงคลองส่งน้ำไปเก็บกักไว้ที่แก้มลิง เพื่อเกษตรกรจะได้ดึงน้ำเข้าสระส่วนตัวไปใช้ได้ยามต้องการ

ต่อมาเมื่อน้ำหลากถนนนานเข้าก็เกิดปัญหาชำรุดทรุดโทรม ชุมชนจึงร่วมกันปรับปรุงโครงสร้างให้เป็นถนนน้ำเดิน ปรับความลาดเอียงจากริมถนน เข้าสู่ศูนย์กลางลักษณะรูปตัววี เสริมคัน จัดทำที่ระบายน้ำ รับน้ำ นำน้ำท่วมน้ำหลาก  ส่งต่อไปยังทุ่งรับน้ำและแก้มลิง อีกส่วนส่งต่อ ไปยังบ่อเก็บน้ำส่วนรวมเนื้อที่ประมาณ 37 ไร่ ซึ่งเป็นสระสาธารณะใช้ร่วมกันทั้งชุมชน

ตั้งแต่ปี 2548 ชาวบ้าน 2,221 ครัวเรือน ไม่เคยมีปัญหาเรื่องน้ำแล้งเลย จากพื้นที่รับประโยชน์ 3,700 ไร่ สามารถขยายผลสู่เครือข่าย 42 หมู่บ้าน 5 ตำบล พื้นที่ 173,904 ไร่ มีคลองดักน้ำหลาก และคลองซอย ระยะทางรวมกว่า 47.7 กม. มีสระน้ำแก้มลิง 61 สระ สระประจำไร่นาอีกกว่า 50 สระ ส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มจากเดิมครัวเรือนละราว 40,000 บาทต่อปี กลายเป็นปีละกว่า 200,000 บาท”

ข้อมูลนี้เป็นข่าวในไทยรัฐ (27 เมษายน 2559) ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ได้สอบถามไปที่ผู้ใหญ่บ้านซึ่งบอกว่า ยังคงสภาพการแก้ปัญหาเหมือนเดิม และได้ขยายไปหลายหมู่บ้านในตำบลหนองโบสถ์ และหลายตำบลในอำเภอนางรอง และคงอีกหลายพื้นที่ที่ไปศึกษาดูงาน และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ

ยังมีอีกหลายชุมชนทั่วประเทศที่แก้ปัญหาน้ำได้ดี แต่ก็ไม่มี สส. หรือพรรคการเมืองใดสนใจนำมาเป็นต้นแบบและเสนอเป็นนโยบายแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ท่องแต่คาถาว่า “เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ”

มัวแต่ดีใจได้นักท่องเที่ยวมาก ถ้าหากเกิดขาดน้ำเหมือนสเปน และให้นักท่องเที่ยวอาบน้ำได้วันละ 5 ขัน คงได้น้ำตาตก เตรียมรับมือไว้แต่เนิ่นๆ ดีกว่า แต่นี้ไปภัยแล้งมีแต่จะเพิ่มขึ้น เพราะโลกไม่ได้เย็นลง