ทวี สุรฤทธิกุล

ว่ากันว่าประเทศของเราปกครองโดยกลุ่มคนที่มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ กลุ่มคนพวกนั้นก็คือ พรรคการเมืองที่อยู่ “นอก” หรือ “เหนือ” รัฐธรรมนูญ นั่นเอง

กลุ่มคนพวกนี้เรียกกันด้วยคำเปรียบเปรยว่า “อำมาตย์” เพราะถ้าแปลความหมายตรง ๆ อำมาตย์จะแปลว่าขุนนางหรือข้าราชการเท่านั้น แต่ในความหมายสมัยใหม่ได้รวมเอาพวกคนที่มาร่วมใช้อำนาจกับขุนนางและข้าราชการ ที่หมายถึง “ผู้ทรงอิทธิพล” ในหลาย ๆ วงการ มาร่วมกันใช้อำนาจเหนือการปกครองตามปกติ

ในแวดวงวิชาการรัฐศาสตร์ ต่างก็ยอมรับโดยอ้อมว่า “กองทัพ” คือพรรคการเมืองที่มีบทบาทสำคัญในทางการเมืองไทย เพียงแต่ไม่ใช่พรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีความหมายตรงกันกับคำนิยามที่ใช้กันในทางสากล ที่กล่าวว่า “พรรคการเมืองคือกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์คล้ายคลึง มาร่วมกันแข่งขันเพื่อให้ได้อำนาจเข้าปกครองและบริหารประเทศ ตามอุดมการณ์ซึ่งก็หมายถึงนโยบายของแต่ละพรรคนั้น” ทั้งนี้กองทัพหรือทหารในประเทศไทยก็คือกลุ่มคนที่ได้ช่วงชิงอำนาจ แล้วปกครองบริหารประเทศมาโดยตลอด ด้วยการทำรัฐประหาร อันเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ จึงอาจจะเรียกได้ว่าทหารคือกลุ่มคนที่มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญมาอย่างยาวนาน

ประเทศไทยมีพรรคการเมืองเกิดขึ้นครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2489 โดยเป็นพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง ที่เกิดจากพวก สส.ได้มารวมกลุ่มกันเพื่อสนับสนุนคนที่จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คือฝ่ายที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ พวกหนึ่ง กับฝ่ายที่สนับสนุนนายควง อภัยวงศ์ อีกพวกหนึ่ง ซึ่งฝ่ายของนายปรีดีรวบรวม สส.ได้มากกว่า จึงเป็นฝ่ายที่ได้บริหารประเทศ แต่โชคร้ายว่าได้เกิดกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ในปีต่อมา และทหารก็ได้เข้ายึดอำนาจ จนถึง พ.ศ. 2495 ทหารก็ประกาศว่าจะให้มีการเลือกตั้งและมีการปกครองด้วยรัฐสภาโดยเร็ว แต่กระนั้นกว่าจะออกพระราชบัญญัติพรรคการเมืองมารองรับก็ต้องรอถึง พ.ศ. 2498 โดยที่ทหารก็ได้ตั้งพรรคการเมืองขึ้น ชื่อพรรคเสรีมนังคศิลา มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าพรรค แต่พอถึงการเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 รัฐบาลกลัวว่าจะได้ สส.น้อย และจะเสียหน้า จึงใช้กลโกงทุกวิถีทาง ถึงขั้นที่สื่อมวลชนขนานนามว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ “สกปรกที่สุด” อันนำมาซึ่งความวุ่นวายและที่สุดจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็เข้ายึดอำนาจ ด้วยการกระชับอำนาจเข้าสู่ตัวผู้นำและกองทัพอย่างแนบแน่น ดังที่นักรัฐศาสตร์เรียกจอมพลสฤษดิ์ว่า “พ่อขุนอุปถัมภ์เผด็จการ” คือเปรียบเทียบว่าจอมพลสฤษดิ์นั้นทำตัวให้ประชาชนรักเหมือนพ่อ อย่างที่พ่อขุนรามคำแหงเคยก่อตั้งระบอบนี้ แต่ก็ร่วมกันกับความเป็นเผด็จการแบบทหาร พร้อมกับขยายระบบอุปถัมภ์ให้แนบแน่น โดยดึงพวกพ่อค้าและกลุ่มทุนต่าง ๆ เข้ามาร่วมในการสร้างและพัฒนาประเทศ จนมีชื่อเรียกยุคนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “ยุคนายทุนขุนศึก” ที่นักรัฐศาสตร์เชื่อว่านี่คือต้นกำเนิดของอำมาตยาธิปไตย ที่อำมาตย์นั้นรวมหมายถึงทหาร ข้าราชการ และพ่อค้า นั่นเอง

ขอรวบรัดตัดตอนมาถึงยุคที่อำมาตยาธิปไตยน่าจะรุ่งเรืองที่สุด นั่นก็คือในยุคที่ทหารได้แผ่ขยายอิทธิพลเข้าไปในทุก ๆ กลุ่มสังคมอย่างแน่นหนา เพราะเชื่อกันว่าทหารสามารถเกาะกุมอำนาจต่าง ๆ ในทางการเมืองไว้ทั้งหมด นั่นก็คือยุคของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยอำมาตย์ที่เพิ่มเข้ามาก็มีจากกลุ่มพลังทางสังคม เช่น สื่อมวลชนใหญ่ ๆ และผู้นำทางความคิด รวมถึงที่มีการเชื่อมโยงกันว่า น่าจะมีพวกที่ “ใกล้ชิด” และ “อิงฟ้า” นั้นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มทุนใหญ่ ๆ ที่เชื่อกันว่า มีบทบาทอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แม้แต่ในการรัฐประหารที่มีต่อ ๆ มา อย่างในวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็มีการเชื่อมโยงว่า ทหารได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนหลายกลุ่มด้วยกัน รวมทั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็มีข้อมูลว่า กลุ่มทุนต่าง ๆ เข้าไปสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นด้วย ทั้งนี้ก็ไม่ได้เข้าไปสนับสนุนในฐานะผู้ริเริ่มหรือก่อการ แต่เพื่อ “ความอยู่รอด” และการพัฒนาทางธุรกิจในการปกครองใหม่ที่มีทหารเป็นแกนนำนั้น

ผู้เขียนมาทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่ในช่วงนี้ แม้จะไม่มีข้อมูลที่เป็นประจักษ์พยานแบบชัด ๆ แต่ก็สามารถอนุมานหรือเชื่อมโยงได้น่าเชื่อถือพอสมควร กล่าวคือ ทหารตั้งแต่ยุคสฤษดิ์ได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดมาเป็นทหารเพื่อพิทักษ์ราชบัลลังก์ ในขณะเดียวกันทหารก็ต้องเป็นผู้นำในการพัฒนา ซึ่งแนวคิดนี้มาโดดเด่นขึ้นอีกครั้งในสมัยพลเอกเปรม แต่เพิ่มพลังขึ้นด้วยกลุ่มทุนที่เข้ามาอิงแอบทหารหรือแม้กระทั่งสถาบันสูงสุดนั้นด้วย นอกจากนี้ แต่เดิมกลุ่มทุนตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2518 ก็พยายามเข้ามาสู่พรรคการเมือง โดยลงเลือกตั้งในนามพรรคการเมืองต่าง ๆ แล้วพอการเลือกตั้งในครั้งต่อ ๆ มา โดยเฉพาะในปี 2522 ก็มีการส่งลูกหลานมาลงเลือกตั้งมากขึ้นจนสังเกตได้ชัด แต่ที่แน่ ๆ ก็คือกลุ่มทุนต่าง ๆ นั้นจะสนับสนุนพรรคการเมืองทุกพรรคมาโดยตลอด ยิ่งพรรคใดมีขนาดใหญ่ ซึ่งก็จะมีโอกาสได้เป็นรัฐบาล กลุ่มทุนก็จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ จนถึงขั้นที่ได้ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาโดยตรง อย่างกรณีพรรคไทยรักไทยในปี 2544 และพรรคอนาคตใหม่ในปี 2562 หรือพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหัวหน้าพรรคล้วนแต่เป็นนายทุนหรือมาจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ด้วยกันทั้งสิ้น

ตรงนี้แหละที่ผู้เขียนเริ่มมองเห็นว่า ทำไมคนรุ่นใหม่จึง “ชังสถาบัน” ถ้าสมมุติฐานของผู้เขียนไม่ผิด ก็อาจจะเกิดขึ้นจาก “ความผิดหวัง” ที่กลุ่มทุนต่าง ๆ โดยเฉพาะพวกลูก ๆ หลาน ๆ ของกลุ่มทุนเหล่านั้น ได้เห็นบทเรียนจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ ที่หวังพึ่งพิงทหารมากจนเกินไป แต่ก็โดนทหาร “ลวงชิง” เอาประโยชน์ไปค่อนข้างมาก แม้ว่าต่อมาจะมาลงทุนกับพรรคการเมืองต่าง ๆ ก็ไม่มั่นคง เพราะประเทศไทยมีการรัฐประหารบ่อยครั้ง ซึ่งก็ด้วยฝีมือทหารเช่นกัน ถึงขั้นที่มีการเชื่อมโยงว่าทหารจะไม่สามารถทำการรัฐประหารได้ ถ้าไม่มีอะไรที่ให้ “ความเชื่อมั่น” นั้น ทั้งนี้อย่าลืมว่าตั้งแต่ยุคป๋าเปรมนั้น กลุ่มทุนเองก็สามารถเข้าถึง “แหล่งข้อมูลระดับสูง” ได้ด้วยตนเอง ทหารจึงไม่สามารถปิดบังแผนการอันฉ้อฉลต่าง ๆ นั้นได้ ความเสื่อมเสียเช่นนี้จึงไม่ได้ส่งผลแต่เพียงกับกองทัพ แต่ยังกระทบกระเทือนไปถึงสถาบันเบื้องสูงอีกด้วย (อันเป็นเหตุผลหนึ่งที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เห็นด้วยกับฎีกาของนักวิชาการ 99 คน ใน พ.ศ. 2531 ที่ขอให้พลเอกเปรมลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี)

หลายคนยังเชื่อว่าทหารจะยังคงเป็นพรรคการเมืองเหนือรัฐธรรมนูญไปอีกนาน เว้นแต่คนรุ่นใหม่ที่ไม่เชื่อเช่นนั้น ดังนั้นจึงมีความพยายามที่จะโค่นล้มทหาร อันทำให้สถาบันที่ทหารพึ่งพิงนั้น “สะเทือน” ไปด้วย