ทวี สุรฤทธิกุล

การเมืองเป็นเรื่องของการใช้อำนาจ “อำนาจ” เป็นเรื่องของ “อารมณ์” โดยแท้ ซึ่งตรงข้ามกับ “เหตุผล”

ตำรารัฐศาสตร์ของโลกมักจะกล่าวถึงการกำเนิดของวิชาการเรื่องนี้ว่าเกิดในประเทศกรีก เมื่อประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว โดยมี “โสกราตีส” เป็น “บิดา” คือผู้สถาปนาหรือผู้เริ่มสั่งสอนเกี่ยวกับการแสวงหาความรู้ ที่เรียกว่าวิชา “ปรัชญา” รวมถึงเรื่อง “ปรัชญาการเมือง” โดยพยายามที่จะหา “เหตุผล” มาอธิบายปรากฏการณ์และพยากรณ์เกี่ยวกับการเมือง เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ “อารมณ์” ที่ผู้มีอำนาจหรือผู้ปกครองชอบใช้ ทว่าโสกราตีสก็ต้องเสียชีวิตด้วยอารมณ์ของผู้ปกครอง ที่เห็นว่าโสกราตีสเป็นศัตรูต่อความคิดความเชื่อของผู้คนในสมัยนั้น โดยเชื่อมโยงว่าโสกราตีสปลุกปั่นยุยงให้ผู้คนนิยมประชาธิปไตย และล้มล้างระบอบเผด็จการของผู้นำกรีกในยุคนั้น ซึ่งเพลโต ลูกศิษย์ของโสกราตีสได้มาขอให้อาจารย์เปลี่ยนความคิด เพื่อจะได้ไม่ถูกนำตัวไปประหาร แต่โสกราตีสได้กล่าวว่า “ฉันยอมตายได้ แต่ฉันไม่อาจยอมให้ประชาธิปไตยตายเพื่อรักษาชีวิตฉัน”

การศึกษาแนวปรัชญาการเมืองของกรีกเสื่อมความนิยมลง เมื่อถูกโรมันเข้ายึดครอง การศึกษาการเมืองก็ปรับไปสู่การศึกษาเพื่อสร้างกฎระเบียบมาควบคุมผู้คน ที่เรียกว่า “แนวนิตินิยม” หรือ “การปกครองโดยกฎหมาย” กระทั่งศาสนาคริสต์ได้แพร่หลายไปทั่วยุโรปและล้มล้างจักรวรรดินิยมของโรมันในอีก 400 ปี ลัทธิเทวสิทธิ์หรือ “อำนาจพระผู้เป็นเจ้า” ก็เข้ามาแทนที่ โดยปกครองยุโรปอยู่เกือบพันปี กระทั่งมีนักคิดที่กล้าเห็นแย้งกับศาสนจักร เช่น กาลิเลโอ ที่มองว่าโลกและจักรวาลไม่ได้ถูกสร้างและควบคุมโดยพระผู้เป็นเจ้า หรือแมคเคียเวลลี่ ที่มองว่าผู้ปกครองคือผู้กำหนดโชคชะตาของผู้ใต้ปกครอง หาใช่พระผู้เป็นเจ้าไม่

ว่ากันว่า พระผู้เป็นเจ้าชอบใช้อารมณ์ และผู้คนก็พยายามที่จะหาทางทำให้หลุดพ้นจากการใช้อารมณ์นั้น นั่นคือการสร้างระบอบการปกครองที่ใช้เหตุผล โดยเหตุผลแรกก็คือเหตุผลที่จะอธิบายว่า “ทำไมมนุษย์ต้องมีการปกครองและผู้ปกครอง?”

โทมัส ฮอปส์ (ค.ศ. 1588 - 1679) คือคนแรก ๆ ที่พยายามจะหาคำตอบเรื่องนี้ แต่เนื่องจากในยุคนั้นประเทศอังกฤษยังเป็นราชาธิปไตย เขาจึงพยายามหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงกษัตริย์โดยตรง (สงสัยจะกลัวมาตรา 112 ที่ไม่ทราบว่าอังกฤษในยุคนั้นจะมีหรือยัง) โดยพูดถึงธรรมชาติของมนุษย์ว่าชอบแก่งแย่งชิงดีกัน จึงต้องมี “สิ่งที่มีอำนาจเหนือ” เข้ามาควบคุม และเรียกเจ้าสิ่งนั้นว่า “Leviathan” (ที่นักปรัชญาไทยบางท่านแปลง่าย ๆ ว่า “เจ้าสัตว์ประหลาด”) ต่อมานักคิดอย่างจอห์น ล็อค และจัง จาร์ค รุซโซ ก็วิเคราะห์ถึงธรรมชาติชาติของมนุษย์เช่นกัน แต่มองไปในด้านที่ดีว่ามนุษย์เป็นสัตว์มีเหตุผล ในธรรมชาติจะมีความเป็นอิสระ ที่เรียกว่า “เสรีภาพ” นั้นสูง แต่เมื่อมาอยู่ด้วยกันเป็นสังคมก็ต้องถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพเหล่านั้น รวมถึงต้องหา “คนกลาง” ซึ่งก็คือ “รัฐบาล” มาคอยควบคุมดูแล ทั้งนี้โดยผู้คนในสังคมนั่นแหละเป็นผู้มอบอำนาจให้ รวมถึงการควบคุม เปลี่ยนแปลง และจำกัดอำนาจของรัฐบาลนั้นด้วย อันเป็นที่มาของการปกครองแบบ “ประชาธิปไตย” ที่นักคิดสมัยต่อ ๆ มาก็เชื่อกันว่าเป็นการปกครองที่ “เลวน้อยที่สุด” โดยบางคนอธิบายว่า เพราะเป็นการปกครองที่ใช้กระบวนการพูดคุยปรึกษาหารือ และหามติหรือข้อตกลงตัดสินใจต่าง ๆ ร่วมกัน โดยยึดหลักเหตุผลและใช้เสียงข้างมาก

แต่ว่าหลังจากที่มีผู้คิดค้นระบอบประชาธิปไตยขึ้นได้เมื่อ 300 กว่าปีนั้น ระบอบประชาธิปไตยเองก็ได้สร้างปัญหาขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ เป็นต้นว่า มีการคิดค้นระบอบการปกครองแบบต่าง ๆ ขึ้นมาท้าทาย เช่น สังคมนิยม จนกระทั่งคอมมิวนิสต์ และสวัสดิการนิยม ทั้งนี้เพราะจุดอ่อนอันเบ้อเริ่มของระบอบประชาธิปไตยเอง ที่ยังยึดโยงกับ “ตัวคน” (รวมถึงระบอบการปกครองทุกแบบนั้นด้วย) ที่นักวิทยาศาสตร์หลาย ๆ ด้านก็ยังต้องยอมแพ้ เพราะยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่า “มนุษย์นั้นใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์จริงหรือ?”

ที่เขียนบทความเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะผู้เขียนมีความเชื่อว่า “มนุษย์เป็นสัตว์เจ้าอารมณ์” ดังนั้นเมื่อการเมืองเป็นเรื่องการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ การเมืองจึงเป็นเรื่องของ “อารมณ์” ทั้งสิ้น โดยขึ้นอยู่กับ “การประทะ” ของอารมณ์ 2 ด้าน ระหว่าง “อารมณ์ของผู้ปกครอง” กับ “อารมณ์ของผู้ใต้ปกครอง” นั่นเอง

ทุกวันนี้ทุกประเทศใช้กฎหมายในการปกครองประเทศ แต่กฎหมายนั่นเองก็มาจากอารมณ์เป็นส่วนใหญ่ นั่นก็คือ “อารมณ์ของผู้มีอำนาจ” ถ้าอำนาจนั้นอยู่ที่ผู้ปกครอง หรือที่เรียกกันว่าเผด็จการแบบต่าง ๆ กฎหมายนั้นก็จะถูกกำหนดขึ้นจากอารมณ์ของผู้เผด็จการนั้น ตรงกันข้ามในประเทศประชาธิปไตย ที่ว่ากันว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ กฎหมายต่าง ๆ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญลงมาก็ล้วนแต่เกิดจากอารมณ์ของประชาชน ที่มีความแตกต่างกันในเรื่องผลประโยชน์ไปในแต่ละยุคสมัย

ยกตัวอย่างรัฐธรรมนูญของไทยแต่ละฉบับ ต่างก็สะท้อนอารมณ์ของผู้มีอำนาจในแต่ละยุคสมัยนั้น อย่างเผด็จการสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็แตกต่างจากสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือแม้เผด็จการกในยุคพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยในปี 2517 ก็แตกต่างจากฉบับปี 2540 (เราไม่นับฉบับปี 2550 และ 2560 ว่าเป็นฉบับประชาธิปไตย เพราะถูกควบคุมโดยคณะทหารที่เป็นเผด็จการ)

“อารมณ์ทางการเมือง” แม้จะเข้าใจยากแต่ก็น่าสนใจ เพราะที่ผ่านมาและที่เป็นอยู่ ทุกประเทศล้วนแต่เจอปัญหาเรื่องนี้ทั้งสิ้น เป็นต้นว่า รัฐบาลมักจะให้ความสนใจต่อการใช้อารมณ์ของประชาชน เช่น การกดดันและการเรียกร้องต่าง ๆ มากกว่าที่จะนั่งโต๊ะคุยกันดี ๆ หรือประชาชนจะสนใจข่าวสารที่สร้างอารมณ์ความรู้สึก (แบบที่เรียกในสมัยนี้ว่า “ดราม่า”) เหมือนกับดูฉากหนังฉากละครที่ปั้นแต่งขึ้นนั้นมากกว่า

ยกตัวอย่าง เมื่อสัปดาห์ก่อน ที่สถาบันคึกฤทธิ์จัดแถลงข่าวเกี่ยวกับ “ข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขปัญหาพลังงาน” นำโดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี และนายคุรุจิต นาครทรรพ ด้วยการนำเสนอข้อมูลทางวิชาการอย่างชัดเจน รวมถึงมีการยื่นจดหมายร้องเรียนนั้นอย่างเป็นทางการไปถึงนายกรัฐมนตรีด้วย แต่ข่าวนั้นก็เห็นมีการตอบรับอะไรไปยังรัฐบาล หรือการรับรู้ถึงความทุกข์ร้อนนี้ในหมู่ผู้ใช้น้ำมันและไฟฟ้าทั้งหลาย ในขณะที่ข่าวกระเทยไทยยกพวกถล่มกระเทยฟิลิปปินส์ในสัปดาห์ต่อมา กลายเป็นการเมืองระดับชาติที่ยกระดับเป็นถึงขั้นการต่อสู้เกี่ยวกับ “ชาตินิยม” เช่นเดียวกันกับข่าวกุ๊ยฝรั่งชาวสวิสเตะหมอสาวคนไทย ก็ลุกลามเกิดผลกระทบมากมาย ถึงขึ้นที่กระทบกระเทือนไปถึงให้มีการตรวจสอบชาวต่างชาติอื่น ๆ ที่มาหากินในประเทศไทยนี้ด้วย

“อารมณ์ทางการเมือง” มีเรื่องต้องพูดเยอะ เพราะมันสร้างทั้งสิ่งดีและไม่ดีมากมายให้เกิดขึ้นกับทุก ๆ คน โดยเฉพาะอนาคตของการเมืองไทย ที่กำลังไหลไปตามกระแสของ “อารมณ์คนรุ่นใหม่” นั้น