รศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล ในที่สุดวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ก็ผ่านไปพ้นไปกับ “การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา” ที่ทุกฝ่ายเฝ้าจับตาดูการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในครั้งนี้ เนื่องด้วยทั้งนางฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนพรรคเดโมแครต (DEMOCRAT) กับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกัน (REPUBLICAN) ที่ต่างมีบุคลิกภาพ นโยบาย อุดมการณ์ และหลักการที่สุดโต่งทั้งคู่ กล่าวคือ นายทรัมป์นั้นมีนโยบายและหลักการที่แทบจะจับสหรัฐอเมริกาหันหลังให้กับโลกอย่างสุดโต่ง ไม่ว่ากีดกันทางการค้า กีดกันชาวต่างชาติ พร้อมประกาศสงครามกับสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมทั้งตั้งกำแพงภาษีอย่างสูงกับกลุ่มมหาเศรษฐี หรือกล่าวอย่างภาษาชาวบ้านว่า “ทรัมป์ดิบมาก!” กับการดำเนินนโยบายที่กลับหลังหันกับ “สังคมโลก” แทบจะเด็ดขาด ส่วนถ้าได้เป็นประธานาธิบดีแล้วจะทำได้หรือไม่นั้น นั่นเป็นอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น ถึงแม่ว่าจะมี “อำนาจมาก” แต่ก็ต้องฟังทั้งคณะที่ปรึกษาจากพรรค จากผู้ใกล้ชิด และจากสมาชิกสภาคองเกรสทั้งนี้คงไม่ง่ายนักที่จะ “ทุบโต๊ะ!” ส่วนนางคลินตันนั้น น่าจะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่านายทรัมป์อย่างมาก เนื่องด้วยเธอเคยเป็นอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของอดีตสามีประธานาธิบดีบิล คลินตัน ตามด้วยอดีตวุฒิสมาชิกจากรัฐนิวยอร์ค และอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา สมัยแรก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง หมายความว่า “เธอโชกโชนและแพรวพราวทางการเมืองมาก” ด้วยทั้งประสบการณ์ และที่สำคัญ “ความสลับซับซ้อน” หรือ “ความลึกซึ้งทางการเมือง” ที่มีมากกว่าทรัมป์อย่างมาก ที่เป็นเพียงนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ร่ำรวยจนเป็นมหาเศษฐี แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็น “นักปฏิบัติ” ที่ประสบความสำเร็จด้วย “เล่ห์เหลี่ยมทางการค้า” ส่วนนางคลินตัน “เล่ห์เหลี่ยมทางการเมือง!” แต่ถ้าถามว่าจะเอา “พ่อค้า” กับ “นักการเมือง” มาบริหารประเทศชาตินั้น ก็ต้องบอกว่า “ดีไปคนละอย่าง!” แต่ความเป็นนักการเมืองต้อง “ละเอียดอ่อน-ลึกซึ้ง-ซับซ้อน” ในการที่จะต้องบริหารประเทศ ประกอบกับ “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” และ “สิ่งแวดล้อม” ที่โลกยุคใหม่นั้นต่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ที่ต้องเชื่อมโยงกับนานาอารยประเทศ ไม่ว่า ด้านการค้า การลงทุน ที่แน่นอน “ผลประโยชน์ทางธุรกิจ” มีความสำคัญมากกับสหรัฐอเมริกา ที่ต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกับประเทศจีนและกับประเทศเยอรมนี บวกกับประเทศญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน “พลังงานทดแทน” หรือ “กรีนอีเนอร์จี (GREEN ENERGY)” ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน ซึ่ง “นักการเมือง” จำต้องคิดและคำนวณอย่างรอบคอบและลึกซึ้งที่สุด แต่ทรัมป์เองนั้น น่าสงสัยว่า “การตัดความสัมพันธ์กับโลก” พร้อมทั้ง “กีดกันทางการค้า” นั้นจะทำให้อเมริกาเจริญรุดหน้าพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกต่อไปได้หรือไม่ จนมีนักวิเคราะห์ว่า ถ้านายทรัมป์เป็นประธานาธิบดีอาจเกิด “สงครามโลกครั้งที่ 3” ก็เป็นได้! คนอเมริกันมีประชากร 330 กว่าล้านคน ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งน่าจะประมาณ 200 กว่าล้านคน แต่ผู้ที่จะมาใช้สิทธิเลือกตั้งนั้นน่าจะประมาณ 52 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคิดแล้วน่าจะประมาณ 100 กว่าล้านคน แต่ทั้งนี้ “ความไม่แน่ใจ” ว่าจะเลือกใครและ “เพื่อประเทศชาติ” กรณีนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ชาวอเมริกันต้องคิดถึง “อนาคตของประเทศชาติ” และที่สำคัญมากไปกว่านั้น “ยุคสังคมโลกาภิวัฒน์” ที่อเมริกายังต้องดำรง “ความเป็นผู้นำโลก” อีกต่อไป โดยแน่นอนที่ต้องประสานเชื่อมโยงกับจีนอย่างแน่นอน และแม้กระทั่งรัสเซียก็เช่นเดียวกัน ที่ต้องอาศัย “การทูต (DIPLOMAT)” อย่างมากเพื่อแลกเปลี่ยนประโยชน์ซึ่งกันและกัน ซึ่งไม่ทราบว่าชาวอเมริกันเข้าใจหรือไม่! แต่ในที่สุดแล้ว “การชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ” เมื่อวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ต้องเรียกว่า “หักปากกาเซียน” กันทั่วโลก แม้กระทั้งในอเมริกาเองที่ “ช็อค!” กันอย่างมาก จนทำให้ทุกสำนักสำรวจ ตลอดจนสื่อมวลชนทุกแขนง “หงายเก๋ง-หงายหลัง!” กันถ้วนหน้า ที่ต่างถามว่า “เกิดอะไรขึ้นกับคะแนนที่นายทรัมป์ได้สูงถึง 288 จากอิเล็คโทรลัลโหวต!” จริงๆ แล้ว ถามว่า คนอเมริกันนั้นต่าง “สองจิตสองใจที่ไม่รู้จะเลือกใครระหว่างนายทรัมป์กับนางคลินตัน” เพราะความเชื่อว่า “ไม่มีใครดีกว่าใคร!?!” แต่ก็ต้องเลือกใครคนใดคนหนึ่ง แต่เหตุผลที่เลือกนายทรัมป์นั้น เนื่องด้วย “นโยบาย” นั้นตรงไปตรงมา ภาษาชาวบ้าน และที่สำคัญคือ “ต่อต้านชาวต่างชาติ” โดยเฉพาะ “การก่อการร้าย!” ที่คนอเมริกันหวาดกลัวกันมาก จนทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากเชื่อทรัมป์ว่า “สามารถทำได้!” ทั้งนี้ การที่เกิด “พลิกล็อค!” เช่นนี้ แน่นอนถ้าคาดการณ์แล้วว่าชาวอเมริกันส่วนหนึ่งที่ต้องประท้วงอย่างแน่นอน ซึ่งต้องเรียนตามตรงว่า “ไม่ค่อยสง่างาม!” เลยสำหรับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องรับสภาพอย่างไม่สมศักดิ์ศรีเช่นนี้ ที่ชาวอเมริกันประมาณ 12-15 เมืองที่ไม่ยอมรับ “ผลการเลือกตั้ง” คำถามต่อว่า “จะยืดเยื้อ” หรือไม่อย่างไร และถ้ายืดเยื้อจะบานปลายหรือไม่ ในกรณีนี้คงต้องคาดการณ์กันต่อไปว่า “อะไรจะเกิดขึ้นกับระบอบประชาธิปไตยในอเมริกา!” ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งต้องโปร่งใส ไม่น่ามีอะไรผิดพลาด เพียงแต่ว่า “อารมณ์-ความรู้สึก” ของชาวอเมริกันที่ไม่ชอบนายทรัมป์จึง “รับนายทรัมป์เป็นประธานาธิบดีไม่ได้!” จนถึงขนาดชาวต่างชาติจำนวนมากอาจย้ายกลับถิ่นฐานเดิม หรือชาวอเมริกันเองจำนวนมากจะขอย้ายไปอยู่ประเทศแคนาดา ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจริงก็ได้ มิใช่เป็นการประชดประชันเท่านั้น ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการบริหารและดำเนินนโยบายของนายทรัมป์ว่าจะเป็นไปตามที่หาเสียงไว้หรือไม่ ถ้าเดินตามนั้น ต้องเรียนตามตรงว่า "โกลาหล” อย่างแน่นอน! อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งในอเมริกาก็จบสิ้นแล้ว การประท้วงกำลังเกิดขึ้นจะบานปลายขนาดไหนคงต้องติดตามกัน แต่ผมค่อนข้างมั่นใจว่า “ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์” นั้น น่าจะหักเหนโยบายให้นุ่มนวลลงมาแทบทุกนโยบายที่ตอนหาเสียง เสมือนว่าต้องการเอาใจคนอเมริกัน แต่อย่าลืมว่า “สหรัฐอเมริกานั้นเป็นมหาอำนาจของโลก” คงจะไม่ยอมปิดประเทศเพื่อซ่อมแซมปรับปรุงถึงขนาดนั้น คงจะต้องดำเนินนโยบายเพื่อประโยชน์ของอเมริกาเอง โดยการบริหารประเทศนั้นต้องยอมรับว่า “ยากส์!” อย่างแน่นอน!