สถาพร ศรีสัจจัง

คาฮ์ลิล  ยิบราน (Kahlil  Gibran. ค.ศ.1883-1931) เลือดเนื้อเชื้อไขเลบานอน เป็นกวีร่วมสมัยคนสำคัญที่สุดของโลกคนหนึ่งแห่งศตวรรษที่ 20 บทนิพนธ์ประเภท “Prose poem” เรื่อง “The Proplet” (ศาสตราจารย์ ดร.ระวี  ภาวิไล  ราชบัณฑิต และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ แปลเป็นพากย์ไทยว่า “ปรัชญาชีวิต”) ของเขา เป็นที่รู้จักทรงอิทธิพลทางความคิดมาอย่าวนาน และเป็นหนังสือที่ได้รับการประกาศว่า “ขายดีที่สุดตลอดกาล” เล่มหนึ่ง  ปัจจุบันมีแปลเป็นภาษาต่างๆในโลกแล้ว มากกว่า 30 ภาษา!

เมื่อลองนับอายุหนังสือ “ปรัชญาชีวิต” หรือ “The Prophet” ดู  ก็พบว่า มีอายุครบ 1 ศตวรรษ หรือ 100 ปีในปี พ.ศ. 2566 พอดี !

ได้ข่าวมาว่า ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน ปี 2567 ที่กำลังจะถึง(ซึ่งเป็นวันเสียชีวิตของ “คาฮ์ลิล ยิบราน” เมื่อพ.ศ. 2474) “ร้านหนังสือเล็กๆ” ที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ จะร่วมกับสำนักพิมพ์ “ผีเสื้อ” (สำนักพิมพ์ที่ผลิตหนังสือคุณภาพสูงทั้งด้านเนื้อหาและรูปแบบของคุณมกุฏ อรฤดี นักเขียนลือนาม ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์) ผู้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้(ในยุคปัจจุบัน) จะจัดงานเพื่อร่วมรำลึกถึงคุณค่าและความสำคัญของหนังสือเล่มดังกล่าว ในวาระ “เข้าสู่ปีที่ 101”

รายละเอียดเกี่ยวกับงานดังกล่าว คงสามารถติดตามหาดูได้จาก “เพจ” ของร้านและของสำนักพิมพ์ผู้จัดงานได้ละกระมัง?

ใครอยู่ใกล้ๆหรือผ่านไปเที่ยวเชียงใหม่ช่วงนี้ ก็อย่าลืมแวะไป เห็นว่ามีกิจกรรมเยอะแยะเลย ทั้งนิทรรศการ การบรรยายโดยผู้ทรงคุณวุฒิ   การขายหนังสือ และ พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นกันเกี่ยวกัยหนังสือเล่มนี้และเรื่องราวของตัวกวี ฯลฯ

แต่ตอนนี้เราจะทำให้เรื่องเกี่ยวกับ “The Plopret” และ “คาฮ์ลิล ยิบราน” แคบเข้า โดยเพียงจะขอพูดถึง “วาทกรรม” (discouse)ของเขาเพียงบทหนึ่งเท่านั้น!

ที่จริงในหนังสือ “ปรัชญาชีวิต” มี “วาทกรรม” ที่ได้รับการพูดถึงหรืออ้างอิงถึงกันอย่างกว้างขวางเป็นจำนวนมาก นิพนธ์เรื่องนี้นับเป็นผลงาน “มหัศจรรย์” เล่มหนึ่งของโลกก็ว่าได้ เพราะตอนที่ยิบรานเขียนหนังสือเล่มนี้ เขามีอายุเพียง 18 ปีเท่านั้นเอง! 

แต่ “content” หรือเนื้อหาเรื่องราวที่นำเสนอกลับครอบคลุมแก่นแท้แห่งชีวิตของมนุษย์อย่างลุ่มลึกที่สุด ทั้งสำนวนภาษาก็ได้รับดารยกย่องว่างดงามละมุนละไมและแจ่มชัดกินใจอย่างที่สุด!

ใครไม่เชื่อก็ลองไปหาอ่านกันดูเอาเองก็แล้วกัน ไม่ต้องอ่านฉบับภาษาอังกฤษก็ได้ เพราะฟังว่าเฉพาะที่เป็น “พากย์ไทย” ซึ่งท่าน ศ.ดร.ระวี ภาวิไล แปลมานั้น ก็ได้รับการยกย่องนักหนาว่า มีสำนวนการแปลแบบ “แปลบทกวีเป็นบทกวี”อย่างแท้จริง คือนอกจากจะมีเนื้อความที่ตรงชัดตามต้นฉบับแล้ว ยังมีความเป็นเลิศทางด้านความงดงามและความไพเราะทางภาษาเป็นอย่างยิ่งอย่างหาเปรียบยากอีกด้วย!

ก่อนที่จะหยิบยกวาทกรรมทรงคุณค่าของคาฮ์ลิล  ยิบราน ที่อยากพูดถึงเพื่อ “เชื่อมโยง” กับกวีชาวไทยอย่างวีระศักดิ์  ยอดระบำ (ที่พูดถึงมาก่อนแล้ว)เผื่อมีใครที่ยังไม่เคยอ่าน “ปรัชญาชีวิต” เล่มนี้ มาก่อน จึงอยากยกตัวอย่างบาง “วาทกรรม” ที่พบ มายั่วให้น้ำลายสอกันสัก 2-3 วาทกรรมก่อนจะเป็นไร…เช่น เขาว่าไว้อย่างนี้ :

“ความรักมิให้สิ่งอื่นใด นอกจากตนเอง  และก็ไม่รับเอาสิ่งใด นอกจากตนเอง ความรักไม่ครอบครอง และไม่ยอมถูกครอบครอง เพราะความรักนั้นพอเพียงแล้วสำหรับตอบความรัก…” “จงรักกันและกัน แต่อย่าสร้างพันธะแห่งความรัก”… “บุตรของเธอ ไม่ใช่บุตรของเธอ เขาเหล่านั้นเป็นบุตรและธิดาแห่งชีวิต เขามาทางเธอ แต่มิได้มาจากเธอ และแม้ว่าเขาจะอยู่กับเธอ แต่ก็ไม่ใช่สมบัติของเธอ”… “การงานคือความรักปรากฏตนเป็นรูปร่าง”… “แม้เธอจะโค่นบัลลังก์ทุรราช ก็จงดูให้แน่ใจเสียก่อนว่า บัลลังก์ของเขาภายในเธอถูกทำลาย   

ก่อนแล้ว” ฯ ล ฯ

แต่วาทกรรมที่ต้องการยกมาเพื่อ “เชื่อมโยง” กับวาทกรรมของกวีไทยคือคุณวีระศักดิ์  ยอดระบำ ผู้วายชนม์ ที่ว่า “มนุษย์จะมีชีวิตอยู่ภายใต้ความเชื่อของผู้อื่นได้อย่างไร?” ซึ่งได้กล่าวถึงมาก่อนแล้วนั้น เป็น “วาทกรรม” ที่อยู่ในบทหนึ่งของหนังสือ “The Propret” ตอนที่ท่าน “ศาสดาพยากรณ์” ในท้องเรื่อง (ก็คือ “คาฮ์ลิล  ยิบราน” ตอนอายุ 18 ปีคนนั้นนั่นแหล!) ถูกถามเรื่อง “การสอน” !

วลีหนึ่งในบทอรรถาธิบายขนาดยาว เพื่อแสดงให้เห็นว่า ในเรื่องเกี่ยวกับสัจจะหรือความจริงแท้แห่งชีวิตนั้น แท้ที่จริงแล้ว ไม่มีใครสามารถสอนหรือบอกให้เห็นหรือให้ใครเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ได้(แบบกลไก) บุคคลต้อง “เห็น” หรือ “ตระหนักรู้” โดย “ญาณทัสนะ” (insight) โดยตนเท่านั้น!

ยิบรานนำเสนอทรรศนะในเรื่องนี้คล้ายๆกับทรรศนะเชิงพุทธ ที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวว่าพระองค์ทรงเป็นเพียง “กัลยาณมิตร” เท่านั้น ยิบรานก็บอกเช่นกันว่า ครูนั้นเป็นเพียง “ผู้ให้ความเชื่อมั่นและความรัก” แก่ศิษย์เท่านั้น เพราะ “ความเห็นของบุคคลหนึ่ง ไม่อาจให้ปีกแก่บุคคลอื่นขอยืมได้”!!

นี่คือ “วาทกรรม” ที่สำคัญและทรงค่ายิ่งจากเด็กหนุ่มวัย 18 ปี ผู้เป็น “The proplet” ตัวจริง คือ “คาฮ์ลิล ยิบราน” กวีแห่งโลกคนนั้น!

ลองเชื่อมโยงและเปรียบเทียบดูกันเอาเองเถิดว่า ระหว่างวาทกรรม “มนุษย์จะมีชีวิตอยู่ภายใต้ความเชื่อของผู้อื่นได้อย่างไร?” ของกวีไทย “วีระศักดิ์  ยอดระบำ” กับกวีระดับโลกอย่าง “คาฮ์ลิล ยิบราน” ที่ว่า “ความเห็นของบุคคลหนึ่ง ไม่อาจให้ปีกแก่บุคคลอื่นขอยืมได้” นั้น มีความเหมือนหรือแตกต่างมีความร่วมและความขัดกันอย่างไรบ้าง?

ที่บอกอย่างนี้ ก็เพราะเชื่ออย่างที่ยิบรานบอกนั่นแหละ คือเชื่อว่า “ความเห็นของบุคคลหนึ่ง ไม่สามารถให้ปีกแก่บุคคลอื่นขอยืมได้”!

แต่จะเหมือนหรือไม่เหมือน จะสามารถเชื่อมโยงหรือไม่สามารถเชื่อมโยงก็ตาม ก็ขอแสดงความคิดเห็นไว้เพียงว่า ในช่วงยามที่โลกกำลังป่วนปั่น เกิดมิคสัญญีอย่างรุนแรง เพราะบรรดา “จักรพรรดินิยมยุคใหม่” (Neo Imperialism)กำลังบ้าคลั่งขาดสติ ก่อสงครามฆ่าคนเล็กคนน้อยในขอบเขตทั่วโลกเพเพียงเพื่อขายค้าอาวุธและเครื่องจักรกลต่างๆ (และอาจด้วยความขลาดกลัวต่อ “กรรม” ที่ตัวเองก่อไว้ หรือ ก่อขึ้นอย่างที่ประจักษ์กับตากันอยู่ในขณะนั้น) การกลับมา “เรียนรู้และเห็นตัวเอง” ก็น่าจะเป็นเรื่องสำคัญมิใช่หรือ?

หรือจะต้องรอ “ยืมปีกความเห็น” จากคนอื่น คือยอมให้ “คนอื่น” โปรแกรมความคิด เพื่อให้เชื่อ ให้คิดและ “ต้องเป็น” ตามที่พวกมันอยากให้เป็น (คือเป็นเหยื่อพวกมันนั่นแหละ!) อยู่อย่างนั้นละ? ทำไมจึงไม่อยากลอง “มีชีวิตอยู่ภายใต้ความเชื่อของตัวเอง แบบจริงๆจังๆบ้างละ?หรือยังมองไม่เห็นว่า วันนี้ ศพของ  “ความดี ความงาม และ ความจริง” นอนตายกันเกลื่อนอยู่ทั้งโลกแล้ว หรือยังจะเดินตามกันไปตายทั้งเป็นอยู่อีก!!