เสียงเตือนจาก คำนูณ สิทธิสมาน วุฒิสมาชิก ฝากไปถึง พรรคเพื่อไทย และโดยฉพาะอย่างยิ่ง คือตัว อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีความชัดเจนอยู่แล้วว่า ไปเยือนกัมพูชา แต่อย่างุบงิบ แอบเจรจาเรื่อง พื้นที่ทับซ้อน อย่าลืมว่าเรื่องนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจาก รัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187


 สืบเนื่องจากมีความเคลื่อนไหวที่ บุตรสาวคนเล็ก ของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คือแพทองธาร ยกคณะผู้บริหารพรรคเพื่อไทยบินไปกัมพูชา เมื่อวันที่ 18 มี.ค.67 ที่ผ่านมา ตามคำเชิญของ สมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในวาระ กระชับมิตร ระหว่าง พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชนกัมพูชา 
 ซึ่งน่าจะถือเป็น ภาคต่อ  ภายหลังจากที่สมเด็จ ฮุน เซน เพิ่งบินมาเยี่ยม อดีตนายกฯทักษิณ เพื่อนรัก ถึงบ้านจันทร์ส่องหล้า   ที่เพิ่งได้รับการพักโทษก่อนหน้านี้ แน่นอนว่าการขยับของพรรคเพื่อไทย โดยมีแพทองธาร เป็นหัวขบวนมีขึ้นในห้วงเวลาที่เพิ่มจุดอ่อนให้กับ พรรคเพื่อไทย ไปจนถึง รัฐบาลที่มี เศรษฐา ทวีสิน นั่งเป็นนายกฯ ไม่น้อย 


 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคเพื่อไทยและนายกฯเศรษฐา จะต้องรับมือกับ วุฒิสภา ที่วางคิวซักฟอกรัฐบาลในวันที่ 25 มี.ค.67 นี้ แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจของวุฒิสภา เคยถูกปรามาสจาก แกนนำเพื่อไทย มาก่อนหน้านี้ว่าเป็นการ ทิ้งทวน ก่อนหมดวาระ ในวันที่ 11 พ.ค.นี้ เท่านั้นไม่มีอะไรต้องวิตกกังวล 


 แต่ในเมื่อ สว.ที่ประกาศ จองกฐิน เตรียมอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 153 รอบนี้แม้จะไม่มีการลงมติชี้ว่า รัฐมนตรี คนไหนจะอยู่หรือไม่ก็ตาม ทว่าสว.ที่เข้าชื่อกันในกลุ่ม 152สว. ที่ยกมือโหวต ให้เศรษฐา ได้นั่งนายกฯคนที่ 30 เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2566 ที่ผ่านมา  คือหนึ่งใน ข้อแลกเปลี่ยน จาก ดีลลับ ให้ ทักษิณ ได้กลับไทย และพรรคเพื่อไทย ได้เศรษฐา เป็นนายกฯ  โดยที่ต้องไม่มี พรรคก้าวไกล อยู่ในสมการรัฐบาลใหม่


 ดังนั้น การทิ้งทวนของสว.ชุดที่มาจาก คสช. จึงย่อมไม่ใช่ ความปกติ การทำหน้าที่ ตามมาตรา 153 เท่านั้น ! ในทางตรงกันข้าม ผล จากการซักฟอก กลับมีโอกาสที่จะ ขยายผล ให้สถานการณ์ลุกลามบานปลายตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ความไว้วางใจ พรรคเพื่อไทยที่เดินทางไปพบกับสมเด็จ ฮุนเซน ที่กัมพูชา จะไม่มีการงุบงิบ แอบพูดคุยกันใน ข้อพิพาท การเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ขุมทรัพย์ใต้อ่าวไทยมูลค่า 20 ล้านล้านบาท ในพื้นที่ทับซ้อน ที่เกาะกูด จ.ตราด  ของสองประเทศ กว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร กับกัมพูชาหรือไม่ 


 อย่าลืมว่าประเด็นเรื่องนี้ถูกจับตามาโดยตลอด นับตั้งแต่ที่ ฮุน มาเนต นายกฯกัมพูชา เดินทางมาไทย และได้พบกับนายกฯเศรษฐา เมื่อราวต้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมา แต่จนถึงล่าสุด ยังไม่มีความคืบหน้าไปถึงขั้นตั้งคณะกรรมการเจทีซีฝ่ายไทยขึ้นมา ดังนั้นเมื่อยังไม่มีคณะกรรมการดังกล่าว ก็เท่ากับว่ายังไม่มีการเจรจา 


 อย่างไรก็ดี เมื่อประเด็นการเจรจาปัญหาพื้นที่ทับซ้อน ระหว่างไทยกับกัมพูชา แม้จะยังไม่มีความคืบหน้า แต่ ความสัมพันธ์ ระหว่าง ครอบครัวชินวัตรกับสมเด็จฮุน เซน นั้นแนบแน่น เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะ ยิ่งทำให้ทั้งพรรคเพื่อไทยและครม.ยืนอยู่บนความไม่ไว้วางใจ ทั้งในและนอกสภาฯ  


 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมี อธิปไตยประเทศ เป็นเดิมพัน โอกาสที่จะถูก ปลุก ให้เกิดความเคลื่อนไหว ต่อต้าน ทักษิณ ระลอกใหม่ ใช่ว่าจะไม่มีให้ได้เห็น !