ทวี สุรฤทธิกุล “ก่อนจะยึดอำนาจพากันคิดอยู่หลายเดือน” คือคำพูดตอนหนึ่งของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ในคืนหนึ่งของการพบปะกับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หลังการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 บนโต๊ะอาหารที่ห้องประชุมภายในกองบัญชาการกองทัพบก ตรงข้ามสนามมวยราชดำเนิน ท่ามกลางทหารและ สนช.กว่า 300 คน ในโอกาศการพบปะอย่างเป็นทางการครั้งแรกของคณะรัฐประหารกับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พลเอกสนธิพูดเปิดใจถึงการยึดอำนาจว่า “เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง” ในฐานะที่ตนเองเป็นผู้บัญชาการทหารบก ผู้คุมกำลังหลักในการปกป้องประเทศซึ่งประกอบด้วย 3 สถาบันหลัก คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ในขณะที่ “ชาติ” คือประชาชนกำลังถูกแบ่งแยกให้ขัดแย้งสู้รบกัน “ศาสนา” ก็เสื่อมทราม แต่ที่เป็นวิกฤติหนักที่สุดก็คือ “พระมหากษัตริย์” ที่นักการเมืองบางกลุ่มไม่ได้มีความจงรักภักดี เมื่อตกลงใจแล้วว่าต้องยึดอำนาจ สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาหนักใจของคณะรัฐประหารก็คือ “จะใช้ชื่อคณะรัฐประหารนี้ว่าอะไรดี?” ผู้ที่ทำหน้าที่ค้นคว้าเพื่อจัดตั้งชื่อให้คณะรัฐประหารก็คือ พลเอกวินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหมในฐานะ(ว่าที่)เลขานุการคณะรัฐประหาร (โดยหลังรัฐประหารได้มีตำแหน่งเป็นเลขาธิการ คปค.) ซึ่งท่านได้ไปพบข้อมูลว่ามีชื่อแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ของแต่ละยุคสมัยและแต่ละผู้นำ ถ้าไม่นับ “คณะราษฎร” ที่มีการเตรียมการมานานและมีชื่ออย่างหรูหราพร้อมด้วยความหมายที่ลึกซึ้งแล้ว หลังจากนั้นมาในการรัฐประหาร2ครั้งใหญ่ๆ คือใน พ.ศ. 2490 โดยพลโทผิน ชุณหวัน และใน พ.ศ. 2500 โดยพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั้น ไม่ได้มีการตั้งชื่อที่วิลิศมาหราอะไร คงใช้แค่คำว่า “คณะปฏิวัติ” ห้วนๆ ไปอย่างนั้น กระทั่งมาในคราวรัฐประหารของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ในวันที่ 6ตุลาคม 2519 จึงได้มีการตั้งชื่อคณะรัฐประหารให้โดดเด่น ในชื่อว่า “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ซึ่งก็มีการวิเคราะห์จากสื่อมวลชนว่า คณะรัฐประหารคงต้องการลดความแข็งกร้าวของชื่อที่เคยใช้คำว่า “ปฏิวัติ” นั้นลง จึงนำคำว่า “ปฏิรูป” มาใช้แทน เพราะหลังจากที่นักศึกษาและประชาชนได้ขับไล่ทหารออกไปเสียจากเวทีการเมืองชั่วคราว ในเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ภาพลักษณ์ของทหารก็ตกต่ำลงไปมาก (ขนาดที่ว่าทหารชั้นผู้น้อยที่ต้องนั่งรถเมล์ไปทำงาน ต้องแต่งตัวแบบธรรมดาขึ้นรถเมล์ ก่อนที่จะไปเปลี่ยนเป็นเครื่องแบบทหารในที่ทำงาน และก่อนกลับบ้านก็ต้องเปลี่ยนเป็นชุดธรรมดาทุกวัน) ประเทศไทยมีการทำรัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534ครั้งนี้ใช้ชื่อว่า “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” มีชื่อย่อว่า “รสช.” นำโดยพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ซึ่งก็มีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าฟังดูคล้ายๆ ชื่อของคณะรัฐประหารพม่า ที่ใช้คำในภาษาอังกฤษว่า State Law and Order Restoration Council [SLORC] อย่างไรก็ตามผู้นำทหารในกลุ่มนี้ได้ปกฺเสธว่าไม่ได้ลอกเลียนแบบพม่า เพียงแต่อยากจะให้มีชื่อที่ “สุภาพเรียบร้อย” เพื่อไม่ให้สังคมมีความหวาดกลัวและวิตกกังวลต่อการขึ้นมาปกครองประเทศของทหารนั้น ก่อนที่จะเกิดการรัฐประหารในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ประเทศไทยอยู่ในภาวะวุ่นวายเป็นอย่างมาก (ดังเหตุผลของคณะรัฐประหารที่ผู้เขียนได้นำมาลงในสัปดาห์ก่อน) ตั้งแต่กระบวนการ “คนเสื้อเหลือง” หรือ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ที่ก่อตัวขึ้นต่อต้านระบอบทักษิณตั้แต่ปลายปี 2548 ที่ออกมาเปิดเผยถึง “ขบวนการล้มเจ้า” ภายใต้ระบอบทักษิณ จากนั้นเมื่อการประท้วงถึงขีดสุดในเดือนสิงหาคม ๒2549 ที่มีการล้อมทำเนียบรัฐบาลอยู่กว่าครึ่งปี (มีการนับได้ 193 วัน) ก็มีการนำเรื่องของการปกป้องสถาบันมาเป็นประเด็นสำคัญและเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ในครั้งนี้ด้วย สำหรับชื่อของคณะรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่ชื่อว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (คปค.) ก็มีผู้ไปสืบค้นว่าที่พลเอกวินัย ภัททิยกุล เลขาธิการ คปค.ในฐานะผู้รับผิดชอบการตั้งชื่อให้กับคณะรัฐประหาร เลือกชื่อนี้มาตั้งก็อาจจะด้วยเหตุที่มีภรรยาเป็นหลานของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ จึงเอาชื่อของคณะปฏิรูปการปกครองในครั้งนั้นมาเป็นชื่อแรก แล้วจึงนำคำว่า “ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มาต่อท้าย อย่างไรก็ตามจากการเปิดเผยของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ในคืนที่พบปะกับ สนช.อย่างเป็นทางการหลังการรัฐประหารนั้น ท่านบอกว่าเป็นเพราะต้องการที่จะ “หยัดย้ำ” ความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งในฐานะที่ท่านเป็นทหาร ท่านก็ถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องปกป้องและเชิดชู ร่วมกับในฐานะที่ทหารก็เป็นคนไทยก็ยิ่งจะต้องเคารพเทิดทูนเหนือชีวิต ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ที่มีต่อชาติบ้านเมือง ยิ่งไปกว่านั้นในฐานะที่ทหารเป็น “หลักทางการเมืองการปกครอง” ที่สำคัญมาแต่โบราณร่วมกับองค์พระมหากษัตริย์ ก็ยิ่งจะต้องถือเป็นความรับผิดชอบต่อชาติบ้านเมืองอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ต่อมา คปค. ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” (คมช.) ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2549 แต่กระนั้นบทบาทหน้าที่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง คือยังคง “ยึดมั่น” ในการปกป้องและเทิดทูนพระมหากษัตริย์ไว้อย่างมั่นคง แม้ว่าในทางการบริหารประเทศอาจจะ “ไม่ได้ดังใจ” คือไม่บรรลุวัตุประสงค์ในการปกครองประเทศหลายๆเรื่อง รวมทั้งเรื่องการกำจัด “ระบอบทักษิณ” แต่ก็ “หยัดย้ำ” ว่า “ไม่มีใครที่จะมาล้มล้างสถาบันอันเป็นที่เคารพสูงสุดนี้ได้”