เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phogphit

คนไทยกินข้าวที่ชาวนาปลูกตามที่รัฐบาลส่งเสริมไม่กี่สายพันธุ์ ทั้งๆ ที่ในอดีตมีข้าวพันธุ์พื้นเมืองอยู่ถึง 5,000 สายพันธุ์ (บางข้อมูลบอกว่า มีถึง 20,000 สายพันธุ์) 

จากหลายพันเหลือหลายร้อย ปลูกกันเพียงสิบ เพราะ “การพัฒนา” ตั้งแต่ 2504 ที่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม ที่ไทยต้องการพัฒนาประเทศด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 โดยมีพี่ใหญ่อเมริกาหนุนหลัง พร้อมกับเสนอให้ปลูกข้าวกข. พันธุ์ที่มีการวิจัยและพัฒนาที่สถาบันข้าวที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งอเมริกาส่งเสริมสนับสนุน

ฝรั่งอ้างว่า ข้าวพื้นเมืองของไทยแข็งไป ไม่อร่อย ผลผลิตต่อไร่ได้น้อย พันธุ์ใหม่ของเขาปลูกได้ผลผลิตมากกว่า นุ่มกว่า อร่อยกว่า ถูกปากคนทั่วโลก จะได้ส่งออกนำเงินเข้ามาพัฒนาประเทศ

ไทยก็เชื่อฝรั่ง โดยไม่รู้ว่า ข้าวพันธุ์ใหม่ที่ปลูกแบบอุตสาหกรรมไม่นานก็มาพร้อมกับปุ๋ยเคมีเพราะดินเริ่มเสื่อม ยาปราบศัตรูพืช เพราะเริ่มมีเพลี้ย มีหนอน มีรา มีโรค มีหญ้าก็ใช้ยาฆ่าหญ้า ไม่ต้องถอนให้เมื่อย

นี่คือเรื่องเล่าที่น่าเศร้าของชาวนาไทย ที่ร้อยวันพันปีมีแต่หนี้สิน เพราะวงจรอุบาทว์ของการทำนาที่ถูกกระทำเหมือน “หมอเลี้ยงไข้” ไม่มีทางออกจาก “หลุมดำ” ของการเกษตรประเทศนี้

เล่าไปก็เหมือนนิทาน ตำนานการกลับมาของข้าวพื้นเมืองไทยในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะที่ภาคอีสาน ที่ยโสธรและที่สกลนคร เป็นตัวอย่าง

การปรับตัวของชุมชนหลายแห่งเปรียบได้กับเรือลำน้อยที่ไปช้าแต่คล่องตัว และถึงจุดหมายได้ อย่างกรณีบ้านโคกสะอาด ตำบลอุ่มจาน จังหวัดสกลนคร ซึ่งเดิมมีชื่อว่าบ้านน้อยเลิงฮัง เพราะมีต้นรังอยู่มาก อันเป็นที่มาของ “กลุ่มข้าวหอมดอกฮัง” ที่โด่งดังวันนี้

โคกสะอาดเป็นหมู่บ้านเล็กๆ รายล้อมด้วยป่าเต็งรัง ดินก็เป็นลูกรัง ไม่เก็บน้ำ ไม่เหมาะสำหรับการปลูกข้าวที่นิยมกันอย่างข้าวหอมมะลิ แต่ในอดีตปู่ย่าตายายเคยปลูก 40 สายพันธุ์ คำถามจึงมีว่า ทำไมไม่กลับไปหาพันธุ์เก่าแก่ที่หายไปนั้นมาปลูกอีก

คนที่ตอบคำถามนี้อย่างจริงจัง คือ คุณบำเพ็ญ ไชยรักษ์ ลูกหลานบ้านโคกสะอาดเอง ซึ่งเคยเป็นนักเขียนสารคดีสิ่งแวดล้อมใน “มูลนิธิฟูชีวิตและธรรมชาติ” สัมภาษณ์ชาวนา จนรู้แจ้งเห็นจริงวงจรอุบาทว์ปัญหาชาวนา ตัดสินใจกลับบ้านเกิดเพื่อค้นหาคำตอบที่หมู่บ้าน ด้วยการลงมือ “วิจัยและพัฒนา” ร่วมกับชุมชน

เธอเริ่มหาข้าวพันธุ์เก่าที่หลงเหลืออยู่น้อยนิดมาทดลองปลูกว่า พันธุ์ใดเหมาะกับพื้นที่นาโคก นาที่อยู่กับป่าเต็งรัง ที่เธอว่าธรรมชาติก็เกื้อกูลกัน นาได้น้ำได้ปุ๋ยได้สารอาหารจากป่า คุณบำเพ็ญรวบรวมและวิจัยพัฒนาข้าวได้กว่า 250 สายพันธุ์ เธอพัฒนาชุมชนของตนเองเป็น “ห้องเรียนเรื่องข้าวและระบบนิเวศ” ดูว่ามีผลอย่างไรต่อสภาพแวดล้อม ดิน น้ำ แดด และป่าโคก และพบว่า ข้าวหลายสายพันธุ์ปลูกได้ดีในพื้นที่ของหมู่บ้าน เธอลงมือทำ “เกษตรเชิงนิเวศ” คือการเกษตรที่เป็นมิตรกับธรรมชาติและเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ  ทำให้ทนต่อสภาพอากาศและโรคได้ดี

ที่สำคัญ ข้าวที่เหมาะกับระบบนิเวศเป็นข้าวที่อร่อย และมีคุณค่าทางอาหารสูง ตามที่สถาบันการศึกษาต่างๆ ในสกลนครได้นำไปวิจัย

กลุ่มข้าวหอมดอกฮังมีสมาชิก 30 ครัวเรือนที่ร่วมมือกันทำเกษตรอินทรีย์ด้วยพันธุ์ข้าวโบราณผสมผสานหลายสิบสายพันธุ์ ทำการสีเป็นข้าวกล้อง แปรรูปปลายข้าวเป็นแชมพู สบู่ น้ำมันรำข้าว ครีมบำรุงผิว ผงข้าว และอื่นๆ พร้อมกับ “เรื่องเล่า” ที่มาและสรรพคุณ ทำให้ขายดีไม่มีเหลือ

บางแปลงปลูกเพียงพันธุ์เดียว อย่างข้าวก่ำน้อย สีสันเข้มจัด สรรพคุณอาหารมาก ลูทีนสูงบำรุงสายตาดี อ่อนนุ่ม กลิ่นหอม  หรือแม้แต่ข้าวต่างที่ก็ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ดี อย่างข้าวโสมมาลี พันธุ์ข้าวเก่าแก่จากโตนเลสาบของกัมพูชา ที่ได้มาจากเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนอีสาน ปลูกได้ผลผลิตเป็นข้าวเมล็ดเรียวยาว สีขาวนวลสวย รสหวานอ่อน สัมผัสนุ่ม กลิ่นหอมเหมือนดอกไม้สมชื่อ ไม่แพ้ข้าวหอมมะลิ

ข้อสังเกตของคุณบำเพ็ญจากประสบการณ์กว่า 10 ปีที่หมู่บ้านพบว่า ปีไหนแล้งจัด ข้าวได้ผลผลิตน้อย ข้าวจะหอมมากเวลานำไปหุง ทำให้เข้าใจว่า ชุมชนปรับตัวกับสภาพแห้งแล้งได้อย่างไรในอดีต

เธอบอกว่า ข้าวบางชนิดอาจจะแข็ง ทานไม่อร่อย ก็แปรรูปทำอย่างอื่น อย่างขนมจีน หรือที่มีคนคิดต่อยอดอะไรใหม่ๆ เมื่อมีการนำข้าวนับร้อยสายพันธุ์มาแสดงที่กรุงเทพฯ หุงนึ่งให้ทานแล้วบางคนก็รู้ว่าจะนำสายพันธุ์ไหนไปทำอะไร บางสายพันธุ์หวานๆ อาจเอาไปทำสาโท เป็นต้น

สรุปบทเรียนและความสำเร็จของ “กลุ่มข้าวหอมดอกฮัง” ได้ด้วย 3 คำ มี “คน-ความรู้-ระบบ” มีผู้นำอย่างคุณบำเพ็ญ ไชยรักษ์ ที่เรียนรู้ ฟื้นฟูภูมิปัญญาเดิมของบรรพบุรุษ พัฒนาความรู้ร่วมกับชุมชน สร้างคนและความรู้ใหม่ไปพร้อมกัน พัฒนาระบบเกษตรนิเวศ  

ในเวลาเดียวกัน หมู่บ้านโคกสะอาดก็มี “ระบบเศรษฐกิจชุมชน” ที่เข้มแข็ง มีสหกรณ์เครดิตยูเนียนที่ตั้งมาตั้งแต่ปี 2525 มีสมาชิก 6,000 คน จาก 20 หมู่บ้าน มีเงินหมุนเวียน 120 ล้านบาท เป็นสหกรณ์เครดิตยูเนียนที่เแข็งแกร่งที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ  เป็นตัวอย่างของการอยู่แบบพอเพียง ที่แปลว่า พึ่งตนเองและมีความสุข

ชุมชนโคกสะอาดเป็นชุมชนเข้มแข็ง ชาวบ้านเกือบทั้งหมดเป็นคาทอลิก มีความเข้มแข็งทางจิตวิญญาณ มีภูมิคุ้มกัน มีหลักประกันชีวิตที่สหกรณ์เครดิตยูเนียนจัดให้ ถ้าสมาชิกเสียชีวิตก็ยกหนี้ให้ทั้งหมด มีสวัสดิการต่างๆ มีทุนการศึกษาให้บุตรหลาน มีโครงการพัฒนาอื่นๆ ของชุมชน

กลุ่มข้าวหอมดอกฮังที่ทำนาประณีตคนละไม่กี่ไร่ มีรายได้ดีกว่าทำนาแบบเดิมที่มีแต่ขาดทุน แปรรูปข้าวกล้อง มีรายได้มั่นคง ที่สำคัญได้กินข้าวอินทรีย์ดีต่อสุขภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ถ้ารัฐบาลเห็นสัญญาณแห่งกาลเวลา และศักยภาพของชุมชน น่าจะรู้ว่าคำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน และควรจะส่งเสริมสนับสนุนอย่างไร