ทวี สุรฤทธิกุล

อารมณ์เป็นเรื่องของจิตใจ การเมืองเรื่องอารมณ์จึงเกี่ยวกับ “จิตวิทยาการเมือง” โดยแท้

“จิตวิทยาการเมือง” เป็นหนึ่งในทฤษฎีที่สำคัญของวิชารัฐศาสตร์ ซึ่งมีสอนกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ส่วนใหญ่จะใช้ในการสงคราม ยุคแรก ๆ จะสอดแทรกอยู่ในมหากาพย์ของบางชาติ เช่น รามเกียรติ์และมหาภารตะยุทธของอินเดีย อีเลียดของกรีก และสามก๊กของจีน เป็นต้น รวมถึงที่เขียนถึงการทำสงครามโดยเฉพาะ อย่างที่รู้จักกันดีก็คือ ตำรับพิชัยสงครามของซุนวู หรือในประเทศตะวันตกก็มีตำราการปกครองประเทศเรื่อง The Prince ของแมคเคียเวลลี่ เมื่อ 500 ปีก่อน ที่ถือกันว่าเป็นตำรารัฐศาสตร์ยุคบุกเบิก

“จิตวิทยาการเมือง” มีการศึกษากันจริงจังและเป็นระบบมากขึ้นในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะที่ศึกษาเกี่ยวกับสงครามเย็นในระดับโลก ที่เกี่ยวกับการต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์ประชาธิปไตยกับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ในลักษณะของการสร้างสงครามแย่งชิงประชาชน การโฆษณาชวนเชื่อ และแสวงหาพันธมิตร รวมถึงในประเทศที่มีการเลือกตั้งก็จะใช้จิตวิทยาการเมืองสร้างความนิยม เอาชนะเลือกตั้ง และสร้างฐานทางการเมือง โดยเฉพาะในยุคสมัยใหม่ที่เป็นโลกการสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในโลกเสมือนจริง จิตวิยาการเมืองก็พัฒนาไปถึงขั้น “ก่อสงครามดิจิตอล” ระหว่างผู้ที่นิยมกลุ่มหรือพรรคการเมืองแต่ละฝ่ายนั้นขึ้นมาแล้ว อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า “Cyber War” ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าในยุคนี้ เราไม่อาจจะรู้ได้จริง ๆ ว่า อะไรจริง อะไรเท็จ หรือ “จะเชื่อใคร?”

จิตวิทยาการเมืองในสมัยก่อนเน้นศึกษากลุ่มคนหรือผู้คนจำนวนมาก จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “จิตวิทยามวลชน”  แต่ต่อมาก็จะเน้นเป็นกลุ่มเฉพาะจนกระทั่งเป็นรายบุคคล อย่างที่เรียกว่า “ปัจเจก” นั้นมากขึ้น โดยเฉพาะในสงครามดิจิตอลที่กำลังลุกลามอยู่ในขณะนี้ การทำความเข้าใจถึงอารมณ์และความรู้สึกของผู้คนเป็นรายบุคคลถือว่าเป็น “ศาสตร์ขั้นสุดยอด” แต่กระนั้นก็ยังไม่มีใครศึกษาได้สมบูรณ์ 100 % แม้กระทั่งในสาขาการแพทย์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ เพราะจิตของมนุษย์นั้น “ยากแท้หยั่งถึง” นั่นเอง ดังนั้นในทางรัฐศาสตร์ที่เป็นศาสตร์ทางสังคม ก็ยังอยู่ในขั้นของ “การตีความ คาดเดา และสรุปบางส่วน” แต่ถ้ามีการศึกษาที่เป็นระบบที่ดี ก็อาจจะนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองได้หลากหลาย โดยเฉพาะในการต่อสู้ทางการเมืองต่าง ๆ นั้น

ผู้เขียนมองว่าในปัจจุบัน สงครามการเมืองไทยคือการแย่งชิงประชาชนผ่าน “โลกเสมือนจริง” คือโลกที่คู่สงครามแต่ละฝ่ายสร้างขึ้นเอง ที่ต้องตั้งสมมุติฐานไว้ก่อนเลยว่า แต่ละฝ่ายนั้น “ยึดติด” แต่ข้อมูลและเป้าหมายของตนเป็นหลัก ข้อมูลที่นำเสนอออกมาจึง “น่าจะบิดเบือน” ตั้งแต่ระดับน้อย ๆ จนถึงมากที่สุด (อย่างกรณีภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง 2475 Dawn of Revolution ที่ได้กล่าวถึงในคอลัมน์นี้เมื่อสัปดาห์ก่อน) โดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ส่วนมากเป็นคนรุ่นเก่า ค่อนข้างจะเสียเปรียบ เพราะ “โลว์เท็ค” กว่าฝ่ายประชาธิปไตยที่เป็นพวกคนรุ่นใหม่ที่อายุยังน้อย และ “ไฮเท็ค” มากกว่ามาก (ดูภาพยนตร์แอนิเมชั่นของฝ่ายอนุรักษ์ก็ชัดเจน เพราะยังเขียนให้ปากขยับผะงาบ ๆ แบบการ์ตูนยุค 50 ปีก่อน) ดังนั้นเป้าหมายของพวกอนุรักษ์นิยมที่ “เกาะอุ้มสถาบัน” ก็อาจจะเพลี่ยงพล้ำแก่พวกประชาธิปไตย ที่ต้องการ “พลิกกลบสถาบัน”

การต่อสู้ด้วยข้อมูลมีจุดอ่อนมากมาย นอกเหนือจากความเชี่ยวชาญในด้านการใช้และการพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว ข้อมูลนั่นเองแหละที่เป็นปัญหา เพราะในโลกเสมือนจริง(ในยุคใหม่)นี้ คนถูกแบ่งแยกเป็นก้อน ๆ และถูกใส่ข้อมูลของ “ผู้ให้” เข้าไปเรื่อย ๆ โดย “ผู้รับ” มักจะถูกยัดข้อมูลนั้นเพียงด้านเดียว รวมถึงที่ผู้รับก็ชอบที่จะรับฟังข้อมูลเพียงด้านเดียวนั้นอยู่แล้ว (ตามทฤษฎีจิตวิทยาที่ว่าด้วยการรับส่งข้อมูล ที่ผู้รับจะเปิดรับข้อมูลที่ชอบหรือถูก “ยัดเยียด” ให้แบบที่ผู้รับไม่รู้สึกตัว แต่ถูกส่งมาให้เป็นประจำและมีการเลือกสรรเฉพาะที่ถูกใจ) ดังนั้น เมื่อ “ก้อนข้อมูล” ถูกอัดเข้าไปใน “ก้อนกลุ่มคน” ก็จะสามารถนำกลุ่มคนที่คิดและเชื่อ รวมถึง “มีอารมณ์” เหมือน ๆ กันนี้ ก่อให้เกิดพลังในทิศทางต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี (หรืออย่างร้ายก็ได้)

หากเรามองสังคมไทยในสภาพที่เป็นจริง สถาบันหลัก ๆ ของประเทศไทยในทุกวันนี้ มีความเข้มแข็งที่แตกต่างจากในสมัยก่อนอย่างแน่นอน เอาเฉพาะสถาบันที่เราแตะต้องได้ อย่างกองทัพก็ “ยวบ” ลงไป หลังการตั้งรัฐบาลเศรษฐาชุดนี้ ที่วุฒิสภาซึ่งถือกันว่าเป็นสภาทหารมีความแตกแยกกันอยู่ข้างใน รวมถึงพรรคการเมืองที่มาผสมกันเป็นรัฐบาลนั้นด้วย ที่พลังอนุรักษ์ระหว่างพี่น้อง 3 ป ต้องมาหมางใจกัน ถึงขั้นที่เชื่อกันว่าเมื่อ ส.ว.ชุดนี้หมดอำนาจในการมีส่วนร่วมตั้งนายกรัฐมนตรีฯเพราะต้องเปลี่ยนชุดใหม่ในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ รัฐบาลและตัวนายกรัฐมนตรีก็คงจะต้องมีการ “เปลี่ยนไป” ทีนี้ถ้ารัฐบาลอยู่ไม่ได้ก็อาจจะมีการเลือกตั้งใหม่ ที่ก็มีหลายคนเชื่อกันว่าถ้าฝ่ายประชาธิปไตยได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นจำนวนมากอีก (โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลที่อาจจะถูกยุบพรรค แต่สมาชิกไปลงเลือกตั้งในนามพรรคใหม่ และได้เข้ามาก ๆ อีก) ก็จะแสดงถึงความอ่อนแออย่างถึงที่สุดของฝ่ายอนุรักษ์ และนั่นคือจุดจบของหลาย ๆ สถาบันที่หลาย ๆ คนกังวล เว้นแต่ว่าบางสถาบันเหล่านั้นจะพร้อมที่จะปรับตัวเข้ากับ “พลังแวดล้อมอันใหม่” นี้หรือไม่

ประวัติศาสตร์นั้นสร้างขึ้นได้ คนที่เคยเรียนทฤษฎีประวัติศาสตร์มาอย่างลึกซึ้ง น่าจะเคยทราบถึงทฤษฎีที่ว่า “ประวัติศาสตร์ที่จดจำกันได้ดี คือประวัติศาสตร์ที่อยู่ในชั่วอายุของแต่ละคน” หรือที่เรียกว่า “ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย” นั่นเอง อีกทั้งในบางประเทศอย่างประเทศไทย ก็มีความเชื่อกันว่า “ใครเขียนประวัติศาสตร์ เขาก็เขียนเพื่อยกย่องพวกเขานั่นเอง” ดังที่ฝ่ายประชาธิปไตยสั่งสอนกันมาว่า ประวัติศาสตร์ไทยมีแต่เรื่องพงศาวดาร หรือเรื่องของกษัตริย์ผู้ปกครอง ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของประชาชน จนถึงขั้นที่สั่งสอนกันต่อไปว่า “ขอประชาชนจงมาร่วมกันสร้าง(เขียน)ประวัติศาสตร์หน้าใหม่”

ตอนนี้ฝ่ายอนุรักษ์พอจะเข้าใจ “อารมณ์” ของประชาชนหรือยังว่ากำลังเป็นอย่างไร  โดยเฉพาะประชาชนที่กำลังถูก “ดูดกลืน” เข้าไปในฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ใช่เอาแต่พร่ำบ่นว่า “พวกเนรคุณ พวกอกตัญญู” แล้วตั้งป้อมที่จะต่อสู้กับอารมณ์ของคนรุ่นใหม่เหล่านั้น ซึ่งยากที่จะเอาชนะหรือปรับเปลี่ยนได้

พวกที่ชอบเกาะอุ้มสถาบัน คงพอจะจำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าวชิระเกล้าอยู่หัวฯที่ทรงตอบผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ในพระราชวโรกาสที่เสด็จไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรงฤดูหนาวพระแก้วมรกต ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ที่ผู้สื่อข่าวคนนั้นตั้งคำว่า พระองค์ท่านทรงคิดอย่างไรเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันที่มีประชาชนกลุ่มหนึ่งเรียกร้อง โดยทรงตอบว่า

"ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอม" (Thailand is the land of compromise.) เท่านี้ก็จะเห็นพระราชวิสัยทัศน์และพระราชปรีชาญาณส่องทางให้คนไทยทุกคนแล้ว