เสือตัวที่ 6

ประเด็นการแสวงหาทางออกทางการเมืองซึ่งเป็นสาระสำคัญสูงสุดตามหลักการยุติความรุนแรงตามแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) ที่คณะพูดคุยเจรจาเพื่อสันติสุขทั้งตัวแทนฝ่ายรัฐกับตัวแทนฝ่ายขบวนการแบ่งแยกการปกครองกลุ่ม BRN ได้เห็นชอบในหลักการร่วมกันนั้น และถูกตอกย้ำความเห็นร่วมในหลักการนั้นอีกครั้ง โดยรองเลขาธิการสมาคมมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้พูดคุยหารือกับกลุ่มบีอาร์เอ็นเมื่อ 6-7 ก.พ. ที่ผ่านมาหากแต่ฝ่ายรัฐยังไม่มีความชัดเจนในการดำเนินการตามหลักการทางออกทางการเมืองดังกล่าวเท่าที่ควรจะเป็น ในขณะที่ฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นมีความชัดเจนในข้อเสนอของทางเดินไปสู่ทางออกทางการเมือง โดยเป็นฝ่ายที่ยื่นเงื่อนไขของสาระในประเด็นทางออกทางการเมืองที่ชัดเจนกว่าฝ่ายรัฐ อาทิ การยอมรับอัตลักษณ์ของชุมชนปาตานี สิทธิมนุษยชน การศึกษา ภาษา ระบบกฎหมาย ตลอดจนข้อเสนอที่อ้างว่าเป็นการเปิดกว้างให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแสวงหาทางออกทางการเมืองอันจะนำไปสู่การใช้สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองในอนาคตอันใกล้ เป็นต้น

โดยเฉพาะการยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ที่บีอาร์เอ็นเรียกร้อง เพื่อเดินทางตามหลักการตามความเห็นร่วมระหว่างคณะผู้แทนของรัฐกับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นนี้ต่อไปนั้น จึงเห็นได้ว่าเงื่อนไขเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มบีอาร์เอ็นอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าดูจะไม่กระทบต่อเอกภาพความเป็นรัฐ หากแต่ประโยชน์ดังกล่าวจะเปิดประตู สร้างโอกาสให้กลุ่มบีอาร์เอ็นก้าวต่อไปสู่เป้าหมายอันยิ่งใหญ่กว่านี้ได้ไม่ยาก ในทางตรงข้าม เงื่อนไขที่กลุ่มบีอาร์เอ็นยื่นข้อเสนอมานั้น มีความล่อแหลม หมิ่นเหม่ต่อการเสียเปรียบของรัฐในก้าวย่างต่อไปบนเส้นทางดังกล่าว อาทิ การยอมรับแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นให้เข้ามาทำกิจกรรมอย่างเปิดเผยเป็นทางการเป็นครั้งแรกในกระบวนการพูดคุยสันติสุขที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเปิดเวทีปรึกษาหารือสาธารณะ (Public Consultation) ให้แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นเข้ามาร่วมแสวงหาทางออกทางการเมืองซึ่งรัฐบาลไทยต้องงดเว้นการดำเนินคดีต่อกลุ่มแกนนำบีอาร์เอ็นชั่วคราว พร้อมทั้งให้การคุ้มครองแกนนำเหล่านั้น ในระหว่างเข้ามาทำกิจกรรม เพราะมีบางคนหรืออาจจะทุกคน อาจจะมีหมายจับในคดีความมั่นคงของกระบวนการยุติธรรมไทย

เงื่อนไขอันล่อแหลมต่อความมั่นคงแห่งรัฐ โดยกลุ่มบีอาร์เอ็นยื่นความต้องการบนเส้นทางทางออกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการให้รัฐยอมรับอัตลักษณ์ของชุมชนปาตานี สิทธิมนุษยชน การศึกษา ภาษา ระบบกฎหมาย ตลอดจนข้อเสนอที่อ้างว่าเป็นการเปิดกว้างให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมโดยมีแกนนำบีอาร์เอ็นร่วมด้วย เพื่อการแสวงหาทางออกทางการเมืองอันจะนำไปสู่การใช้สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองในอนาคตอันใกล้ บนเส้นทางก้าวสำคัญคือวางแนวทางยุติการใช้อาวุธหยุดยิงโดยมีการจัดตั้งคณะติดตาม(มอนิเตอร์ทีม) และสร้างกรรมการอีกคณะหนึ่งเพื่อแสวงหาทางออกทางการเมืองในวิถีของตนในรูปแบบที่กลุ่มบีอาร์เอ็นต้องการเป็นหลักซึ่งนั่นอาจเข้าทางฝ่ายเห็นต่างจากรัฐที่มีกลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นตัวสดงหลักก็คือรูปแบบการปกครองที่สนองตอบความต้องการหลักของกลุ่มเห็นต่างจากรัฐที่มีบีอาร์เอ็นเป็นตัวแทนแบบไม่เป็นทางการ

ในขณะที่หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐยังมั่นใจในเส้นทางตามกระบวนการสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) โดยเห็นว่า แผนสันติสุขแบบองค์รวมนี้ เป็นกิจกรรมที่สองฝ่ายกำหนดร่วมกัน ทำร่วมกัน ส่วนผลจากกิจกรรมจะมีแนวทางอย่างไรเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งกิจกรรมตรงนี้ ในตัวแผนปัจจุบันอยู่ในกระบวนการคณะเทคนิคที่ต้องพูดคุยรายละเอียด แม้กระทั่งตัวกิจกรรมที่จะทำก็อยู่ในกระบวนการที่ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่หลักการสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันว่ามันเป็นหนทาง เป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่ข้อตกลงที่สันติสุขได้ในอนาคตซึ่งการขับเคลื่อนพูดคุยต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทยคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขยังแสดงท่าทีมั่นใจว่า แนวทางดังกล่าวนี้จะเดินหน้าสู่สันติสุขแบบยั่งยืนทุกด้านแบบองค์รวม ตามชื่อ JCPP เพราะบีอาร์เอ็นแสดงท่าทีว่า ไม่ได้ยืนยันคำตอบว่าต้องเป็นรัฐเอกราช หากแต่คณะพูดคุยฝ่ายรัฐต้องตระหนักว่า ก้าวย่างที่เดินในช่วงแรกนี้หาใช่เป้าหมายสุดท้ายที่แท้จริงของกลุ่มบีอาร์เอ็นไม่ด้วยเป็นก้าวย่างที่ปูทางไปสู่ความชอบธรรมในผลการแสวงหาทางออกทางการเมืองที่ต้องให้การยอมรับในทางออกทางการเมืองที่ได้ร่วมกันคิดและแสวงหามาได้จากคนในพื้นที่ที่มีแกนนำบีอาร์เอ็นร่วมอยู่ด้วยอย่างชาญฉลาด ที่อาจทำให้ฝ่ายไทยเสียเปรียบซึ่งล่อแหลมถึงขั้นร้ายแรงต่อการเสียอำนาจการปกครองของรัฐบางส่วนไปโดยไม่อาจเรียกกลับคืนมาได้

การพูดคุยตามแนวทางของแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) ในประเด็นที่อาจกระทบต่อบูรณภาพแห่งอาณาเขตตลอดจนความเป็นอธิปไตยของรัฐ เป็นประเด็นที่มีความสำคัญยิ่งที่ระดับรัฐบาลจะต้องเข้ามาวางยุทธศาสตร์ระดับชาติและบริหารจัดการในองค์รวมมากกว่าปล่อยให้คณะผู้แทนฝ่ายรัฐมีโอกาสใช้ดุลยพินิจในการยอมรับเงื่อนไขใดๆ ที่หมิ่นแหม่ ล่อแหลมต่อความมั่นคงของรัฐ เพราะบางประเด็นมีความคลุมเครือที่จะนำไปสู่การตีความที่อาจมีผลอย่างมีนัยสำคัญที่รัฐเสียเปรียบในการเดินต่อในอนาคตเงื่อนไขของสาระในประเด็นทางออกทางการเมืองที่ชัดเจนของกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ล่อแหลมดังกล่าว แม้จะยังไปไม่ถึงเป้าหมายสุดท้าย แต่ก็จะเป็นก้าวแรกซึ่งเป็นก้าวสำคัญบนเส้นทางที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายสุดท้ายที่ต้องการจนกระทั่งนักวิเคราะห์ความมั่นคงจากมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศมาเลเซียท่านหนึ่ง ถึงกับกล่าวว่าบางทีเป้าหมายสุดท้ายคือการได้รับเอกราช อิสรภาพในการปกครองกันเองหรืออำนาจในการปกครองตนเองของกลุ่มเห็นต่างจากรัฐในพื้นที่นั้นจะไม่ใช่ ณ เวลานี้ที่คนกลุ่มเห็นต่างกลุ่มนี้ยังรอคอยและต่อสู้มาได้มาเป็นเวลานานหลายสิบปี พวกเขาอดทนรอได้ด้วยย่างก้าวที่มีจุดหมายทีละก้าวอย่างมีนัยยะ แม้อาจยังห่างไกล แต่อย่างน้อยพวกเขาได้เริ่มก้าวแรกเพื่อสิ่งนั้นนั่นคือการได้รับเอกราช อิสรภาพในการปกครองกันเองหรืออำนาจในการปกครองตนเองของกลุ่มเห็นต่างจากรัฐในพื้นที่ซึ่งเป็นเป้าหมายสุดท้ายที่แท้จริง