เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phogphit

ปัจจัยสำคัญที่สุดในโลกวันนี้ คือ อาหารกับพลังงาน ลองพิจารณาความแตกต่างระหว่างสงครามที่ยูเครนกับที่ฉนวนกาซา ปาเลสไตน์

ยูเครนเป็นแหล่งอาหารคน อาหารสัตว์ อาหารพืช อันดับต้นๆ ของโลก รัสเซียมีน้ำมัน มีก๊าซมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เมื่อเกิดสงคราม ผลกระทบจึงเกิดขึ้นทั่วโลก ขณะที่ยูเครนและรัสเซียยังมีอาหารและพลังงาน โดยเฉพาะที่ยูครนแม้บ้านเมืองพังทลาย ยังพอมีอาหาร มีไฟฟ้าจากโรงงานนิวเคลียร์ น้ำก็พอหาได้

รัสเซียเองไม่ได้ขาดอาหารและพลังงาน เพราะผลิตเองจนส่งออก แต่ก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการแซงก์ชันทางเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศในยุโรปที่เคยซื้อน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียก็มีปัญหาหนัก ต้องวิ่งวุ่นไปหาแหล่งใหม่ทั่วโลก สหรัฐอเมริกายังต้องไปง้อเวเนซุเอลาที่ตนเองแซงก์ชันเพราะเป็น “เผด็จการ”

ประเทศในยุโรป เอเชีย และอื่น ที่เคยซื้อข้าวสาลี ธัญพืช น้ำมันพืชและปุ๋ยจากยูเครนก็ได้รับผลกระทบหนัก ราคาอาหารและพลังงานทั่วโลกหลังเกิดสงครามจึงพุ่งสูงขึ้น นี่ก็เข้าปีที่สามแล้ว

ขณะที่สถานการณ์ในฉนวนกาซาน่าเวทนากว่าอีก กองทัพอิสราแอลที่ต้องการกำจัดขบวนการฮามาสที่ถือว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ทำให้ผู้คนเสียชีวิตไปเกือบ 30,000 คนแล้ว ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ผู้หญิงและเด็ก

อิสราแอลไม่ยอมลดละ ประกาศให้ชาวปาเลสไตน์ถอยร่นลงไปทางใต้ เพื่อจะได้ปราบฮามาส จึงถล่มแม้กระทั่งโรงพยาบาลและศูนย์ผู้ลี้ภัย ที่ถือว่าเอาคนไข้และผู้ลี้ภัยเป็นตัวประกัน

องค์การสหประชาชาติและประเทศต่างๆ ส่งอาหาร ยา และสิ่งจำเป็นเพื่อการดำรงชีพ แต่ก็ทำได้อย่างจำกัดด้วยตกลงไม่ได้กับอิสราแอล ชาวปาเลสไตน์นับล้านจึงอยู่อย่างอดอยาก ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ไม่มีน้ำมันและไม่มีที่จะไปอีกแล้ว เพราะถอยไปจนติดชายแดนอียิปต์และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

ฉนวนกาซาเป็นพื้นที่เล็กๆ เพียง 365 ตร.กม. คือยาว 41 กม. กว้าง 6-12 กม. ประชากร 2.4 ล้านคน ต้องพึ่งพลังงานและอาหารจากอิสราแอล แม้ว่าได้รับการอุดหนุนการเงินจากประเทศอาหรับบางประเทศซึ่งยังช่วยดินแดนส่วนนี้ของปาเลสไตน์แม้ว่าจะถูก “ปกครอง” โดย “ฮามาส”

แต่มีเงิน มีอาวุธ ที่ได้รับการอุดหนุนก็ไม่สำคัญเท่ากับอาหารและพลังงาน ที่จำเป็นมากที่สุดในระหว่างที่มีสงครามนี้  อิสราแอล “ถือไพ่” เหนือกว่าเพราะมีอาหาร มีพลังงานที่ปาเลสไตน์ต้องพึ่งพาอาศัย

อิสราแอลใช้ความรู้ใช้ปัญญาเปลี่ยนทะเลทรายเป็นป่าเป็นสวน เป็นไร่นา จ้างต่างชาติรวมทั้งไทยไปทำงานให้ ส่งออกผลผลิตการเกษตร อิสราแอลพึ่งตนเองได้ด้านอาหารและพลังงาน ยังต้องพึ่งเงินและอาวุธจากอเมริกาและยุโรปเท่านั้น “ยิว” ยังเป็นเจ้าของทุนใหญ่ในอเมริกา ยุโรปที่คอยอุดหนุน ไม่ว่าทาง “สภา” หรือทางอื่นๆ  (ขนาดสภาความมั่นคงของยูเอ็นลงมติให้อิสราแอลหยุดยิงทันที อเมริกายังวีโต้)

ประเทศไทยมีดิน น้ำ แดด ลม ที่อุดมสมบูรณ์ แต่ประชาชนส่วนใหญ่กลับไม่ได้ใช้ทรัพยากรเหล่านี้อย่างที่ควรจะเป็น หรืออย่างเป็นธรรม ต่างจากหลายประเทศที่น้อยกว่าเรามาก คงเป็น “ระบบผูกขาด” ในระบบโครงสร้างบ้านเมืองนี้ที่ทำให้ไม่มีความเป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยการ

มีการอ้างว่า ไทยสามารถพึ่งตนเองได้ด้านอาหารและพลังงาน แต่ลงไปดูในรายละเอียดจะพบว่า ระบบการบริหารจัดการทำให้ประชาชนคนไทยใช้ไฟฟ้าแพง ใช้น้ำมันแพง คนที่พึ่งตนเองได้เป็นคนรวย คนมีอำนาจ นายทุน นักการเมือง ข้าราชการ เป็นประเทศที่รวยกระจุก จนกระจาย

ไม่ใช่ชาวบ้านทั่วไป คนส่วนใหญ่ของประเทศที่รายได้ไม่พอรายจ่าย เป็นหนี้เป็นสินเหมือนดินพอกหางหมู ผลิตข้าวปลาอาหารก็เป็นได้ไม่ว่าในที่สวนที่นาของตนเองที่ขายไปก็ไม่ได้ราคา หรือไปรับจ้างขายแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม การประกอบการขนาดใหญ่น้อยก็ได้เพียงค่าจ้าง

เรื่องพลังงานเรามีทางเลือกแต่เลือกไม่ได้ มีแดดมีลมที่ฟรี แต่ไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างคุ้มค่า ขณะที่ประเทศพัฒนาที่แต่มี “ประชาธิปไตยพลังงาน” ไม่มีการผูกขาด เขาส่งเสริมให้พลเมืองผลิตไฟฟ้าจากแสงแดด จากลมใช้เอง

อย่าง Wildpolsried ที่มีรัฐบาวาเรียน เยอรมนี หมู่บ้านที่มีประชากรเพียง 2,400 คนสามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และลมมากกว่าที่ชุมชนต้องการถึง 3 เท่า รัฐต้องสร้างระบบสมาร์ทกริด ระบบดิจิทัลที่ช่วยให้มีการแบ่งปันหรือกระจายไฟฟ้าภายในชุมชน และสัมพันธ์กับระบบไฟฟ้าใหญ่

เมื่อเกิดสงครามยูเครน เยอรมนีได้รับผลกระทบเรื่องพลังงาน หมู่บ้านแห่งนี้และอีกหลายแห่งที่พึ่งตนเองได้ทางพลังงาน ได้กลายเป็นต้นแบบที่รัฐทุ่มอุดหนุนเพื่อให้ชุมชนต่างๆ ทำเช่นเดียวกัน

ที่เมือง Juehnde แคว้นซักซันใต้ ของเยอรมนี ก็เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ผลิตไฟฟ้ชีวมวลได้ดีจากเศษไม้จากการทำไม้ในป่า และจากการทำการเกษตร โดยชุมชนเป็นคนดำเนินการเอง ป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี ได้พลังงานเกิดความต้องการของชุมชน รัฐก็เอื้อ โดยมีระบบจัดการรองรับเข้าระบบใหญ่

ประเทศไทยมีแผนการสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลจำนวนมาก แต่มีปัญหาที่ “ไม่น่าเกิด” และป้องกันได้ถ้าหากมีธรรมาภิบาล ให้ชุมชนมีส่วนร่วมจริงตั้งแต่ต้น ได้รับประโยชน์จริง ได้ค่าไฟที่ถูกจริง แต่ความจริงไม่ใช่

 ยังมีพลังงานทางเลือกในชุมชนอีกมากมาย ซึ่งหากมีการส่งเสริมสนับสนุนจากรัฐบาล จากหน่วยงานรัฐ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนก็คงลงมือผลิตไฟใช้เอง ไม่ว่าพลังงานชีวมวล เตาแก๊สพลังงานแกลบ การแปลงขยะหรือมูลสัตว์เป็นก๊าซชีวภาพ กังหันน้ำขนาดเล็กผลิตไฟฟ้า พลังงานจากการออกกำลังกาย (จักรยานสูบน้ำ จักรยานซักผ้า จักรยานผลิตกระแสไฟฟ้า) ไบโอดีเซล ไบโอเอทานอล และกังหันลม เป็นต้น

บ้านเมืองที่เป็นประชาธิปไตย จะไม่มีแต่รัฐสภาการเลือกตั้ง แต่มีประชาธิปไตยอาหาร มีประชาธิปไตยพลังงาน คือ กระจายปัจจัยการผลิตและทรัพยากร เพื่อให้พลเมืองมีสิทธิในปัจจัยสองอย่างนี้อย่างเป็นธรรม