ทวี สุรฤทธิกุล

การเมืองต้องปลุกเร้า ด้วยต้องการ “เผาใจ” คนหมู่มาก เพื่อนำไปสู่เป้าหมายต่าง ๆ ทางการเมือง

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการนำเสนอภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องหนึ่งอย่างเอิกเกริก เรื่อง “ปฏิวัติ 2475” (ชื่อภาษาอังกฤษคือ 2475 Dawn Of Revolution) ตอนแรกผู้เขียนก็เฉย ๆ ยังไม่อยากดู แต่ในไลน์ของกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะในฝ่ายอนุรักษ์ มีการขยั้นขยอ “ชวน” ให้ดู พร้อมขอความคิดเห็น ซึ่งผู้เขียนก็พยายามดูให้จบในเช้าวันศุกร์ที่ต้องส่งบทความนี้ แต่ด้วยเหตุที่มีงานอื่น ๆ ต้องทำในบ้าน ก็เลยแบ่งดูเป็นช่วง ๆ จนเวลาล่วงเลยไปถึงเที่ยงจึงดูจบ แล้วมานั่งเขียนบทความนี้

ในตอนหนึ่งเป็นฉากหลังการปฏิวัติผ่านไปแล้ว 4 วัน คือวันที่ 28 มิถุนายน 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้คณะราษฎรเข้าเฝ้าเพื่อลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร เมื่อลงพระปรมาภิไธยโดยทรงขอเติมชื่อท้ายรัฐธรรมนูญแต่เพียงว่า “ชั่วคราว” ก็ทรงถามว่าใครเป็นเขียน “ประกาศคณะราษฎร” ที่โจมตีกษัตริย์อย่างสาดเสียเทเสียในวันที่ยึดอำนาจ ซึ่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรมก็ออกมายอมรับ ทรงถามต่อว่าทำไมจึงใช้ถ้อยคำรุนแรงนัก หลวงประดิษฐ์ก็ตอบในใจความที่ผู้เขียนขอสรุปแบบรวบๆ มาว่า “เพราะมุ่งชัยชนะ จำต้องปลุกเร้า และต้องให้ทุกคนมีความรู้สึกร่วมกัน”

ถ้อยคำนี้สอดคล้องกับบทความที่ผู้เขียนกำลังนำเสนออยู่พอดี คือยืนยันว่าการเมืองเป็นเรื่องของอารมณ์โดยแท้

หลายท่านคงเกิดไม่ทันในเหตุการณ์นั้น แต่นักประวัติศาสตร์รวมถึงนักค้นคว้าและผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเหตุการณ์ในครั้งนั้น ได้บันทึกฉากต่าง ๆ ไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะ “พัฒนาการของอารมณ์ผู้คน” ที่ต่อเนื่องกันมาโดยตลอด อย่างที่ผู้เขียนได้เขียนไว้ในบทความนี้ในสัปดาห์ก่อน นั่นก็คือ “อารมณ์เบื่อเจ้า” ทำนองเดียวกัน ภายหลังที่คณะราษฎร “รวบอำนาจ” เข้าปกครองประเทศมาได้ระยะหนึ่ง ผู้คนก็เริ่ม “เบื่อคณะราษฎร” ถึงขั้นที่เรียกคณะราษฎรนั้นว่าเป็น “เจ้าพวกใหม่” ท้ายที่สุดคณะราษฎรก็แตกกัน จนกระทั่งทหารเข้ายึดอำนาจใน พ.ศ. 2490 ก็เข้าสู่ยุค “ทหารครองเมือง”

กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ที่นำมาซึ่งรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ได้เปิดเผย “อารมณ์” อันสำคัญของสังคมไทย คือ “ความถวิลหวังในสถาบันพระมหากษัตริย์” ดังที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ประหลาดใจในยอดขายหนังสือพิมพ์สยามรัฐใน พ.ศ. 2493 ภายหลังการตีพิมพ์นวนิยายเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ออกไปไม่กี่ตอน ซึ่งท่านได้มาวิเคราะห์เรื่องนี้ในภายหลังว่า น่าจะเป็นด้วยกระแส “ต้องการพระเจ้าอยู่หัว” ของคนไทย อารมณ์นี้สอดคล้องกับทหารกลุ่มของพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่กำลังแข่งบุญแข่งวาสนากับพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ที่เกาะใบบุญจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นใหญ่และมีอำนาสวาสนาเป็นล้นพ้นอยู่ในตอนนั้น เพราะพลเอกสฤษดิ์ได้ปรับบทบาทของกองทัพบกให้เป็น “ทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ที่สุดเมื่อพลเอกสฤษดิ์เอาชนะพลตำรวจเอกเผ่ากับจอพล ป. ได้แล้ว ก็ยังได้สร้างอุดมการณ์ใหม่ให้ประเทศไทย ด้วยคำว่า “ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์” อันทำให้ทหารครองความยิ่งใหญ่ในทางการเมืองเรื่อยมา

อย่างไรก็ตาม แนวคิด “ทหารของในหลวง” นี้เองก็กลายเป็นบูมเมอแรงย้อนเข้าทำให้เกิดความร้าวฉานในหมู่นายทหาร อย่างที่เกิดขึ้นในยุคของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ตัวพลเอกเปรมก็แทบจะเอาตัวเองไม่รอด กระทั่งเกิดกระแส “เบื่อป๋า” ถึงขั้นมีการถวายฎีกาให้พลเอกเปรมลาออก ที่สุดพลเอกเปรมก็ต้องพูดว่า “ผมพอแล้ว” อันแสดงถึงการยอมรับความจริงในกระแสอารมณ์ของผู้คนดังกล่าว โดยไม่ขอรับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2531

ความจริงถ้าเราวิเคราะห์ในดี ๆ อารมณ์ “เบื่อ” ต่าง ๆ ทั้ง เบื่อเจ้า เบื่อคณะราษฎร และเบื่อทหาร อาจจะสรุปได้ว่าคือ “เบื่อผู้มีอำนาจ” นั่นเอง เพราะต่อมาแม้แต่ในยุคที่มีการเลือกตั้ง คนไทยก็เบื่อ “นักเลือกตั้ง” ที่รวมถึงรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งนั้นด้วย ดังจะเห็นได้จากทุกครั้งที่มีการรัฐประหารยึดอำนาจ ทหารก็จะใช้เหตุผลข้อหนึ่งอยู่เสมอว่า รัฐสภาและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีปัญหา รวมทั้งที่มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่แสดงความยินดีเมื่อทหารเข้ายึดอำนาจ อย่างที่มีคนเอาดอกไม้ไปปักที่ปากกระบอกปืนและรถถังในการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 หรือเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็มีชาวบ้านพากันไปไชโยโห่ฮิ้วให้กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารนั้นด้วย

ชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองในกลุ่มก้าวหน้า 2 ครั้งหลัง ใน พ.ศ. 2562 และ 2566 ในความคิดของผู้เขียนก็เชื่อว่าเป็นเรื่อง “อารมณ์เบื่อ” นั้นด้วยเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง โดยในภาพกว้างน่าจะเป็นการเบื่อผู้ปกครองที่เป็นทหาร แต่เมื่อมองภาพแคบเข้าไป ก็มีการเชื่อมโยงเข้ากับสถาบันสูงสุดในสังคมไทยนั้นด้วย อย่างที่มีความเชื่อว่าสถาบันทหารกับสถาบันพระมหากษัตริย์นี้มีความสัมพันธ์กัน “อย่างแนบแน่น” มาอย่างยาวนาน สถาบันทั้งสองนี้จึงเป็นเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลง หรือที่ฝ่ายหัวก้าวหน้าบางกลุ่มใช้คำเบา ๆ ว่า “ปฏิรูป” หรือในกลุ่มที่หัวรุนแรงก็คือ “ล้มล้าง” อันกำลังเป็นปัญหา “วิกฤติ” ของสังคมไทย (ถ้าเป็นภาษาของศาลรัฐธรรมนูญก็คือการใช้คำว่า “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย”) ดังนั้นการแก้ไขหรือคลี่คลายวิกฤตินี้ก็คือจะต้อง “เข้าใจ” ต้นตอของปัญหา ดังที่ได้ชี้แนะมาในเบื้องต้นส่วนหนึ่งนี้ว่าเกิดจาก “ความเบื่อ” นั่นเอง

ความเบื่อเป็นเรื่องทางจิตใจ เราจึงควรวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางจิตวิทยา ซึ่งในวิชารัฐศาสตร์ก็มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ เรียกว่า “จิตวิทยาการเมือง” ซึ่งสำหรับท่านที่เคยเรียนวิชารัฐศาสตร์ในระดับปริญญาตรี ก็น่าจะเคยได้เรียนมาแล้วทุกคน เพียงแต่จะเข้าใจและนำมาประยุกต์เปรียบเทียบกับปรากฏการณ์จริงในทางการเมืองบ้างหรือไม่เท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ผู้เขียนก็จะขออนุญาตทบทวนวิชาความรู้ทางด้านนี้ พร้อมกับใช้ “จิตวิทยาการเมือง” แก้ไขปัญหาของประเทศ โดยเฉพาะในเรื่อง “วิกฤติความเบื่อผู้ปกครอง” นี้ ซึ่งก็คงจะต้องเป็นในสัปดาห์หน้า

อ้อ ขณะนี้มีข่าว “น่าเบื่อ” อยู่ข่าวหนึ่ง คือข่าวนักโทษชายคนหนึ่ง “เตร็ดเตร่” ไปโน่นไปนี่ โดยแสร้งว่าป่วยบ้าง ไม่ป่วยบ้าง ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเรื่องจะเป็นยังไงต่อไปหรือจะจบลงยังไง แต่ผู้เขียนชอบใจความเห็นของนักวิชาการท่านหนึ่งคือ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ที่บอกว่าเรื่องนี้อาจจะทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ร้ายแรง เพราะมันกำลัง “เซาะกร่อนบ่อนทำลายอารมณ์ผู้คน”

(ฮา) มีใคร “เบื่อ” องค์กรอิสระที่รกรุงรังบางองค์กรบ้างไหม?