เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phogphit

เมื่อสามสี่ปีก่อน พายุเข้าอีสาน หนองหาร สกลนคร หลากล้นเข้าท่วมชุมชนที่อยู่รายรอบ หลายหมู่บ้านของเทศบาลตำบลเชียงเครือก็ถูกน้ำท่วม แต่ส่วนใหญ่อยู่ไม่นาน โดยเฉพาะในตัวตำบลเชียงเครือเอง ปัจจัยสำคัญ คือ มีธนาคารน้ำใต้ดิน

หกเจ็ดปีก่อน ผู้นำเทศบาลตำบลนี้ได้บทเรียนจากวิทยากรศิษย์หลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ ที่หนองคาย ลงมือทำ “ธนาคารน้ำใต้ดิน” ทั้งระบบเปิดและระบบปิดไปทั้งตำบล มีสระน้ำกว่า 20 สระ เพื่อเป็นที่รองรับน้ำเป็นระบบเปิด มีห้วยอีก 5 สาย และมีบ่อปิดในครัวเรือนและตามถนนหนทางที่สาธารณะอีกกว่า 4,000 แห่ง

แนวคิดเรื่องธนาคารน้ำใต้ดินมีมานาน หลวงพ่อสมานกลับจากสหรัฐอเมริกานำแนวทางดังกล่าวมาทดลองและเผยแพร่ หลายปีที่ผ่านมาจึงมีการดำเนินการไปในชุมชน อบต. เทศบาลแหลายแห่งทั่วประเทศ

หลักการสำคัญของธนาคาน้ำใต้ดิน คือ การหาวิธีกักเก็บน้ำฝนไม่ให้ไหลลงไปในแม่น้ำที่ไหลงทะเลทั้งหมด แต่กักเก็บไว้ใต้ดินด้วย เพื่อให้มีน้ำใช้ในหน้าแล้ง และไม่ให้น้ำท่วมเมื่อฝนตกหนักพายุมา

วิธีทำแบบเปิดนั้นมีต้นทุนที่ทางอบต.หรือเทศบาลเป็นผู้ขุดในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อสาธารณประโยชน์ ส่วนแบบปิดนั้น แต่ละบ้านสามารถขุดได้ในบริเวณบ้านของตนเอง เพื่อให้น้ำฝนและน้ำใช้จากบ้านไหลลงไปใต้ดิน ผ่านหลุมที่มีกรวดหิน ขวดพลาสติกถมลงในบ่อเล็กๆ เมื่อถมดินแล้วก็มีท่อพีวีซีระบายอากาศโผล่ขึ้นมาบนพื้น ทำให้น้ำไหลลงใต้ดินได้โดยเร็ว

ตำบลเชียงเครือได้พิสูจน์ว่า เมื่อฝนตกหนักที่เคยท่วมขังเป็นวันๆ หายไปใน 30 นาที ทำให้ไม่มีน้ำเน่าน้ำเสีย ที่เพาะพันธ์ยุงลาย พาหะไข้เลือดออก หน้าแล้งก็มีน้ำใช้เพื่อการทำนา นำสวน

ธนาคารน้ำใต้ดินมีหลักวิชาที่ต้องมีผู้รู้ให้คำแนะนำว่า ควรขุดบ่อขุดสระที่ไหน ซึ่งผู้รู้มีประสบการณ์สูงอย่างอาจารย์โกวิท ดอกไม้ จากอุบลฯ และหลายท่าน ดูจากแผนที่กูเกิลที่คนส่งไปขอคำแนะนำก็บอกได้ว่า ควรขุดที่ไหน ทิศไหนของแหล่งน้ำธรรมชาติ แม่น้ำ ห้วยหนองคลองบึง จึงจะได้น้ำและยั่งยืน

ส่วนการขุดบ่อเล็กๆ ตื้นๆ แล้วถมด้วยหินเล็กในบริเวณบ้านนั้นทำง่าย ดูตัวอย่างในยูทูบก็ทำได้ พิสูจน์แล้วว่า น้ำจะไม่ขังท่วมบริเวณบ้าน วัด โรงเรียน พื้นที่สาธารณะอีกต่อไป

ตามหมู่บ้านที่ขุดร่องน้ำเพื่อให้น้ำฝนและน้ำใช้ไหลจากที่สูงลงไปที่ต่ำ ไปไหนก็ไม่รู้ ก็มีการขุดร่องเล็กๆ ถมด้วยหินเล็กๆ ไม่ต้องเสียงบประมาณทำร่องวางท่อหรือเทปูน แล้วปิดด้วยแผ่นปูน ข้างถนนที่มีร่องถมด้วยหินแบบนี้น้ำจะไหลลงใต้ดินโดยเร็ว จอดรถข้างถนนก็ได้ ไม่ต้องกลัวไปทับฝาปูน น้ำไม่ขัง ยุงก็ไม่มี

ประเทศไทยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำโดยการเจาะน้ำบาดาล เจาะกันจนพรุนไปทั้งประเทศแล้ว เพื่ออุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตรโดยหน่วยงานของรัฐทำการขุดเจาะกว่า 110,000 บ่อ โดยเอกชน 140,000 บ่อ ความลึกตั้งแต่หลายสิบไปถึงหลายร้อยเมตร

ถ้าเราขุดและสูบน้ำจากใต้ดินมาใช้อย่างเดียว ปล่อยให้น้ำฝนไหลลงทะเลหมด อีกไม่นาน น้ำใต้ดินก็คงเหือดแห้งไปไม่เหลือ และคงต้องขุดลึกลงไปเรื่อยๆ

การปลูกป่าก็มีส่วนสำคัญในการสร้าง “ธนาคารน้ำใต้ดิน” ไม่เช่นนั้น เราคงไม่เห็นน้ำตกมากมายที่มีน้ำตกตลอดปีหรือเกือบตลอดปี ไม่เห็นน้ำในแม่น้ำที่ไหลมาจากห้วยจากต้นน้ำเล็กๆ บนเขาบนดอย ซึ่งบรรดาต้นไม้น้อยใหญ่นับแสนนับล้านต้นเก็บน้ำไว้ที่รากของมัน

อย่างไรก็ดี ต้นไม้บางชนิดที่ปลูกกันทันสมัยเป็นร้อยไร่พันไร่อย่างต้นยูคาลิปตัสก็ให้ผลเสีย เพราะแต่ละต้นกินน้ำวันละ 70 ลิตร ถ้าปลูกแปลงใหญ่ 10,000 ต้น กินน้ำวันละ 700,000 ลิตร น้ำใต้ดินจะเหลือหรือ

เมื่อ 30 กว่าปีก่อน ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ที่บ้านห้วยหิน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ขอร้องเครือข่ายคนรักธรรมชาติให้ช่วยกันซื้อที่ดินคนละแปลงเล็กๆ ที่ตำบลลาดกระทิง เพราะมีข่าวว่า นายทุนกำลังกว้านซื้อที่ดินรวมเป็นแปลงใหญ่เพื่อปลูกยูคา และชาวบ้านก็อยากขายด้วย

ผู้ใหญ่วิบูลย์ “เจ้าสำนักวนเกษตร” เป็นห่วงว่า ถ้าปลูกยูคาเป็นพันไร่คงทำให้เกิดความแห้งแล้งอย่างแน่นอน เพราะเท่าที่มีการปลูกกันประปรายก็พบว่า ทำให้พื้นที่ใกลเคียงแห้งแล้ง ผู้ใหญ่ได้ขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องศึกษาหาข้อมูลเรื่องนี้ และพบจากการวิจัยว่า การปลูกยูคามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจริง

การปลูกป่า ปลูกไม้หลายชนิดเลียนแบบป่าเหมือนวนเกษตรของผู้ใหญ่วิบูลย์ไม่ได้ทำให้เกิดความแห้งแล้ง เพราะไม้น้อยใหญ่หลายชนิดเกื้อกูลกัน

ที่ตำบลศิลาแลง อำเภอปัว จังหวัดน่าน เมื่อกว่า 50 ปีก่อน ชาวบ้านเริ่มพบว่า ขาดน้ำทำนาทำสวน เมื่อร่วมกันศึกษาก็พบสาเหตุการตัดไม้ทำลายป่าจนเกือบเตียน จึงร่วมกันตั้งกฎกติการักษาป่ากว่า 10,000 ไร่ ไม่ให้ตัดไม้ และช่วยกันป้องกันไฟป่า

เพียง 10 ปีเศษ ป่าศิลาแลงก็กลับมาแน่นหนาเหมือนเดิม น้ำที่เคยเหือดแห้งก็กลับมาสมบูรณ์ นับเป็นประสบการณ์ที่ชาวบ้านภูมิใจที่สามารถจัดการดิน น้ำ ป่า ด้วยตนเอง

ความจริง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ก็ทรงเคยมีพระราชดำรัสว่า การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมนั้น ถ้าไม่ตัดไม้ทำลายป่า ไม่ให้เกิดไฟไหม้ ป่าก็จะกับฟื้นคืนมาเอง

บ้านเรามีเรื่องราวดีๆ กรณีเด่นๆ จำนวนมากที่สามารถไปเรียนรู้ดูงานได้ เห็นเทศบาล อบต. มีงบประมาณเหลือปลายปี น่าจะจัดไปดูงานจริงๆ จะได้ประโยชน์มากกว่าการใช้งบประมาณพาคนไปเที่ยว

ที่ “เชียงเครือ” มีคนไปศึกษาดูงานเรื่อง “ธนาคารน้ำใต้ดิน” มาก จนถูกเรียกเป็น “เชียงเครือโมเดล” และได้รับรางวัลจาก “อินเดีย” ในเรื่องการจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังไม่ได้รับรางวัลจากเมืองไทย

กลุ่มอนุรักษ์ป่าศิลาแลง (“ป่าคือชีวิต น้ำคือสายเลือด”) ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว เช่นเดียวกับบุคคล และชุมชนอีกจำนวนมาก ส่วนใหญ่มาจากการไปศึกษาดูงาน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นและหัวใจของการแก้ปัญหา เพราะถ้าไม่เน้นที่การเรียนรู้ ไม่ใช้ปัญญา ก็แก้ปัญหาภัยแล้งแบบยั่งยืนไม่ได้