เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com กฎหมายที่ให้พนักงานรักษาความปลอดภัยทุกคนต้องจบม.3 ออกมาไม่ทันไรก็ต้องยกเลิก เป็นประเด็นที่ควรสรุปบทเรียน ปัจจุบันประเทศไทยมี รปภ.อยู่ประมาณ 4-5 แสนคน มีบริษัทที่ดำเนินการเรื่องนี้ประมาณ 4,000 แห่ง และดูเหมือนว่าธุรกิจนี้มีอัตราการเติบสูงมาก เห็นว่า ค้าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละประมาณ 20,000 บาท มีคนจบ ม. 3 เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น กฎหมายที่ออกมาจึงนำมาใช้ไม่ได้ นอกนั้น ก็ยังไม่มีรายงานตัวเลขที่แท้จริงว่า มีคนต่างชาติอย่างพม่า เขมร ลาวร้อยละเท่าไร โลกกำลังเปลี่ยน มีการคาดการณ์ว่า ไม่นาน ความต้องการรปภ.จะลดลง เพราะจะมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น มีกล้องวงจรปิด และพัฒนาการของ “อินเทอร์เน็ต ออฟธิงส์” หรือการควบคุมสารพัดสิ่งด้วยระบบเซนเซอร์ การจ้างรปภ.จำนวนมากและแพงๆ ไมว่าบ้านจัดสรร คอนโด หรือสำนักงานคงจะเปลี่ยนไป วงการนี้คงต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถแบบ “มืออาชีพ” จริงๆ ที่ไม่ได้เพียงทำความเคารพและยกไม้กั้นเมื่อคนเข้าออกหมู่บ้าน แต่มีความสามารถในการใช้เครื่องมือสมัยใหม่อย่างคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และการให้บริการความช่วยเหลือที่มากกว่าแค่การจับงูในหมู่บ้าน อยากถามเหมือนว่า รปภ. 4-5 คนวันนี้มีจำนวนเท่าไรที่มีความรู้ความสามารถแบบ รปภ.มืออาชีพจริงๆ บริษัทรปภ.ให้สัมภาษณ์ทางสื่อว่า พวกเขาพบว่า พนักงานเก่าๆ อายุมาก จบป.4 ส่วนใหญ่ดีกว่าคนรุ่นใหม่ที่เรียนจบสูงกว่า มีความซื่อสัตย์ อดทน ขยัน ตรงต่อเวลา รับผิดชอบมากกว่า จึงแปลกใจว่า ทำไมรัฐบาลนี้ถึงได้ออกกฎหมายบังคับให้รปภ.ต้องจบม.3 เพราะการศึกษาไทยคงไม่ได้ช่วยให้รปภ.ดีขึ้น เก่งขึ้น เป็นมืออาชีพมากขึ้นสักเท่าไร สู้ออกระเบียบ ออกกฎให้รปภ.ทุกคนต้องผ่านหลักสูตรการฝึกอบรม ได้ประกาศนิยบัตรวิชาชีพไม่ดีกว่าหรือ เหมือนกับกรณีการดูแลผู้สูงอายุ ที่กระทรวงสาธารณสุขมีหลักสูตรฝึกอบรมให้ 420 ชั่วโมง สามารถนำไปประกอบอาชีพดูแลผู้สูงอายุได้โดยได้รับการรับรองจากกระทรวงแรงงานที่ครอบคลุมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เท่าที่สอบถามรปภ.ในหลายหมู่บ้านจัดสรร ไม่ปรากฏว่า พนักงานได้ผ่านการอบรมอะไรเลย ก็แค่ประชุมกันตอนเช้าตอนเย็น จึงไม่แน่ใจว่า กระทรวงแรงงานมีระเบียบบังคัยเรื่องนี้อย่างไร เพราะมีบริษัทรปภ.หลายแห่งที่จัดหลักสูตรให้พนักงานของตนและคนที่อยากไปทำงานที่อื่นให้เรียนรู้ ไม่ทราบว่าเรียนกันทั้งทฤษฎีและปฏิบัติกี่ชั่วโมง ดูหลักสูตรที่บางบริษัทบอกไว้ก็น่าสนใจ เช่น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การใช้วิทยุสื่อสาร อาวุธศึกษา วิชาป้องกันและระงับอัคคีภัยในสถานประกอบการ กฎหมายเบื้องต้น การต่อสู้ป้องกันตัว วิชาคุณธรรมและจริยธรรม การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ไปจนถึงการสังเกตและจดจำบุคคลและยานพาหนะ ถ้ารปภ.ผ่านหลักสูตรเหล่านี้และทำได้จริง น่าจะมีคุณภาพคุ้มกับค่าจ้าง เป็นมืออาชีพที่สามารถทำสิ่งที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำแทนไม่ได้ หมู่บ้าน คอนโด หรือสถานประกอบการก็คงอุ่นใจที่ได้รปภ.ที่ได้ประกาศนิยบัตรวิชาชีพรปภ. แบบนี้ที่รัฐให้การรับรอง ดีกว่า “วุฒิ ม.3” ที่ใครๆ ถามว่า เอาไปทำอะไร ไปเรียนท่องหนังสือเพื่อสอบเอาวุฒิตามกฎหมาย แต่ความรู้ที่ได้ในหลักสูตรการศึกษาไทยวันนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับการรักษาความปลอดภัยของใครเลย ประเทศเยอรมนีมีชื่อเสียงว่า “บ้าประกาศนิยบัตรวิชาชีพ” ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะสังคมเยอรมันเห็นว่า ถ้าไม่มีความรู้จริง แล้วคุณจะไปทำงานอย่างมีคุณภาพได้อย่างไร จะทำอาชีพใดจึงต้องเป็น “มืออาชีพ” และเพื่อเป็นมืออาชีพก็ต้องเรียนรู้ และรู้จริงจากการปฏิบัติด้วย ไม่ใช่รู้แต่ทฤษีแล้วไปเรียนใหม่ในภาคปฏิบัติอย่างที่ทำกันในประเทศไทย สังคมเยอรมันให้คุณค่าประกาศนิยบัตรวิชาชีพสูงมาก เพราะคนที่จะได้ประกาศนิยบัตรต้องผ่านการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติจริงๆ มาแล้ว ต้องผ่านการฝึกงาน ทำงานกับคนมืออาชีพในอาชีพนั้นๆ จนได้รับการรับรอง ไม่ว่าจะเป็นช่างทาสีบ้าน ทำงานไฟฟ้า ประปา รวมไปถึงการทำสวน ทำนา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงย้ำเสมอว่า ทำอะไรต้องใช้วิชาการ ใช้ความรู้ และพระองค์ทรงทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง นอกจากเรียนรู้จากตำรา จากคนอื่น ยังทรงเรียนรู้เองจากการปฏิบัติ และคิดค้นสร้างสรรค์สิ่งใหม่ จนได้จดสิทธิบัติและทรงได้รับรางวัลมากมาย ทรงงานอย่างมืออาชีพ ทรงดนตรีอย่างนักดนตรีอาชีพ (นักดนตรีอเมริกันบอกว่า ถ้าไม่ทรงเป็นพระมหาเกษัตริย์ จะทรงเป็นนักดนตรีระดับโลกได้เลย) ทรงเป็นนักกีฬาเหรียญทอง ทรงพระอักษรและทรงแปลหนังสือดีๆ หลายเล่ม ทรงเป็นนักถ่ายภาพ ทรงเรียนรู้เรื่องภูมิสังคมอย่างลึกซึ้ง ทรงเป็นนักปรัชญาที่ไม่ได้อยู่บนหอคอยงาช้าง แต่ทรงศึกษาภูมิปัญญาของตะวันตกตะวันออกของมนุษยชาติ นำมาผสานกับความรู้ประสบการณ์จากการปฏิบัติ จึงทรงพัฒนาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่ไม่มีในตำรา แต่สร้างแรงบัดาลใจให้คนทั่วโลก ที่ยอมรับและนำไปประยุกต์ใช้