เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phongphit

มรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศอินโดนิเซียมี 10 แห่ง เวียดนาม 8 ไทย 7 ฟิลิปปินส์ 6 กัมพูชากับมาเลเซียประเทศละ 4 ลาว 3 พม่า 2 สิงคโปร์ 1

ในไทยได้แก่ที่อยุธยา, ที่สุโขทัย, ทุ่งใหญ่นเรศวร ห้วยขาแข้ง, ที่บ้านเชียง, พญาเย็น เขาใหญ่, แก่งกระจาน, และล่าสุดที่ศรีเทพ

ที่เสนอไปให้ยูเนสโกพิจารณามีอีก 6 แห่ง คือ ปราสาทพนมรุ้ง-ปราสาทเมืองต่ำ ที่บุรีรัมย์, อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อุดรฯ, พระธาตุพนม นครพนม, อนุสรณ์สถาน พื้นที่ทางวัฒนธรรมเชียงใหม่, วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช, พื้นที่อนุรักษ์ทะเลอันดามัน

เมืองไทยมีอีกหลายแห่งที่สมควรจะได้รับการเสนอต่อยูเนสโกเพื่อเป็น “มรดกทางวัฒนธรรม” “มรดกทางธรรมชาติ” หรือผสมทั้งสองอย่าง

อย่าง “ปราสาทภูเพ็ก” หรือ “พระธาตุภูเพ็ก” เทวาลัยสมัยขอมโบราณ ที่ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณานิคม จังหวดสกลนคร สร้างในปลายสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1663-1758) ประมาณหนึ่งพันปีก่อน เข้าใจว่า ที่สร้างไม่เสร็จเพราะพระเจ้าชัยวรมันสวรรคตก่อน ทำให้ไพร่พลถอยกลับไปยังนครธม เมืองหลวงในขณะนั้น

ปราสาทภูเพ็กนับเป็นปราสาทขอมที่ใหญ่สุดและสูงสุดในไทย ตัวปราสาทยาว 40 เมตร มีอาณาบริเวณครอบคลุมกว่า 300 เมตร องค์กรท้องถิ่นได้สร้างบันไดคอนกรีต 491 ขั้นเพื่อไปถึงปราสาท

พระธาตุภูเพ็ก เป็นปราสาทที่อยู่บนยอดเขาภูเพ็กของเทือกเขาภูพานสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 544 เมตร ปราสาทแห่งนี้ก่อด้วยหินทราย ในลักษณะเทวาลัยที่ไม่แล้วเสร็จ

ปัจจุบัน นอกจากเค้าโครงของปราสาท ยังมีแท่งศิวลึงและปฏิทินสุริยะ ที่คนสมัยก่อนใช้ในการคำนวณ วัน เดือน ปี (คล้ายกับปฏิทินของชาวมายาในละตินอเมริกา) ภายใต้ตัวปราสาทยังมีหลักฐานหลายอย่าง ที่ชี้ให้เห็นว่าขอมใช้ดวงอาทิตย์ เพื่อกำหนดเวลาในการทำพิธีกรรมได้อย่างแม่นยำ

การสร้างปราสาทขอมเกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ ระบบสุริยะ ปราสาทหันหน้าไปทางตะวันออก ขอมถือปฏิทินมหาศักราช วันปีใหม่ คือ วันวสันตวิษวัต คือ วันที่ 21 หรือ 22 มีนาคม วันที่กลางวันกับกลางคืนเท่ากัน

ในวันนั้น เวลา 07.00 น. ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางตะวันออก ลำแสงดวงอาทิตย์ส่องตรงผ่านแท่งศิวะลึง และแท่งหินช่องสี่เหลี่ยม ผ่านไปยังกึ่งกลางของประตูปราสาท

วันที่ 23 กันยายน วันศารทวิสุวัต วันสำคัญอีกวันหนึ่งที่กลางวันกับกลางคืนเท่ากัน ในฤดูกาลปกติของทางตะวันตก คือ การเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง

พระธาตุภูเพ็กเป็นศาสนสถาน ที่ประทับของทวยเทพในศาสนาฮินดู คนที่เข้าไปได้ คือ พราหมณ์กับเจ้าเท่านั้น คนอื่นๆ อยู่ด้านนอก มีลานกว้างเพื่อการร่ายรำและทำพิธีกรรมต่างๆ ในการบูชาเทพเจ้าของราษฎร

ที่สกลนครมีพระธาตุนารายณ์เจงเวง ปราสาทขอมเก่าอีกแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองสกลนคร 6 กม. ซึ่งตามข้อมูลของผู้รู้ อย่างคุณสรรค์สนธิ บุณโยทยาน ผู้ศึกษาเรื่องปราสาทขอมเก่าแก่ต่างๆ อย่างลุ่มลึกบอกว่า ปราสาททั้งสองอยู่ในเส้นตรงแนวเดียวกัน

เขาบอกว่า ถ้ายิงมุมกล้องลงไปในหนองหารจะเห็นดอนสวรรค์ (เกาะใหญ่สุด) ห่างออกไป 20 กม. จะเห็นเรืองแสงเป็นสีแดง ถ้ามุมกล้องน้อยกว่าหรือมากกว่าก็จะไม่มีสี

ปราสาทเกี่ยวกับวิศวกรรมและฟิสิกส์  ดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ และความเชื่อ การที่ปราสาทสร้างไม่เสร็จก็เป็นโอกาสให้ได้เรียนรู้เรื่องวิศวกรรม ฟิสิกส์ เห็นวิธีก่อสร้าง การเข้าหิน ลำเลียงหิน การออกแบบ

คุณสรรค์สนธิบอกว่า ถ้าดูกูเกิลเอิร์ธ จะเห็นภูเพ็กกับปราสาทบายนที่นครธมเกือบเป็นเส้นตรงแนวเดียวกัน มองไป 400 กม. ถ้าสายตายาวก็จะเห็นพระโพธิสัตว์ยิ้มมาหาเรา

หลายปีที่ผ่านมา ทางจังหวัดส่งเสริมการท่องเที่ยว นำคนขึ้นไปรับแสงอรุณแรกแห่งปีตามปฏิทินขอม คือวันที่ 21 มีนาคม และวันที่ 23 กันยายน คงไม่ใช่ทุกคนที่ขึ้นไปได้ เพราะต้องเดินขึ้นบรรไดไป 491 ขั้น

ปัจจุบัน กรมศิลปากรกำลังดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ มีคนไปเที่ยวชมปีหนึ่งจำนวนไม่น้อย แต่ก็ไม่ได้มีการบำรุงรักษาเท่าที่ควร มีการขีดเขียน สลักชื่อตนเองตามกำแพงโบสถ์ ด้วยข้อความที่ทำลายความงามของสถานที่อย่างน่าเสียดาย

การส่งเสริมให้พระธาตุภูเพ็กเป็นมรดกโลก มีความสำคัญ เพราะจะทำให้มีการอนุรักษ์อย่างเป็นระบบ  มีการท่องเที่ยวมากขึ้น จะเป็นความภูมิใจของคนสกลนคร เป็นทุนทางปัญญา ทางวัฒนธรรมที่สำคัญ

มีข้อมูลที่นักท่องเที่ยวควรได้รับรู้ ถ้ามีการสร้างศูนย์ข้อมูลไว้สำหรับคนที่ต้องการ หรือไม่สามารถเดินขึ้นไปถึงปราสาทข้างบนสุดได้ มีการปรับปรุงบริเวณให้น่าไปเดิน ไปพักผ่อนโดยมีการปลูกต้นไม้นานาชนิด ที่เป็นถิ่นกำเนิด เพราะเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานภูพาน

พระธาตุภูเพ็กจะได้รับการยกให้เป็นมรดกโลกโดยยูเนสโกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับชาวสกลนครก่อนใครอื่น ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ร่วมมือกันสนับสนุน ความพร้อมเพรียงที่เคยแสดงให้เห็นอย่างแข็งขันมาแล้วคราวที่ “ชาวสกลนคร” ลุกขึ้นมาปกป้อง “ดอนสวรรค์” ที่มีคนอยากเอาไปใช้ประโยชน์

คราวนี้คงไม่ใช่แต่ “ชาวเมืองสกลฯ” เท่านั้น แต่ “ชาวจังหวัดสกลนคร” ทั้งหมดควรร่วมมือกัน เสนอรัฐบาลผ่าน สส. สว. ผู้ว่าฯ กระทรวงวัฒนธรรม

พระธาตุภูเพ็กเป็นมรดกที่บรรพชนได้สร้างไว้และส่งต่อมาจนถึงวันนี้ เป็นภูมิปัญญามีคุณค่าที่ควรร่วมมือกันอนุรักษ์ ส่งเสริมให้ผู้คนจากทั่วประเทศ ทั่วโลก ได้มาชื่นชม เรียนรู้ประวัติศาสตร์และอารยธรรมในท้องถิ่นของเมือง “หนองหารหลวง” แห่งนี้