ทวี สุรฤทธิกุล

“พรรคการเมืองแบบประชาธิปไตยต้องล้มลุกคลุกคลาน แต่ถ้าอิงเผด็จการจะอยู่รอดได้นาน”

นั่นคือ “ดีลลับ” ที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ที่มีคนพบว่านายทหารในกลุ่มอำนาจเก่าบางคนได้ไปพบกับผู้นำของฝ่ายประชาธิปไตยที่เกาะลังกาวี ในทะเลอันดามัน ใกล้ชายแดนไทย อันนำมาสู่การจัดตั้งรัฐบาลที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 19 สิงหาคม 2566 จากนั้นอีก 3 วันต่อมา นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ก็ได้เดินทางกลับเข้ามาประเทศไทยอย่างโก้หรู พร้อมกับที่ได้สร้างความอึมครึมให้กับการเมืองไทย อย่างที่ยังไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร

จึงมาเป็นคำตอบของบทความชุดนี้ “พรรคการเมืองมีไว้ทำไม?” ว่า “มีไว้ประดับระบอบประชาธิปไตย” นั่นเอง

คำตอบนี้ไม่ได้เป็นการประชดประชัน ผู้เขียนในฐานะคนหนึ่งที่เป็นกรรมาธิการคณะที่เขียนพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ยืนยันได้ถึงความพยายามของฝ่ายเผด็จการที่จะ “ตัดแต่งพันธุกรรม” จนถึงขั้น “ฆ่าตัดตอน” พรรคการเมืองให้มีสภาพอย่างที่เป็นอยู่ ตั้งแต่ให้การตั้งพรรคเป็นไปด้วยความยากลำบาก ใช้เงินทุนมาก มีงานเอกสารและขั้นตอนที่ยุ่งยาก รวมถึงที่เป็นปัญหามากคือ “ไพรมารี่” หรือการหยั่งเสียงหาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขตของพรรคการเมืองแต่ละพรรค (ที่สุดก็เลิกทิ้งไปเพราะทำไม่ได้) ซึ่งผู้เขียนได้พยายามทัดทานในกระบวนการจัดทำที่ใช้เวลาเพียง 4 เดือนนั้นแล้ว แต่ก็ได้รับการร้องขอว่าขอให้ผ่านไปก่อน โดยอ้างว่าจะต้องรีบมีการเลือกตั้ง (แต่เอาเข้าจริงก็อีก 2 ปีหลังที่ พ.ร.บ.นี้ได้ผ่านสภาแล้วจึงมีการเลือกตั้ง ในวันที่ 24 มีนาคม 2562)

อีกอย่างหนึ่งเราอย่าลืมว่า ประเทศไทยยังมีอีกสภาหนึ่งที่หลายยุคสมัยก็มีอำนาจไม่น้อยไปกว่าสภาผู้แทนราษฎร นั่นก็คือ “วุฒิสภา” ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยปริยายว่าเป็น “พรรคการเมืองนอกรัฐธรรมนูญ” เช่นเดียวกัน (เหมือนกองทัพหรือคณะทหาร) ทั้งยังเป็นสภาที่ต้องสนับสนุนผู้มีอำนาจมาทุกยุคทุกสมัย ซึ่งประเทศไทยก็มีทหารปกครองประเทศมายาวนานที่สุด วุฒิสภาจึงเป็นสภาที่ค้ำจุนอำนาจให้ทหารมาโดยตลอดด้วย ซึ่งในบางยุคอย่างในยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ หรือล่าสุดยุคของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องถือว่าวุฒิสภานั้นเป็น “สภาคู่บุญ” มีอำนาจเหนือสภาผู้แทนราษฎรนั้นเลยทีเดียว

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่พรรคเพื่อไทย “จำยอม” เกี้ยเซี๊ยะกับทหาร ก็คงด้วย “การมองแบบคนสายตาสั้น” เพื่อเอาตัวรอดในช่วงนี้ให้ได้เสียก่อน (ด้วยการได้เป็นรัฐบาล คนของพรรคได้เป็นนายกรัฐมนตรี และนายใหญ่ได้กลับบ้าน) แต่ในระยะยาวคนในกลุ่มพรรคการเมืองพรรคนี้คงจะยังมุ่งมั่นที่จะสร้างพรรคการเมืองแบบ “ทุนนิยมของประชาชน” นั้นต่อไป โดยเมื่อปี 2543 ขณะที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อก่อตั้งพรรคไทยรักไทย เพื่อนของผู้เขียนคนหนึ่งที่เป็นอาจารย์ต่างมหาวิทยาลัย ได้มาชวนให้ไปร่วมทำงานกับพรรคการเมืองใหม่ที่ชื่อ “พรรคไทยรักไทย” โดยบอกว่าพรรคนี้มีแนวนโยบายแบบที่เรียกว่า “ทุนนิยมของประชาชน” แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นโชคร้ายหรือโชคดีของผู้เขียนที่ไม่ได้ไปร่วม แต่เราก็ได้เห็นความเป็น “ทุนนิยมของประชาชน” นั้นแล้วว่าน่ากลัวเพียงใด

ถ้าจะอธิบายด้วยความเข้าใจของผู้เขียนจากวิวัฒนาการของพรรคไทยรักไทย เมื่อ 24 ปีที่แล้ว จนกระทั่งมาเป็นพรรคเพื่อไทยในทุกวันนี้ แนวนโยบายของพรรคนี้ก็คือ “การทุ่มทุน” เพื่อให้ประชาชนรัก ดังที่เห็นนโยบายประชานิยมต่าง ๆ ของพรรคไทยรักไทย ที่ยัง “ตราตรึง” ในหัวใจคนรากหญ้ามาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงความพยายามที่จะดึงดันทำนโยบายมหกรรมการแจกเงิน “ดิจิตัลวอลเล็ต 10,000 บาท” ให้กับคนไทยทุกหัวระแหง รวมเป็นเงินกว่า 500,000 ล้านบาทของพรรคเพื่อไทยในขณะนี้ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อ “สร้างอภินิหาร” ว่า ไม่จำเป็นต้องมีอำนาจ “เหนือฟ้า” ขอเพียงมีประชาชนกับเงิน “ล้นฟ้า” ใคร ๆ ก็สามารถปกครองประเทศนี้ได้ (ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า การทำตัวกร่างเหนือกระบวนการยุติธรรมของนายใหญ่ของพรรคนี้ ก็เพื่อแสดงถึงอำนาจที่ “ล้นฟ้า” ในหนทางหนึ่งนั่นเอง ซึ่งผู้เขียนเคยเขียนเป็นบทความและเรียกทฤษฎีการสร้างอำนาจแบบนี้ว่า “กฤษฎาภินิหารทางการเมือง” ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับกษัตริย์ในลัทธิเทวราชแบบโบราณเคยกระทำมาในอดีต)

สำหรับพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่แบบพรรคก้าวไกล บางคนบอกว่าตอนนี้พรรคก้าวไกลกำลังมองว่า “ได้เปรียบ” พรรคเพื่อไทย เพราะพรรคเพื่อไทยไปคบกับทหาร และหักหลังฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน สุดท้ายถ้ารัฐบาลนี้มีอันเป็นไป ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ พรรคก้าวไกลก็น่าจะได้ ส.ส.มาอย่างท่วมท้น อีกทั้งในเดือนพฤษภาคมนี้  “พรรค ส.ว.” ก็จะสิ้นฤทธิ์ ไม่มีสิทธิร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ก็เท่ากับว่าอำนาจของฝ่ายทหารก็หมดสิ้นไปด้วยเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นทหารในยุคนี้ก็มองจุดยืนได้ไม่ใช่ชัดเจน เพราะได้เกิดมี “ทหารข้างนอก” กับ “ทหารข้างใน” ที่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าทหารฝ่ายไหนที่มีอำนาจมากกว่ากัน (แต่ถ้าจะว่ากันตามโครงสร้างราชการก็น่าจะเป็นทหารที่อยู่ใต้สังกัดกองบัญชาการกองทัพไทยนั่นแหละ) โดยเป้าหมายของพรรคก้าวไกลก็ไม่เคยคิดที่จะอิงแอบอำนาจใน “ขั้วโบราณ” ทั้งหลายนี้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยังเชื่อว่าความพยายามของพรรคก้าวไกลยังจะต้องใช้เวลาอีกพอสมควร โดยเฉพาะการหลอมรวมแนวคิดของคนรุ่นเก่าที่ยังมีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูง ให้เข้าด้วยกันได้กับแนวคิดก้าวหน้าและเสรีนิยมแบบสุด ๆ ของพรรคก้าวไกลนี้ และยังมองว่า “พรรคการเมืองแบบน้ำเน่าเคล้าท็อปบู๊ต” นี้ยังจะปกครองประเทศไทยไปอีกสักระยะ แต่จะนานสักเท่าใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับ “ความคงทนในศรัทธา” ของสถาบันบางสถาบันนั้นเป็นหลัก

ขอปิดท้ายด้วยปัจฉิมโอวาทของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในตอนที่ให้ผู้เขียนพิมพ์จดหมายถึงเลขาธิการพรรคกิจสังคม นายมนตรี พงษ์พาณิชย์ เพื่อลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคมในปลายปี 2528 ซึ่งในจดหมายอ้างถึงปัญหาสุขภาพที่ไม่เอื้ออำนวย และไม่สามารถที่จะสร้างพรรคกิจสังคมให้เติบโตต่อไปได้อีก แต่ที่ท่านพูดกับคนทั้งหลายภายนอกนั้นก็คือ “พรรคการเมืองสมัยนี้มันต้องใช้เงินมาก ฉันไม่มีเงินที่จะทำพรรคนี้ต่อไปอีกแล้ว ใครที่มีเงินมาดูแลพรรคนี้ต่อไปได้ ก็มาเอาพรรคนี้ไปเถอะ”

พูดอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นพรรคของประชาชนหรือของทหาร ก็ต้องใช้เงินมาก ๆ ทั้งสิ้นขอรับ !