เว็บไซต์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (https://www.chula.ac.th/) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “พระเกี้ยว” ไว้ว่า “เป็นสัญลักษณ์ที่ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภูมิใจ สืบเนื่องจากชื่อของมหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัยนี้ 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้พระเกี้ยวเป็นพิจิตรเรขาประจำรัชกาลของพระองค์ เมื่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือนหรือโรงเรียนมหาดเล็ก จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระเกี้ยว เป็นเครื่องหมายหน้าหมวกของนักเรียนมหาดเล็ก และได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายของโรงเรียน เมื่อโรงเรียนมหาดเล็กได้วิวัฒน์ขึ้นเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้บริหารได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เปลี่ยนข้อความใต้พระเกี้ยวตามชื่อซึ่งได้รับพระราชทานใหม่ตลอดมา

พระเกี้ยวองค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตึกจักรพงษ์ เป็นพระเกี้ยวซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อสร้างจำลองจากพระเกี้ยวจริงที่ประดิษฐานอยู่ในพระคลังมหาสมบัติในพระบรมมหาราชวัง และได้พระราชทานแก่มหาวิทยาลัยต่อหน้าประชาคมจุฬาฯ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีการศึกษา 2531  เมื่อ 13 กรกฎาคม 2532”

ส่วนกระแสวิจารณ์กรณีใช้รถกอล์ฟอัญเชิญ “พระเกี้ยว” ในงานเทศกาลงานกีฬาฟุตบอลสานสัมพันธ์ “จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์” ที่ผ่านมาถึงความเหมาะสม มีคำอธิบายจากจากเพจ จุฬา BAKA ว่า พระเกี้ยวกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยรถไฟฟ้า เปรียบเสมือนองค์ความรู้ที่อยู่คู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้พัฒนาวงการต่าง ๆ ในประเทศไทยและในระดับโลก ในทุกยุคสมัย ขณะเดียวกันก็ได้กลับมาโอบอุ้มให้มหาวิทยาลัยก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงแข็งแรง สอดรับกับพันธกิจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย

เราๆท่านๆคิดเห็นกันอย่างไร ต่างจิตต่างใจเส้นแบ่งระหว่าง “สร้างสรรค์” กับ “ทำลาย” มีเพียงเส้นบางๆ ที่คนรุ่นเราอาจได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น ส่วนจะเป็นการพัฒนาสร้างสิ่งใหม่และวิวัฒน์ไปข้างหน้าอย่างไรนั้น กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์