นักปราชญ์ คือ คนที่มองเห็นเรื่องธรรมดาแบบไม่ธรรมดา เห็นสิ่งที่คนธรรมดาไม่เห็น เห็นอีกแง่มุมหนึ่ง ด้านหนึ่ง มิติหนึ่ง ซึ่งมีความลุ่มลึกอีกระดับหนึ่ง ด้วยเหตุดังนี้ ภาษาที่ใช้กันทั่วไปจึงไม่อาจ “บรรยาย” หรืออธิบายทั้งหมดได้ นักปราชญ์จึงเป็นผู้ที่ค้นคิดประดิษฐ์ภาษาและคำพูดใหม่ เพื่อสื่อสิ่งที่ต้องการให้คนเข้าใจ หรือให้เครื่องชี้ทางไปสู่ประสบการณ์ การสัมผัสได้ด้วยตนเอง จะได้ “เข้าใจ” ไม่ว่าจะด้วยสมองหรือด้วยหัวใจ ด้วยเหตุผลหรือด้วยญาณทัศนะ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอุดลยเดชทรงเป็นนักปราชญ์ที่ทรงคิดคำพูดและวลีขึ้นมาเพื่อบอกสิ่งที่พระองค์ทรงรู้และรู้สึกอย่างลึกซึ้ง และทรงอยากให้คนอื่นได้รู้ด้วย ให้นำไปปฏิบัติเพื่อจะได้รู้และเข้าใจ ไม่เพียงจากคำอธิบายด้วยเหตุผล แต่ด้วยประสบการณ์ตรงที่บางครั้งเหตุผลก็อธิบายไม่ได้ “เศรษฐกิจพอเพียง” “เกษตรทฤษฎีใหม่” “รู้รักสามัคคี” “ระเบิดจากข้างใน” “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” รวมถึงคำว่า “แก้มลิง” และคำที่ทรงเรียกสิ่งประดิษฐต่างๆ เช่น “กังหันลมชัยพัฒนา” เป็นต้น ควรศึกษาคำเหล่านี้ให้ถ่องแท้ถึงรากฐานทางความคิดของพระองค์ท่าน เพื่อเข้าใจ “กระบวนทัศน์” (paradigm) ของพระองค์ วีธีคิด วิธีปฏิบัติ วิธีให้คุณค่า ซึ่งตั้งอยู่บนฐานการมองโลกความเป็นจริงแบบหนึ่ง นี่เป็นกระบวนการ “ตีความ” (hermeneutic) หรือการ “ถอดรหัส” (decode) เพื่อเข้าใจความหมายลึกของคำ วิลี อันมีเบื้องหลังที่ลึกซึ้งกว่าที่ปรากฎ ถ้าไม่ทำเช่นนี้ก็จะเข้าใจอย่างผิวเผิน ได้แต่เปลือก ไม่ได้แก่น ได้แต่กระพี้ ไม่ได้สาระที่แท้จริง เห็นแต่รูปแบบ ไม่เห็นเนื้อหา เป็นกลไกไม่มีชีวิต ไม่มีพลวัต เพื่อจะ “ถอดรหัส” จึงต้องไปศึกษาฐานคิดของผู้ให้คำพูด วิลี นั้นว่า ได้มีการ “เข้ารหัส” (encode) อะไรไว้ ศึกษากระบวนการทั้งหมด หรือบริบททางสังคมวัฒนธรรมอันเป็นที่หล่อหลอมและมีอิทธิพลต่อวีธีคิดของผู้ให้คำพูด วิลีนั้น อย่าง “เศรษฐกิจพอเพียง” นั้น ตามที่ได้ศึกษามาก็ไม่พบว่า พระองค์ท่านทรงสอนเรื่อง “สามห่วงสองเงื่อนไข” ทรงบอก “พอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน” ซึ่ง (ผู้เขียน) เข้าใจมาตลอดว่า “สองเงื่อนไข” ก็อยู่ใน “สามห่วง” นี้แล้ว ไม่เห็นต้องแยกเอาออกมาให้มากขึ้นอีก เบื้องหลังเศรษฐกิจพอเพียง คือ “พุทธปรัชญา” และ “พุทธเศรษฐศาสตร์” ที่พระองค์ได้ทรงศึกษาเองจากพุทธธรรมและจากการปฏิบัติ และจากงานเขียนของนักเศรษฐศาสตร์อย่างอี เอฟ ชูมาเคอร์ ที่เขียน “เศรษฐศาสต์ชาวพุทธ” (Buddhist Economics) ในบทที่ 4 ของหนังสือ “เล็กนั้นงาม : เศรษฐศาสตร์ที่เห็นความสำคัญของประชาชน” (Small is Beautiful : Economics as if People Mattered) ด้วยเหตุนี้ “พอประมาณ” จึงเป็นอะไรมากกว่า “พอดีๆ ไม่มากไป น้อยไป” แต่ต้องเกี่ยวโยงไปถึงพุทธธรรมว่าด้วยทางสายกลาง มัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งเป็นความถูกต้องดีงาม เป็นเรื่องของคุณธรรม ความไม่โลภ ไม่เห็นแก่ตัว การเผื่อแผ่แบ่งปัน มีพรหมวิหารสี่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา “มีเหตุมีผล” ทรงสอนเสมอว่า ทำอะไรให้ใช้ข้อมูล ใช้ความรู้ ใช้วิชาการ ไม่ใช้ความรู้สึก เห็นใครทำอะไรได้ก็ทำตาม แต่เพราะไม่มีความรู้จึงมักล้มเหลว ไม่สำเร็จ ทรงสอนให้เป็นนักเรียนรู้ แสวงหาความรู้จากตำรา จากคนอื่น จากการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ยิ่งยุคนี้เป็นยุคข้อมูล เศรษฐศาสตร์ข้อมูล เศรษฐศาสตร์ดิจิตอล (D-economy) คำสอนของพระองค์ยิ่งมีความสำคัญ เพราะถ้าขาดข้อมูล ขาดความรู้ ก็จะขาด “เหตุผล” ในการทำงานการอาชีพทั้งหลาย “มีภูมิคุ้มกัน” ทรงสอนให้มองอะไรทั้งระบบ มองให้ไกล กว้าง ลึก รอบด้าน มองแบบเชื่อมโยง ไม่ใช่แยกส่วน กลไก แต่ให้มองเหมือนเป็นองคาพยพเดียว (organism) เป็นอินทรีย์ เป็นระบบชีวิต เมื่อทุกส่วนสัมพันธ์กันก็จะมีพลัง เหมือนร่างกายที่แข็งแรงไม่ป่วย เพราะทุกส่วนในร่างกายสมบูรณ์ สัมพันธ์กัน เกื้อกูลกัน ทำให้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เพื่อมีภูมิคุ้มกันที่ดี ต้องมีระบบการจัดการชีวิต จัดการองค์กรที่ดี มีเป้าหมาย มีวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ อยู่อย่างมีแบบมีแผน มิวินัย มีธรรมาภิบาล ระบบดีทำให้มีภูมิคุ้มกัน ปัญหาใดมาก็รับได้ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นคำสอนที่ออกมาจากพระราชหฤทัยของพระองค์โดยแท้ ทรงปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่างด้วยโครงการในพระราชดำริกว่าสี่พันโครงการ แม้กระนั้นก็ทรงย้ำว่า ถ้าหากไปพิจารณาแล้วไม่สมควรก็สามารถปรับเปลี่ยนหรือไม่ทำก็ได้ เพราะอาจจะไม่เหมาะกับ “ภูมิสังคม” ทรงตระหนักด้วยความถ่อมพระองค์ว่า อาจไม่ทรงเข้าใจเพราะไม่มีข้อมูลเพียงพอ และอาจยังไม่เข้าถึงมิติลึกที่ต้องสัมผัสโดยตรง อันเป็น “หัวใจ” หรือสิ่งที่ประชาชนต้องการจริงๆ ซึ่งจะทำให้โครงการนั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง พระองค์ไม่ทรงปรารถนาให้ไปยัดเยียดหรือบังคับชาวบ้าน เพราะจะไม่เกิดการพัฒนายั่งยืน ทรงเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วม การเรียนรู้ของชุมชนเอง เพื่อจะได้ “ระเบิดจากข้างใน” ไม่ใช่ทำไปเพราะมีคำสั่งหรือมีงบประมาณ เงินหมดก็เลิก เที่ยวหาโครงการใหม่ หางบใหม่อยู่ร่ำไป คำสอนของพระองค์ท่านสัมพันธ์กันหมดทุกเรื่อง ทรงอยากให้ตอบคำถามเพียง 2 ข้อว่า ทำอย่างไรให้ประชาชนคนไทย โดยเฉพาะชาวบ้าน ชาวไร่ชาวนา คนยากคนจน “พึ่งตนเองได้และมีความสุข”