สมบัติ ภู่กาญจน์ พอเวทีเปิด สรรพฝีมือเหล่านี้ จากมวลชนคนอ่านหนังสือ ก็ค่อยๆทะยอยเผยโฉมออกมาผู้อ่านสยามรัฐ ในยุคปลายปี พ.ศ. 2493 ชื่อ “ปุริม รัตนวิจิตร” เขียนจดหมายฉบับหนึ่งมาถึง “คึกฤทธิ์ ปราโมช” เจ้าของคอลัมน์ตอบปัญหาประจำวัน ด้วยคำถามดังนี้ เชิงโคลงฉันท์กาพย์กลอน ‘สุนทร คึก’ ท่านช่างนึกรอบคอบ ตอบได้เหมาะ ทั้งลำนำคำกวี ที่พริ้งเพราะ ฟังเสนาะสำเนียงเพียงเพลงพิณ ผมเฉาโฉด โปรดด้วยช่วยชี้ช่อง ตามครรลองลักษณะกวีถวิล เป็นประทีปนำทางกลางดวงจินตน์ ได้สืบศิลปะศรีกวีการ ขอมอบกาย หมายจิตเป็นศิษย์รัก มาสมัคร ศึกษาวิชาฉาน หวังพึ่งบุญปัญญาหม่อมอาจารย์ จะประทานหรือไม่สงสัยเอย อาจารย์คึกฤทธิ์ นำจดหมายฉบับนี้ มาตอบในคอลัมน์ปัญหาประจำวัน ของสยามรัฐฉบับประจำวันที่ 9 พฤศจิกายน 2493 ด้วยข้อความดังนี้ น้อยหรือวาจาช่างน่ารัก เสนาะนักน้ำคำพร่ำสรรเสริญ อ่านแล้วช่วยชูกำลังฟังเพลิดเพลิน เกือบจะเหินเวหาวาจาคุณ สำนวนกลอนคุณก็เพราะเสนาะยิ่ง ใยจะวิ่งหาครูดูว้าวุ่น กวีเกิดอยู่กับใจ ได้เป็นทุน ไม่ต้องดุน ก็ยังเด่น เห็นปานนี้ ครั้นจะรับเป็นอาจารย์ พาลติดขัด ด้วยคุณจัด เจนเชิงกวีศรี เพียงเพื่อนเล่นปราศัยผูกไมตรี คงจะดีกว่าเป็นศิษย์สนิทเอย หลังจากนั้น อาจารย์คึกฤทธิ์ ก็หันไปตอบปัญหา คำถามที่ถามมาเป็นข้อเขียนปกติธรรมดาอีกสิบวัน ก่อนที่จะหยิบจดหมายอีกฉบับของผู้อ่านซึ่งในนามแฝงว่า “ชาวสวนพลู” มาตอบ คำถามซึ่งถามมาด้วยข้อความนี้ “ อันกาเมสุมิจฉา นี้สาหัส แม้ใครตัดเสียได้ ฉันให้ถอง อุตส่าห์หัดวิชา หาเงินทอง ก็เพราะของ สิ่งเดียวมันเกี่ยวกวน” นี่ผมจำคำกลอนสุนทรภู่ คิดๆดูโลกมนุษย์สุดปั่นป่วน เพราะตัณหา พาใจให้รัญจวน มันเกี่ยวกวน ยวนยั่วตัวสำคัญ ยั่วให้เรียนเพียรหาทรัพย์ นับว่าเลิศ แสนประเสริฐ เหลือล้นคนขยัน แต่ที่เห็น ดกดื่นทุกคืนวัน ไม่เป็นดั่ง บทประพันธ์จอมกวี มักยั่วให้ใฝ่ชั่วตัวตัณหา ศีลธรรมจรรยาก็เสื่อมศรี พอเริ่มแรกแตกพาน ร่านสตรี ที่ทรัพย์สินมากมี ก็วอดวาย ที่ขยันหมั่นเรียน เพียรใฝ่วิทย์ ก็เปลี่ยนจิต หลบลี้ หลีกหนีหาย ดูนังนุง ยุ่งกันจริง หญิงกับชาย เพียงคิดหมาย มั่นแนบ จะแอบอิง มานั่งนึก ตรึกตรอง หมองสะท้อน อยากจะตอน เช่นขันที หนีผู้หญิง เรื่องกาเม เหห่าง อย่างใจจริง แต่ยังกริ่ง เกรงคิด ผิดธรรมดา อันหม่อมหรือ ผมถือเป็น เช่นบัณฑิต จึงอ่อนน้อม ยอมเป็นศิษย์ ขอปรึกษา ตอนหรือไม่? ไหนจะดี? ชี้แจงมา จะวันทา นบนอบ ขอบคุณเอย เอาละซีครับ! อยู่ๆก็มีปัญหาถามมา ว่า จะตัด ‘ไอ้นั่น’ คือตัวสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาทางเพศไปเสียเลย ดีหรือไม่ดี? ปัญหาอย่างนี้ ถ้าจะถาม-ตอบกันด้วยคำพูดธรรมดา ก็คงเป็นหัวข้อปกติธรรมดาอีกประเด็นหนึ่ง แต่นี่เล่นถามเป็นกลอนมาเสียอีก คึกฤทธิ์ จะรับมืออย่างไร? มาลองฟังคำตอบกันครับ คึกฤทธิ์ ปราโมช ตอบคำถามผู้อ่านท่านนี้ไว้ ด้วยข้อความนี้ ของดีๆมีไว้อย่าไปตัด เพียงประหยัดเก็บไว้ค่อยใช้สอย ขอจงจำคำสุนทรฯ พูดก่อนฟรอยด์(Freud) มิใช่น้อย เรื่องเพศ เหตุใหญ่โต คนจะชั่ว จะดี ตรงนี้เอง จะโกงเก่ง แกมฉลาด หรืออาจโง่ ความต้องการ ทางนี้ จี้มโน ให้เติบโต ก่อสร้าง ทุกอย่างไป แม้นว่าตอน เป็นขันที ไม่ดีแน่ ท่าจะแย่ มองเห็น เช่นกับไก่ เรื่องต่างๆ ห่างกังวล ไม่สนใจ เลิกขันไข่ ทันที ดีแต่กิน คุณยังขัน ได้เพราะ เสนาะนัก ผมนึกรัก วาทีกวีศิลป์ หากครบเครื่อง จะระบือชื่อระบิล แม้นขาดวิ่นถูกตอนสิ้นกลอนเอย เป็นไงครับ? คำถามคำตอบ ใครจะเหนือกว่าใครในเนื้อหาสาระหรือในเชิงกานท์กวี? ท่านผู้อ่านแต่ละท่านอ่านแล้วต้องมีส่วนร่วมในการคิดพิจารณากันเอง หรือมิฉะนั้นก็ต้องติดตามกันต่อไป การสื่อสารกับมวลชนด้วยวิธีการใหม่ๆที่ไม่ยึดแต่แนวเดียวซ้ำซาก ดังที่เคยมีในอดีตอย่างนี้ จะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมการอ่าน หรือทำให้มนุษย์ยังรักที่จะอ่านหนังสือกันต่อไปหรือไม่? ผมขอฝากท่านผู้อ่านช่วยคิดต่อไปในวันนี้ด้วยก็แล้วกัน เรื่องราวเหล่านี้ยังไม่จบ และยังมีสิ่งที่น่าสนใจต่อไปอีก แต่มาถึงปิดท้ายตอนนี้ ผมขออนุญาต ‘สวัสดีปีใหม่’แก่ท่านผู้อ่านที่ติดตามข้อเขียนของผม ขอให้ทุกท่านมีความสุข ทั้งกายและใจ และมีพลังที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทั้งของโลกและของเราได้ด้วยความเข้มแข็ง และหากทำได้พยายามหาเวลาออกกำลังกายไว้ให้เกิดความเคยชิน จะมีประโยชน์กว่าการเสียเงินซ่อมแซมหรือบำรุงร่างกายด้วยวิธีการอื่นๆ อีกหลายชนิด นี่คือความจริงใจสำหรับปีใหม่ปีนี้ครับ