เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phogphit

ปัญหาสำคัญของผู้สูงวัย คือ ความเหงา ความน้อยใจ ความรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้งจากลูกหลาน หลายคนเป็นโรคซึมเศร้า อันเป็นที่มาสาเหตุของอีกหลายโรค               

หมู่บ้านวันนี้มีแต่คนเฒ่าคนแก่กับเด็กเล็ก ที่พ่อแม่ไปทำงานแล้วฝากปู่ย่าตายายเลี้ยงจนโตไปโรงเรียนประถม มัธยม จากนั้นก็ไปเรียนต่อ หรือตามพ่อแม่ไปทำงานต่างที่ต่างถิ่น นานๆ กลับบ้านที ความผูกพันกับบ้านเกิดน้อยลง ยิ่งมีครอบครัวในต่างที่ก็ยิ่งไปเยี่ยมพ่อแม่ปู่ย่าตายายนานปีมีครั้ง

หลายปีมาแล้ว เวลาไปบรรยายในการอบรมสัมมนาครู ได้แนะนำครูให้นักเรียนประถมมัธยมทำประวัติศาสตร์ชุมชน ไม่ใช่ไปลอกเอาจากสำนักงานอบต.เทศบาล แต่ให้สัมภาษณ์ปู่ย่าตายาย คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน แล้วให้ครูนำมาเป็นจิ๊กซอต่อกัน ได้ประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นอย่างมีชีวิตชีวา ดีกว่าประวัติศาสตร์ “แห้งๆ” ตามสำนักงานราชการ

ที่สำคัญ ยิงนกทีเดียวได้หลายตัว ไม่ได้แต่เพียงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่มีรายละเอียดมากมาย แต่จะได้ความผูกพันระหว่างหลานเหลนกับปู่ย่าตายาย และเด็กๆ เองก็จะสำนึกในรากเหง้าของตนเองเกิดความภูมิใจในบรรพบุรุษ ในชุมชน เกิดสำนึกและภูมิใจในชาติพันธุ์ ไม่อายที่จะบอกใครว่าตนเองเป็นใครมาจากไหน

การสร้างประวัติศาสตร์ชุมชนทำให้เด็กๆ โตแล้วไม่ลืมพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ไม่ปล่อยให้อยู่คนเดียวเหงาๆ หรือส่งไปอยู่บ้านพักคนชรา โดยที่เมื่อหลายปีก่อน ผมไปสอนพิเศษนักศึกษาปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้ให้นักศึกษา 33 คนทำรายงานเรื่อง “ชุมชนของข้าพเจ้า” คนที่ทำได้ดีที่สุดเป็นนักศึกษาชนเผ่าเมี่ยน ซึ่งเล่าว่า ได้สัมภาษณ์ผู้เฒ่าที่อาวุโสที่สุดในหมู่บ้าน และชวนหลายคนมานั่งฟัง

ปรากฏว่า วันเดียวเล่าไม่จบ นัดอีกหลายวัน ทั้งเด็กผู้ใหญ่าต่างชวนกันมาฟัง คนเล่าก็มากขึ้น คนฟังก็มาเต็มศาลาหมู่บ้าน นักศึกษาก็บันทึกข้อมูลทั้งหมด นำมาเรียบเรียงอย่างน่าสนใจ มีรายละเอียดว่าหมู่บ้านตั้งมาแต่เมื่อไร ครอบครัวแรกๆ ทำมาหากินอย่างไร เปลี่ยนไปอย่างไร จากการปลูกเพื่อกิน มาปลูกเพื่อขาย และกลายเป็นหนี้เมื่อไร ถนนมา ไฟฟ้าเข้า สินค้าเงินผ่อน คนหนุ่มสาวเริ่มออกไปทำงานในเมือง ชีวิตชุมชนเริ่มเปลี่ยนไป

ผมได้อ่านบางส่วนของรายงานนี้ที่หน้าห้อง ยกย่องว่าเป็นงานที่ดีที่สุด ไม่ใช่เพราะ “ข้อมูล” เท่านั้น แต่ “กระบวนการ” ที่ได้ข้อมูลมานั้นสำคัญกว่าอีก ไม่ได้ไปรวบรวมมาจากบ้านผู้ใหญ่บ้านหรืออบต. แต่ได้ทำให้เกิดจิตสำนึกใหม่ในชุมชนแห่งนั้นซึ่งได้ช่วยกันบอกเล่าประวัติศาสตร์ของตนเอง

ผมได้ติดตามว่า ที่ไปบรรยายให้ครูบาอาจารย์โรงเรียนประถมมัธยมหลายแห่งแล้วมีใครเอาไปทำบ้าง ก็ไม่ได้ยินว่าที่ไหนทำ วันหนึ่งจึงตัดสินใจลงเมือทำเอง คือ สัมภาษณ์คุณพ่อของตนเอง

ผมพาพ่อกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดของท่านที่เวียดนาม ที่ท่านเดินเท้าจากหมู่บ้านในจังหวัดฮาติ่ง ภาคกลาง ผ่านลาว ข้ามแม่น้ำโขงมาที่นครพนม ตอนนั้นพ่ออายุ 8 ขวบ มากับแม่และน้องชาย 2 คน ส่วนพ่อกับน้องสาวจะตามมา  ผมกับพ่อนั่งเครื่องบินไปฮานอย แล้วเช่ารถไปเมืองวินห์ ต่อไปฮาติ่ง ไปถึงหมู่บ้านเกิดของพ่อ

ตลอด 7 วันที่เดินทางและระหว่างอยู่ที่เวียดนาม ทุกครั้งที่มีโอกาส ผมก็สัมภาษณ์พ่อ จดบ้างไม่จดบ้าง เมื่อกลับมา ก็เรียบเรียงและเขียนให้พ่อเป็น “คนเล่าเรื่อง” ของท่าน

จากนั้น ผมก็ตีพิมพ์ “ประวัติของพ่อ” ด้วยกระดาษอาร์ตอย่างดี พร้อมกับภาพสี่สีรวมภาพที่ไปเวียดนาม พิมพ์ 500 เล่ม ในวันที่ 1 มกราคม 1996 ที่พ่ออายุ 84 ปี พ่อนั่งบนแคร่กลางบ้าน แจกหนังสือลูกหลานคนละเล่มด้วยหน้าตาอิ่มเอิบอย่างมีความสุข

ลูกหลานหลายคนอ่านแล้วร้องไห้ ไม่ทราบว่า พ่อ-ปู่-ตา-ทวด จะมีชีวิตที่ยากลำบากขนาดนั้น ได้สู้ทนทุกอย่างเพื่อลูกหลาน โดยที่เคยเรียนถึงแค่ชั้นป. 3 ที่เวียดนาม ไม่เคยเข้าเรียนที่เมืองไทย ไม่ได้มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง มีลูก 14 คน เสียชีวิตต้อนยังเด็ก 3 คน ทำงานหลายอย่าง เลี้ยงลูก 11 คน จนเป็นฝั่งเป็นฝา

ความจริง ลูกหลานก็เคยได้ยินท่านเล่าเรื่องของท่านบ้าง แต่เป็นตอนๆ ไม่ติดต่อเหมือนได้อ่านในหนังสือ ซึ่งเหมือนกับได้ดูหนังชีวิตยาวๆ ที่มีทุกรสชาติ

เมื่อพ่อกับแม่ถึงแก่กรรมปี 2543 พ่ออายุ 88 แม่อายุ 83 ตามพ่อไปเพียง 3 สัปดาห์ให้หลัง  ในงานบุญร้อยวันที่ทำพร้อมกัน ผมได้ทำหนังสือ 2 เล่มเพื่อรำลึกถึงท่าน เล่มหนึ่งได้ขอให้ผู้ใหญ่ที่ผมเคารพนับถืออย่างพระไพศาล วิสาโล คุณหมอประเวศ วะสี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล  ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน พี่ทองใบ ทองเปาว์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ สุจิตต์ วงศ์เทศ กว่า 30 คน ให้เขียนในหัวข้อ “พี่น้องเดียวพี่น้องกัน” ตามเจตนารมณ์ของพ่อที่อยากให้ทุกคนเป็นพี่น้องกัน ไม่รังเกียจ ไม่แบ่งเชื้อชาติ ศาสนา อุดมการณ์

อีกเล่มหนึ่ง ผมได้สัมภาษณ์บุคคลที่ได้รู้จักพ่อและแม่ พ่อได้ทำงานช่วยวัด สถาบันทางศาสนา และผมได้ขอให้ลูกเหลานเขียน “ความในใจถึงพ่อแม่ปู่ย่าตายาย” สองท่านนี้ ตอนแรกไม่มีใครอยากเขียน อ้างว่า “เขียนไม่เป็น” แต่เมื่อผมบอกว่า เขียนเหมือนเล่าให้ผมฟังยังไงก็ได้ ผมจะเป็นบรรณาธิการปรับให้อีกที ก็ได้หนังสือเล่มโต ที่บอกเล่าความรักความผูกพัน ความสัมพันธ์ของลูกหลานต่อพ่อแม่ ปู่ย่าตายายสองท่านนี้

ที่ผมเล่าเรื่องส่วนตัวก็เพียงเพื่อยกเป็นตัวอย่างว่า สิ่งที่ผมได้เรียกร้องให้ใครๆ ทำ ผมก็ได้ทำเอง “ที่บ้าน” โดยไม่ได้ลืมคุณแม่ของผม ได้สัมภาษณ์ผู้ใหญ่ เพื่อนๆ ที่รู้จักมักคุ้นกับแม่ ก็ได้ประวัติเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นไม่แพ้เรื่องของพ่อ ชีวิตของแม่อาจเป็นหนังขาวดำ แต่มีสีสัน เป็นหนังชีวิตที่มีคุณค่ายิ่งนัก

พ่อกับแม่มีบั้นปลายชีวิตที่ดี มีคุณภาพ มีลูกหลานดูแลจนวาระสุดท้าย พ่อตื่นแต่เช้าไปโบสถ์ ไปอีกตอนบ่าย ถามว่า สวดภาวนาอะไรมากมาย พ่อบอกว่า สวดขอให้ลูกหลานอยู่ดีมีสุข และขอให้ตนเองตายดี

ความกตัญญูรู้คนเป็นคุณสมบัติสำคัญที่สุดประการหนึ่งของคน ไม่ว่าอย่างไร พ่อแม่ คือ “พระในบ้าน” ที่ให้เราเกิดมา เลี้ยงเรามา ทำอย่างไรไม่ปล่อยให้ท่านอยู่อย่างโดดเดี่ยว เงียบเหงาในบั้นปลายชีวิต