ทวี สุรฤทธิกุล

พรรคการเมืองไทยไม่ใช่พรรคที่ยึดอุดมการณ์ แต่ขึ้นอยู่กับว่า “ใครเป็นเจ้าของพรรค”

ถ้าจะมองด้วยภาพของความเป็นเจ้าของพรรค พรรคการเมืองไทยในปัจจุบันอาจจะแบ่งได้ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือกลุ่มแรกพรรคการเมืองที่มี “พวกอำนาจเก่า” เป็นเจ้าของพรรค ได้แก่ พรรคที่แอบอิงระบบราชการ กลุ่มทุน และกลุ่มผู้มีอิทธิพล กับอีกกลุ่มหนึ่งก็คือพรรคการเมืองที่ต่อต้านหรืออยู่ฝ่ายตรงข้ามกลุ่มอำนาจเก่าเหล่านั้น

กลุ่มหลังนี่เองที่เป็นฝ่ายชูประเด็น “ปฏิรูปกษัตริย์” ที่ผู้เขียนได้ทิ้งท้ายไว้ในบทความนี้เมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งแนวคิดนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่ได้มีมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นั้นแล้ว ดังที่ได้เห็นการเกิดขึ้นของกบฏหมอเหล็ง ในตอนต้นรัชกาลที่ 6 นั้น ที่มีกลุ่มทหารผู้น้อย นำโดย ขุนทวยหาญพิทักษ์ (ร้อยเอกนายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์) ผู้บังคับการโรงเรียนแพทย์ทหารบก แม้ว่าจะไม่สำเร็จ แต่ก็เป็น “เชื้อไฟ” ให้กับคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ดังที่ผู้นำของคณะราษฎรได้กล่าวถึง ซึ่ง “มรดกคณะราษฎร” ก็ยังไม่ดับมอด แต่ยังสุมอยู่ในแนวคิดของพรรคการเมืองบางพรรคในยุคนี้ อันเป็นเรื่องน่าคิดว่า ทำไมแนวคิดดังกล่าวจึงไม่ดับมอด ทั้งยังมีทีท่าว่าจะรุนแรงยิ่งขึ้น ๆ อีกด้วย

ย้อนไปตอนที่เกิดกบฏหมอเหล็ง ตามข้อมูลของบทความวิชาการเรื่องนี้ของสถาบันพระปกเกล้า อธิบายว่าเกิดจากความขัดแย้งระหว่างทหารผู้น้อยกับบรรดาข้าราชบริพารที่รวมถึงขุนนางที่ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์นั้นเป็นสำคัญ ซึ่งก็ตรงกันกับเรื่องราวในทำนองเดียวกันนี้ที่ผู้เขียนได้ยินจากปากของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ตอนนั้นท่านยังเป็นเด็กและได้ไปวิ่งเล่นในพระราชวังพญาไท ภายหลังจากที่กบฏหมอเหล็งได้ผ่านไปไม่กี่ปี โดยท่านเล่าว่าเด็ก ๆ ล้วนเกลียดกลัวพวกขุนนางผู้ใหญ่บางท่าน ถึงขั้นมีการเอากลอนล้อเลียนขุนนางผู้นั้นมาท่องล้อเลียนกันอย่างสนุกสนาน ความขัดแย้งเช่นนี้จึงมีอยู่จริงในสมัยนั้น

พอถึงคราวที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็กำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ที่ประเทศอังกฤษ พอได้ข่าวเรื่องคณะราษฎรยึดอำนาจพระมหากษัตริย์ได้ ก็มีนักเรียนไทยจำนวนไม่น้อยแสดงความดีใจ บางคนถึงกับพูดว่า เจ้าพวกเก่าจะได้หมดอำนาจไปเสียที (โดยนัยของคำว่า “เจ้าพวกเก่า” ก็คือพวกขุนนางที่ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์นั่นเอง) ทั้งยังได้จัดงานเลี้ยงฉลองกันอย่างเอิกเกริกอีกด้วย

ผู้เขียนกล่าวถึงอดีตทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ขึ้นมา ก็เพื่อจะบอกว่าคนรุ่นใหม่ในสมัยก่อนก็ไม่ได้เกลียดชังพระมหากษัตริย์โดยตรง แต่มีลักษณะที่เชื่อมโยงเข้ากับ “สภาพแวดล้อม” รอบพระองค์นั้นด้วย ที่สำคัญก็คือพวกผู้คนที่แสวงหาอำนาจจากความใกล้ชิดพระมหากษัตริย์ รวมถึงสถานะส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์เอง ที่อยู่ในสภาพ “แตะต้องไม่ได้” แต่ก็มีขุนนางหรือข้าราชบริพารละเมิดสิ่งนี้ ที่นำเรื่องส่วนพระองค์ต่าง ๆ ออกมาพูดคุย ส่วนหนึ่งก็เพื่ออ้างถึงความใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท และอีกส่วนหนึ่งก็เพื่อเสริมบารมีว่าเป็นคนที่กระทำในสิ่งที่หวงห้ามได้ ตลอดจนเพิ่มพูนอิทธิพลในหน้าที่ราชการ ว่ามีอำนาจเหนือขุนนางและข้าราชการอื่น ๆ ที่ในยุคนั้นเรียกว่า “ขุนนางผู้ใหญ่ - ผู้น้อย” และ “ข้าราชการเมืองหลวงกับข้าราชการบ้านนอก”

ประเด็นเรื่อง “ขุนนางกับความใกล้ชิด” มาเกิดขึ้นอีกครั้งในยุคหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ที่ทหารในฝ่ายจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการแย่งชิงกันเป็นใหญ่กับพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่แล้วก็พ่ายแพ้แก่พลเอกสฤษดิ์ ที่ต่อมาภายหลังได้มีตำแหน่งเป็นจอมพล รวมถึงเจ้าของแนวคิดของกองทัพกับการพิทักษ์พระมหากษัตริย์ และผู้สร้างอุดมการณ์การเมืองการปกครองไทย ที่ว่าด้วยการปกป้อง “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” อย่างที่นักรัฐศาสตร์เรียกแนวคิดนี้ว่า “ทหารผู้พิทักษ์” ซึ่งแนวคิดนี้ได้พัฒนาขึ้นอย่างเข้มแข็ง แม้ว่าจะถูกกีดกันออกไปจากระบบการเมืองชั่วครู่ในเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ที่พวกคนรุ่นใหม่ต้องถูกยึดอำนาจคืนจากทหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จากนั้นทหารก็ได้อาศัยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 สถาปนาระบอบ “ทหารผู้จงรัก” ด้วยการผสานกลุ่มทหารและข้าราชการที่อยู่ในวุฒิสภา ให้มีอำนาจเช่นเดียวกันกับกลุ่มนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง โดยทหารได้ฟื้นสู่อำนาจด้วยการยึดโยงกองทัพเข้ากับพระมหากษัตริย์อย่างมั่นคงในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ช่วงนี้ผู้เขียนทำงานเป็นเลขานุการของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ตอนนั้น(ต้นปี 2523)พรรคกิจสังคมเป็นฝ่ายค้าน แต่พอหลังตรุษจีนก็มีข่าวลือว่าจะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี สื่อมวลชนสมัยนั้นเรียกว่า “ข้อมูลใหม่” ซึ่งก็หมายถึงมีการ “อ้างถึง” พระมหากษัตริย์ว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ครั้นเดือนมีนาคม พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรีก็ถูกยื่นซักฟอก แต่ท่านก็ชิงลาออก แล้วสภาก็เลือกพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายทหารบ้านนอก ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไฟเขียวให้พรรคกิจสังคมยกมือสนับสนุนอย่างเต็มที่ แล้วก็ร่วมหัวลงโลงรักกันบ้างแยกกันบ้างจนถึงรัฐบาลเปรม 5 ใน พ.ศ. 2530 จึงได้มีฎีกาจาก 99 นักวิชาการ ขอให้พลเอกเปรมลาออก ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ให้การสนับสนุนด้วย

เหตุผลที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เห็นด้วยกับกลุ่มนักวิชาการก็คือ “พระมหากษัตริย์กำลังอยู่ในอันตราย” เพราะมีการ “แอบอ้างและแอบอิง” กันมากเหลือเกิน แม้แต่นายกรัฐมนตรีพลเอกเปรมเองก็ถูกทหารด้วยกันก่อกบฏและลอบสังหาร จนถึงขั้นต้องพาพระเจ้าอยู่หัวไปประทับหลบภัยอยู่โคราชในตอนกบฏ 1 - 4 เมษายน 2524 พอปี 2529 ก็ถูกล้อมวังจากพวกกบฏ “พี่น้องรูปขจร” รวมถึงที่ถูกลอบยิงด้วยจรวดอาร์พีจีในค่ายทหารที่ลพบุรีอีกด้วย ในขณะที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ผู้ได้ฉายาว่า “โอชิน” (ตามชื่อนางเอกภาพยนตร์โทรทัศน์ญี่ปุ่น ที่มีชีวิตสุดแสนลำบากเพราะต้องเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ มาตลอดชีวิต) ที่อุ้มชูดูแลพลเอกเปรมมาด้วยดี ก็ยังกระเตงต่อไปไม่ไหว และเห็นว่าพลเอกเปรมควรลงจากตำแหน่งนั้นด้วย

เรื่อง “ภัยคุกคามสถาบันพระมหากษัตริย์” นี้เป็นเรื่องสำคัญ และมีผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน (รวมทั้งคาดว่าในอนาคตไปอย่างยาวนาน) คงต้องขออธิบายเชื่อมโยงให้เห็น(เท่าที่จะทำได้)อีกสักเล็กน้อย เพื่อจะได้เข้าใจว่า คนรุ่นใหม่ในทุกวันนี้(และในวันต่อไป)ทำไมจึงมีมุมมอง “พิกล ๆ” ต่อพระมหากษัตริย์ โดยจะแง้ม ๆ ไว้ก่อนแต่เพียงว่า ทั้งหมดนี้เกิดจากพิษภัยของกลุ่มคน ที่แม้จะไม่ได้รวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองตรง ๆ แต่ก็มีการเกาะกลุ่มกันเหมือนว่าเป็นพรรคการเมืองกลาย ๆ ภายใต้ชื่อว่า “อำมาตย์”

อันเป็นที่มาของระบอบการปกครองแบบไทย ๆ ในสมัยต่อมาว่า “อำมาตยาธิปไตย”