ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยรังสิต

 

“Digital Nomad” อาจเป็นคำที่ท่านผู้อ่านหลายท่านไม่เคยได้ยินมาก่อน...สัปดาห์นี้ ผมจะพาไปรู้จักกับคำๆนี้กันครับ

Digital Nomad (ดิจิทัล โนแมด) คือ อะไร? ถ้าจะแปลกันอย่างตรงไปตรงมา คำว่า Nomad มีความหมายว่า “คนเร่ร่อน” ครับ ดังนั้นคำว่า Digital Nomad ก็ยังคงมีความหมายที่สะท้อนภาพของคนเร่ร่อนอยู่ในระดับหนึ่ง หากแต่คนเหล่านี้ไม่ใช่คนที่เร่ร่อนแบบไม่มีจะกินตามภาพที่หลายๆคนอาจจะนึกถึงเมื่อพูดถึงคำว่า “เร่ร่อน”

Digital Nomad นั้น กล่าวได้ว่า หมายความถึงทั้งกลุ่มบุคคลรวมไปถึงไลฟ์สไตล์ที่คนกลุ่มหนึ่งมี ซึ่งคนกลุ่มนี้นั้นมักเป็นผู้ที่ทำงานด้านที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมเมอร์ นักลงทุน นักเล่นหุ้น หรืออะไรก็แล้วแต่ที่สามารถ “ทำงานที่ไหนก็ได้ ขอแค่มีอินเทอร์เน็ต” ไลฟ์สไตล์ของคนกลุ่มนี้จึงมักออกเดินทางไปยังที่ต่างๆทั่วโลก เพื่อท่องเที่ยว หาประสบการณ์ หาแรงบันดาลใจ เรียกได้ว่าพักผ่อนไปด้วยทำงานไปด้วย จนเกิดเป็นไลฟ์สไตล์ชนิดหนึ่งที่ขยายตัวมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะภายหลังวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป

สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือการที่กลุ่ม Digital Nomad ทั่วโลกได้สร้าง community ออนไลน์ขึ้น รวมกลุ่มกันในแต่ละประเทศ ไปจนถึงมีกลุ่มใหญ่ในระดับโลกเพื่อสนับสนุนกัน ให้ข้อมูลซึ่งกันและกัน กลายเป็นสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่ที่มีพลังมาก (โดยที่หลายๆคนยังไม่รู้จัก) ข้อมูลต่างๆเหล่านี้ล่ะครับ ที่ช่วยเหลือให้ Digital Nomad เหล่านี้เดินทางไปยังที่ต่างๆทั่วโลก

อย่างที่ผมเกริ่นไปตอนแรกครับ ว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่คนเร่ร่อนที่ไม่มีอันจะกิน ตรงกันข้าม Digital Nomad เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็น “ผู้มีอันจะกิน” เนื่องด้วยสายงานที่ทำหรือธุรกิจที่เป็นเจ้าของ เมื่อเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ก็มักนำเม็ดเงินจำนวนไม่น้อยเข้าไปสู่ประเทศต่างๆเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นค่าโรงแรม กินอยู่ กิจกรรม การท่องเที่ยว และอื่นๆอีกมากมาย กลายเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆไปโดยปริยาย ซึ่งโดยมากจะเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ราวๆ 3 ถึง 6 เดือน แล้วจึงย้ายไปที่อื่นๆ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ถูกเรียว่า Nomad หรือคนเร่ร่อนนั่นเอง ในปัจจุบัน สิ่งนี้กลายเป็นอีกหนึ่งเทรนด์สำคัญของหลายประเทศทั่วโลก ที่ลุกขึ้นมาพัฒนากลไกและกฎเกณฑ์ภายในประเทศเพื่อตอบรับกับความต้องการของเหล่า Digital Nomad เหล่านี้

ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับ รัฐกันต์ สุวรรณภักดี (เตอร์) ผู้ริเริ่มก่อตั้งกลุ่ม Digital Nomad Thailand และกำลังจะพัฒนาไปเป็น “สมาคม digital nomad แห่งประเทศไทย” อย่างเป็นทางการ และนี่คือส่วนหนึ่งของการพูดคุยกัน

Digital Nomad Thailand ตั้งขึ้นเพื่ออะไร?

“Digital Nomad Thailand ตั้งขึ้นเพื่อดึงดูด Digital Nomad ทั่วโลกให้มาที่ประเทศไทยครับ เรามองเห็นว่านี่เป็นโอกาส เป็นดีมานด์ที่กำลังเพิ่มขึ้นทุกๆปี ทุกวันนี้ปลายทางที่คนนิยมกันมากคือบาหลี เราก็เชื่อว่าประเทศไทยมีทั้งสถานที่ท่องเที่ยว กิจกรรม อาหาร ที่พัก ที่ดีไม่แพ้บาหลีเลย แต่เรายังขาดบางอย่าง เช่น วีซ่าที่จะอำนวยความสะดวกให้คนกลุ่มนี้ เพราะคนพวกนี้เขาไม่ได้จะเข้ามาทำงานในไทยถาวร เขามักจะมาช่วงสั้นๆ  3 เดือนบ้าง 6 เดือนบ้าง มันเลยไม่ลงล็อค จะถือวีซ่าท่องเที่ยวก็ไม่พอ จะถือวีซ่าทำงานก็ไม่ได้ จะต้องจ่ายเงินมากเพื่อได้วีซ่าพิเศษเขาก็มองว่าไม่คุ้ม นอกจากนี้เรายังขาดการเชื่อมโยงกับ Digital nomad ทั่วโลก ที่จะบอกว่าเรามีดีอะไรที่เขาควรจะมาทำงานพร้อมๆกับใช้ชีวิตในไทย เราเลยจัดตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นสะพานเชื่อมกับกลุ่ม digital nomad อื่นๆ เพื่อให้ข้อมูล ขณะเดียวกันก็ประสานและรวบรวมกลุ่มธุรกิจในไทยที่สนใจ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และกิจกรรมต่างๆ มาร่วมกันหาทางสร้างแรงดึงดูดคนกลุ่มนี้เข้ามาในไทย เราเห็นว่าสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์มากๆกับประเทศไทยครับ” รัฐกันต์ สุวรรณภักดี กล่าว

กล่าวโดยสรุปได้ว่า กลุ่ม digital nomad นั้นเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและกำลังขยายตัวขึ้นเรื่อยๆทั่วโลก สืบเนื่องจากวิถีชีวิตของคนที่เปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตของเทคโนโลยี หลายประเทศแข่งกันฉกฉวยโอกาสนี้ในการดึงดูดคนเหล่านี้เข้ามายังประเทศของตน ประเทศไทยของเราก็เริ่มมีกลุ่มเอกชนที่มีเครือข่ายกับ digital nomad ในหลายๆประเทศเริ่มขยับตัวก่อร่างสร้างตัวเพื่อเป็นสะพานเชื่อมอย่างเป็นทางการในการดึงดูดคนเหล่านี้เข้ามาสนับสนุนเศรษฐกิจของไทย ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งการดำเนินการที่น่านับถือและน่าชื่นชมของภาคเอกชนและภาคประชาชน

หากให้ผมวิเคราะห์เรื่องนี้... ผมมองว่า นี่เป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญของไทย เรามีของดีพร้อม ทั้งที่ท่องเที่ยว อาหาร ที่พัก เหลือเพียงการผลักดันในบางมิติ เช่น กฎระเบียบและการสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประเทศไทยพร้อมที่จะรองรับและรับรองแขกต่างชาติในรูปแบบนี้ ประเทศไทยควรทำ เพราะทำไม่ยากและหลายประเทศกำลังแข่งกันทำ หากทำได้สำเร็จ นี่จะเป็นอีกหนึ่ง Soft power ที่เป็นรูปธรรมและอาจเกิดได้เร็วที่สุด เพราะมันมี “พลังอำนาจ” มากพอที่จะโน้มน้าวจิตใจของคนต่างชาติ ให้ยอมควักเงินในกระเป๋าให้กับคนไทยและเศรษฐกิจไทย และเป็นการใช้ของดีที่ไทยมีอยู่พร้อมแล้ว เรียกได้ว่า ตรงตามนิยามของ soft power ทุกประการ นี่อาจเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าการสร้าง soft power อาจไม่จำเป็นต้องลงทุนมหาศาล ขอแค่ปรับเปลี่ยนกฎระเบียบบางอย่าง สร้างความร่วมมือ สร้างสะพานเชื่อม ก็อาจเพียงพอที่จะสร้าง soft power ได้เช่นกัน ณ วันนี้ก็คงเหลือแค่ว่าใครบ้างจะลุกขึ้นมาช่วยกันผลักดันให้สำเร็จ

แต่วันนี้ชื่นใจ ที่ได้รู้ว่า “ภาคเอกชนและภาคประชาชน” ลุกขึ้นมามีบทบาทเช่นนี้ ถือเป็นนิมิตหมายใหม่ที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ

ชื่นใจ..ที่ได้รู้ว่าภาคเอกชนและภาคประชาชนมีพลัง และไม่ได้รอ “รัฐจัดให้” เหมือนในอดีตอีกต่อไป

เอวัง