ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยรังสิต

เข้าสู่ช่วงต้นเดือนเมษายนของทุกปี นอกจากจะเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเต็มตัวแล้ว ยังเป็นฤดูกาลที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากในสังคมไทย ใช่แล้วครับ “ฤดูกาลเกณฑ์ทหาร” นั่นเอง

การยกเลิกการเกณฑ์ทหารเป็นอีกหนึ่งดราม่ามหากาพย์ของสังคมไทยโดยเฉพาะในช่วงหลัง ประเด็นด้าน สิทธิเสรีภาพ ความปลอดภัย หรือแม้แต่เหตุผลด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เป็นเหตุผลหลักๆที่สนับสนุนให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ซึ่งล้วนเป็นเหตุผลที่มีคำอธิบายที่ชัดเจน โดยเฉพาะหากพิจารณาถึงหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ว่าทำไมผู้คนในสังคมจึงตั้งคำถามและต้องการจะยกเลิกการเกณฑ์ทหารกัน ส่วนตัวผู้เขียนในฐานะนักวิชาการด้านความมั่นคงมักเจอกับคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นประจำ ก็จะถือโอกาสนี้ได้วิเคราะห์และตอบคำถามต่างๆ ให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาตาม โดยวันนี้ผมจะขอนำเสนอมุมมองด้านความมั่นคงมาเป็นกรอบในการพิจารณาดูบ้าง เผื่อเราจะพบคำตอบที่แตกต่างไป เริ่มกันเลยครับ

ในมิติด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ ทหารมีหน้าที่ปกป้องประเทศจากการรุกรานของศัตรู มีผู้สงสัยใครรู้จำนวนไม่น้อยถามผมว่า ปัจจุบันนี้เราจะไปรบกับใครที่ไหน? เลยเถิดไปถึง เราจำเป็นต้องมีทหารหรือไม่? ซึ่งหากพิจารณาอย่างเป็นธรรมโดยใช้หลักวิชาการจะพบเพียงคำตอบเดียวว่า “ประเทศไม่มีทหารไม่ได้” เพราะแม้ทฤษฎีความมั่นคงระหว่างประเทศต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงหลังจะให้ความสำคัญกับภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่มากกว่าการใช้กำลังเข้ายึดครองกันเหมือนสมัยเก่าแก่ แต่สถานการณ์ในโลกก็ยังคงเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าการใช้กำลังทหารเข้าห้ำหั่นกันนั้น...ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ “ผลประโยชน์ไม่ลงตัว” อาทิ ภาพความขัดแย้งในรัสเซีย-ยูเครน ตะวันออกกลาง หรือแม้แต่การระแวงซึ่งกันและกันระหว่างมหาอำนาจทางนิวเคลียร์ เพราะสุดท้ายกำลังทหารก็ยังเป็น “ไพ่ใบสุดท้าย” ของการเมืองระหว่างประเทศและการทูต  

หากจะอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ทหารเปรียบเสมือน “ประกันสุขภาพ” ที่ต้องมี แม้ว่าจะไม่ได้ใช้ (และไม่อยากจะได้ใช้) แต่เมื่อจำเป็นต้องใช้...ก็ต้องมี บางมุมมองอาจมองการพัฒนากองทัพให้เข้มแข็ง...ว่าสิ้นเปลืองทรัพยากร แต่หากมองด้วยมิติทางความมั่นคง จะพบว่า การมีกองทัพที่เข้มแข็งเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐต้องจัดหาให้กับประชาชน เพื่อรับประกันความปลอดภัยให้กับประชาชนในยามศึกสงคราม หรือจะเปรียบว่าเป็น “ประกันสุขภาพของชาติ” ก็ไม่ผิดแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องนี้ไม่ต่างอะไรกับการพัฒนากลไกการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่ก็เปรียบเสมือนประกันสุขภาพเช่นกัน

เมื่อทหารจำเป็นต้องมี แล้วการเกณฑ์ทหารล่ะ?

การจะเกณฑ์ไม่เกณฑ์ ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการคนมากน้อยขนาดไหนเพื่อมาปฏิบัติภารกิจของกองทัพ และการต้องการคนมากน้อยขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบของกองทัพและภัยคุกคาม กล่าวได้ว่า ถ้ากองทัพต้องการคนน้อย ลำพังอาสาสมัครก็เต็มแล้ว เช่นนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเกณฑ์ จะยกเลิกก็ทำได้สบายๆ

กองทัพในโลกนี้มีอยู่ด้วยกันสองแบบใหญ่ๆ ได้แก่ กองทัพที่ใช้กำลังพลจำนวนมาก หรือเรียกได้ว่า Manpower-Base Army เป็นกองทัพรูปแบบคลาสสิกที่ใช้คนจำนวนมาก อีกรูปแบบหนึ่ง คือ กองทัพที่ทดแทนกำลังพลด้วยเทคโนโลยีทางทหาร หรือเรียกได้ว่า Technological-Base Army ซึ่งพบเห็นได้มากขึ้นในปัจจุบันในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ แน่นอนว่ากองทัพในรูปแบบหลังมักจะมากับการ “ลดกำลังพล” เพราะมีเทคโนโลยีมาทดแทนคนจำนวนมาก ทำให้กองทัพมีขนาดกะทัดรัด กำลังพลในกองทัพประเภทนี้จึงมีลักษณะเป็นแรงงานที่มีฝีมือและมีค่าจ้างสูงสอดคล้องกับภารกิจ และแน่นอน มักมีลักษณะเป็นกองทัพอาสาสมัครมากกว่าโดยสถิติ

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย กองทัพของเรายังคงเป็นรูปแบบ Manpower-Base Army อยู่ในปัจจุบัน คำถามสำคัญต่อมาคือ เราต้องการให้กองทัพของเราเป็นอย่างไร? เป็น Manpower Based หรือ พัฒนาไปเป็น Technological Based? ที่ต้องถามเช่นนี้เพราะวันนี้หลายคนเรียกร้องโดยไม่ได้วิเคราะห์จากบริบทของความเป็นจริงและหลักการที่ควรคำนึงถึง เช่น เรียกร้องให้กองทัพลดกำลังพล...แต่ไม่ต้องการให้กองทัพพัฒนาด้านอาวุธยุทโธปกรณ์เพราะมองว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ อาจเพราะถูกบดบังด้วยกระแสทางการเมืองจนลืมใช้กรอบด้านความมั่นคงมาวิเคราะห์ร่วม แนวคิดเช่นนี้เป็นแนวคิดที่แอบอันตราย เพราะหากลดกำลังพลลง แต่ไม่สามารถพัฒนาเป็น Technological based ได้ เราจะได้กองทัพที่เล็กลงอย่างเดียวโดยไม่มีเทคโนโลยีมาทดแทนคนที่หายไป เรียกว่า “เอาดีไม่ได้สักทาง” ซึ่งจะไม่มีผลดีต่อประเทศชาติและประชาชนในภาพรวมแต่อย่างใด 

หลายคนถามว่า ถ้างั้นไม่ลดกำลังพล...แล้วยกเลิกเกณฑ์ทหารเปลี่ยนเป็นอาสาสมัครทั้งหมดแทน ได้ไหม? คำตอบของผมก็คือ ได้...แต่เราต้องมีงบประมาณเพียงพอครับ เพราะการสร้างแรงจูงใจให้คนไทยเข้ามาเป็นอาสาสมัครเต็มอัตราโดยไม่ลดกำลังพลนั้นเป็นงบประมาณมหาศาล ดังนั้น ถ้าจะเอาคอนเซปต์นี้ ก็ต้องจัดให้มีค่าตอบแทนที่ดึงดูดใจ ซึ่งนั่นหมายถึงโจทย์ทางเศรษฐกิจของชาติ ที่ต้องหารายได้ให้มากขึ้นเพื่อให้มีเงินงบประมาณที่มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเราต่างรู้กันดีว่าสถานการณ์ด้านงบประมาณของไทยในปัจจุบัน เราไม่มีงบประมาณเพียงพอ

จากตัวอย่างข้างต้น หากวิเคราะห์ด้วยการใช้หลักการความมั่นคงเข้ามาเสริม ผู้เขียนอาจขออนุญาตเสนอแนะว่า วันนี้ภาคการเมืองทุกฝ่ายจำเป็นต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อผลประโยชน์ของชาติ ยึดหลักการทางวิชาการและความเป็นจริง แนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพและความมั่นคงของชาติเป็นสิ่งสามารถพัฒนาร่วมกันได้ เช่น การผลักดันให้กองทัพมีเทคโนโลยีทางทหารที่ทันสมัย เพื่อที่จะได้ลดกำลังพลลงได้และสามารถเปลี่ยนการเกณฑ์ทหารไปเป็นระบบอาสาสมัครเต็มรูปแบบ โดยที่ทหารอาสาสมัครได้รับค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาสิทธิเสรีภาพไปด้วยโดยอัตโนมัติ เป็นต้น

ส่วนตัวของผู้เขียนเห็นด้วยกับการปฏิรูปกองทัพและการมีกองทัพที่เป็นอาสาสมัคร แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่ว่า เราจะปฏิรูปอย่างไร ปฏิรูปแล้วได้อะไร เป็นสิ่งที่ต้องคิดให้รอบด้าน โดยต้องผสมผสานกันระหว่างแนวคิดเชิงสิทธิเสรีภาพและแนวคิดด้านความมั่นคงของชาติ ขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปไม่ได้ หลักการได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง...อาจไม่เหมาะกับบริบทเช่นนี้

เอวัง