ความต่างระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยยกคำร้องฐานล้มล้างการปกครองใหกับพรรคเพื่อไทย แต่ชี้พฤติการณ์ของพรรคก้าวไกลเข้าข่ายนั้น

มีมุมคิดวิเคราะห์มาจาก นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน ระบุความตอนหนึ่งในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2467  ว่า

“นายเรืองไกร (ลีกิจวัฒนะ) ยื่นร้องยุบพรรคเพื่อไทย เป็นการร้องเฉพาะแถลงการณ์ของนายชัยเกษม นิติสิริ (เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2564) เกี่ยวกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีเดียว โดยไม่นำกรณีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และอุ้งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และหลากหลายแกนนำได้ปราศรัยหาเสียงมาร่วมบรรยายฟ้องด้วย

ดังนั้น คำร้องของนายเรืองไกร จึงแตกต่างจากคำร้องยุบพรรคก้าวไกลในกรณีล้มล้างการปกครอง ซึ่ง กกต.บรรยายคำร้องเชื่อมโยงคนหลายคน โดยไม่ได้ร้องแบบแยกส่วนเป็นกรณีเหมือนคำร้องให้ยุบพรรคเพื่อไทย”

นั่นเป็นมุมมองของนายจตุพร แต่หากพิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุถึงเหตุที่วินิจฉัยยกคำร้องของพรรคเพื่อไทยไว้ว่า “ข้อเท็จจริงตามคําร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ปรากฏว่านายชัยเกษม นิติสิริ ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคและไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้ถูกร้อง และไม่ปรากฏ ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นได้ว่าผู้ถูกร้องมีความมุ่งหมายหรือการกระทำใดๆ ที่น่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง”

ขณะที่เมื่อไปดูคำวินิจฉัยที่ชี้ว่าพรรคก้าวไกลเข้าข่ายการกระทำล้มล้างการปกครองระบุว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง (นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้น และพรรคก้าวไกล:ผู้เขียน)มีพฤติการณ์ในการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและความคิดเห็นเพื่อการทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยซ่อนเร้นหรือผ่านการนำเสนอกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรค เหตุการณ์คำร้องผ่านพ้นไปแล้วแต่การดำเนินการรณรงค์ให้การยกเลิกการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ของผู้ถูกร้องทั้งสองดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นขบวนการ โดยใช้หลายพฤติการณ์ ทั้งการชุมนุม การจัดกิจกรรม การรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร การใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง หากยังปล่อยให้ผู้ถูกร้องทั้งสองกระทำการดังกล่าวต่อไปย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 2 จึงเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ซึ่งวรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ อาศัยเหตุผลดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 2 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง สั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำ เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การโฆษณาและการสื่อความหมายวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 74”