ศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล สวัสดีปีใหม่ 2562 “ปีกุน” เป็น “ปีหมูทอง” ที่ผ่านมาเจ็ดวันพอดิบพอดี ทั้งนี้บางคนอาจจะเริ่มทำงานกันวันแรกเลยก็ได้ เพราะลาหยุดยาวตลอดสัปดาห์ที่แล้วเลย “บิดขี้เกียจ” ยาวกันไปหน่อย! ปี 2562 หลากหลายผู้คนต่างคาดหวังต่างๆ นานากันทุกสภาพการณ์ไม่ว่า สังคม การเมือง โดยเฉพาะเศรษฐกิจกับ “ปัญหาปากท้อง” ว่า “เศรษฐกิจระดับจุลภาค” หรือ “ระดับรากหญ้า-ฐานราก” จะมีชีวิตการเป็นอยู่กันอย่างไร “จะมีพอกินพอใช้หรือไม่!” นั่นคือคำถามสำคัญ สำหรับสภาวการณ์เศรษฐกิจโลกนั้นแน่นอน “สงครามมหภาค” หรือ “สงครามเศรษฐกิจ” ระหว่าง “สหรัฐอเมริกา-จีน” จะเป็นอย่างไร แต่บังเอิญ “การยุติสงครามการค้าชั่วคราว 90 วัน” ช่วงการประชุม G20 ที่ประเทศอาร์เจนติน่า ที่ทั้งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ที่ได้ข้อตกลงยุติสงครามการค้ากัน 90 วัน โดยไม่เพิ่มกำแพงภาษีระหว่า กัน ตลอดจนเจรจาการค้าการขายระหว่างกันเพื่อผ่อนคลาย “ความตึงเครียด” ระหว่างกัน ทำให้โลกโล่งอกไปได้ระยะหนึ่ง แต่น่าเชื่อว่าคณะกรรมการที่ได้จัดตั้งมาเพื่อการเจรจากันนั้น คงจะคืบหน้าในเชิงบวก ทั้งนี้ ไม่น่าเชื่อว่าสงครามเศรษฐกิจจะลามใหญ่โตไปทั่วโลกเหมือนในอดีต เพราะถ้าเกิดสงครามการค้ากันใหม่จะทำให้ลามไปจนถึง “สงครามเย็น” ระหว่าง “สองมหาอำนาจของโลก” เศรษฐกิจโลกคงจะไม่ค่อยไปได้สวยซักเท่าไหร่ในปี 2019 หรือ 2562 เท่าใดนัก ไม่ว่า “ตลาดหุ้น-ตลาดทุน” หรือ “ราคาทองคำ” บวกไปจนถึง “ราคาน้ำมัน” ที่ราคาน่าจะไม่เกิน 60 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องด้วย “กลุ่มผลิตน้ำมันโอเปค” จะผลิตน้ำมันน้อยลง แถมด้วยโลกกำลังพุ่งเป้าหา “พลังงานทดแทน” อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่ง “พลังงานฟอสซิล” อาจจะถูกใช้น้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สภาวะโลกร้อน” ที่นับวันจะทวีความรุนเรงมากขึ้นจนทายไม่ออกเลยว่า “ฤดูอะไร?” ในขณะเดียวกัน “ปัญหาของสหภาพยุโรป” นั้น “ปัญหาหนี้สิ้น” ของทั้งสเปน อิตาลี และฝรั่งเศส ที่การประท้วงยังไม่หยุดที่ประชาชนพยายามไล่ประธานาธิบดีมาร์ครอง จะมีเพียงประเทศเยอรมนีเท่านั้นที่มีเสถียรภาพมากที่สุด ส่วนสหราชอาณาจักรนั้นไม่ต้องเอ่ยถึง “ยังคงมึนอยู่ว่าจะทำอย่างไร” ในกรณีของ “เบร็กซิท (BREXIT)” ถามว่า “ออกจากอียูมั้ย” ตอบว่า “ออกแน่!” แต่เมื่อออกแล้วยังคงมีอีกหลายขั้นตอนในการเจรจาอาทิ เขตการค้าเสรี ภาษีศุลกากร การเดินทาง กล่าวภาษาชาวบ้านหมายความว่า “ความยุ่งยาก” ทั้งภายในอังกฤษเอง ที่ยังไม่มีเอกภาพทางการเมือง บวกกับ “ความวุ่นวายภายในสหภาพยุโรป” ที่ยังคงวุ่นวายกันอยู่! ส่วน “ตะวันออกกลาง” นั้นรู้ๆ กันอยู่ว่า “วุ่นตลอดศก” ไม่ว่า ซีเรีย อิรัค อิหร่าน ปาเลสไตส์ ฉนวนกาซ่า ที่แทบจะอยู่ไม่เป็นสุข เนื่องด้วยจะเป็น “สนามรบ” ตลอดเวลา เรียกว่า “ชีวิตไม่เคยมีความสุข” เลย! อเมริกากลางและอเมริกาใต้นั้น ก็เกิด “การรัฐประหาร-ยึดอำนาจ” กันตลอดเวลา เนื่องด้วย “ปัญหาเศรษฐกิจ-ทุจริตคดโกง” จนเกิดการแก่งแย่งอำนาจบวกกับความไม่พอใจของประชาชนที่ประท้วงตลอดเวลา ส่วนภูมิภาคเอเชียของเราน่าจะสงบมากที่สุด อาจจะมีเพียงเขตปกครองพิเศษฮ่องกงเท่านั้น ที่มีการประท้วงประปรายเท่านั้น ที่ชาวฮ่องกงเรียกร้อง “ประชาธิปไตย” บ้างเป็นบางครั้ง แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ ส่วน “กลุ่มประเทศอาเซียน” ก็เจริญเติบโต ทั้งๆ ที่ ประเทศไทยเรายังไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ก็เดินหน้าสู่ “โร้ดแมฟ” หรือ “เดินหน้าสู่การเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตย” โดยพยายาม “สร้างความมั่นคง” ในทางการเมือง ด้านเศรษฐกิจนั้น ปี 2561 อัตราการเจริญเติบโตเพียงร้อยละ 4.2 เท่านั้น ส่งออกโตเพียงร้อยละ 8 ลองมาดูปี 2562 ว่าบรรดาภาคเอกชนมองอย่างไรโดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจโลกปี 2562 ว่า ยังมองในทางบวก แม้มีความตึงเครียดทางการค้าและการเมืองโลกระหว่างจีนและอเมริกา แต่เศรษฐกิจอเมริกายังเติบโตได้ดี จีนก็เติบโตในระดับ 5-6% การเติบโตเศรษฐกิจอาเซียนก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดี รวมทั้งประเทศไทยที่ปรับตัวกลับมาเติบโตได้ 4-5% อินเดียก็เติบโตดีมาก ขณะที่ EU โตน้อยในระดับต่ำกว่า 2% แต่ยังเติบโต ดังนั้น เศรษฐกิจโลกยังเติบโตต่อเนื่อง แม้จะเติบโตในอัตราเร่งที่ลดลง ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างอเมริกาและจีน น่าจะส่งผลดีต่ออาเซียน โดยเฉพาะไทย เพราะจีนมุ่ง “นโยบาย one belt one road” มากขึ้น เพื่อสร้างสัมพันธ์และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยใช้การค้าขายเเละพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนำ ซึ่งญี่ปุ่นก็เห็นด้วยและหันมาจับมือกับจีน การลงทุนโครงการ “เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” ในไทยเป็นตัวอย่างที่ดีของการร่วมมือจีนกับญี่ปุ่น สำหรับเศรษฐกิจไทย การเลือกตั้งที่จะมาถึงน่าจะเป็นปัจจัยบวกที่สร้างบรรยากาศในการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศที่มีเงื่อนไขทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง สิ่งที่ตนอยากเห็นมาก คือ ความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐานเกษตร และเศรษฐกิจระดับรากหญ้า เราอยู่ในจุดเปลี่ยนผ่านด้านเกษตรสู่เกษตรสมัยใหม่ พร้อมกับสังคมสูงวัย เกษตรกรส่วนใหญ่ที่เข้าสู่อายุใกล้ 60 ปี ต้องมีการรองรับจากคนรุ่นใหม่ที่ปรับเปลี่ยนเข้าสู่เกษตรสมัยใหม่ โดยใช้วิธีบริหารจัดการเทคโนโลยี และการเพิ่มมูลค่าการสร้างความสามารถด้านวิจัย และสร้างแบรนด์ให้เป็นเกษตร 4.0 คู่ไปกับการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ที่รัฐบาลริเริ่มมาดีมาก ตลอดจนความต่อเนื่องการวางโครงสร้างพื้นฐานให้ไทยเป็น logistic hub ระดับภูมิภาค เชื่อมขนส่งประเทศเพื่อนบ้านไปถึงจีน อินเดีย ค้าขายกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านการศึกษามีความสำคัญมาก ระหว่างที่เราพัฒนาการศึกษาให้พร้อม เราสามารถดึงดูดทรัพยากรบุคคลจากทั่วโลกมาได้ โดยโครงสร้างทางภาษีและความง่ายในการทำงานในบ้านเรา ความต่อเนื่องทางกฎหมายที่ทันสมัยและมาตรการทางภาษีที่แข่งขันได้ ในการดึงดูดการลงทุนเป็นอีกปัจจัยพื้นฐานสำคัญซึ่งต้องการความต่อเนื่องเช่นกัน โดยรวมแล้วปี 2562 น่าจะเป็นปีที่ดีของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการเมืองนิ่ง จะทำให้ก้าวไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น ทำให้ไทยมีศักยภาพในการพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้เปิดเผยว่า อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 ภาพรวมการส่งออกของไทยไปตลาดโลกจะลดลง 0.2-0.8% เพราะภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน แต่หากสหรัฐฯและจีนขึ้นภาษีระหว่างกันมากกว่า 25% จะทำให้การส่งออกไทยไปตลาดโลกลดลงถึง 8% หรือมูลค่าหายไป 1,796-57,736 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออกที่หายไป พิจารณาเฉพาะผลกระทบจากสงครามการค้าเท่านั้น ยังไม่รวมปัจจัยอื่นๆ ด้วยทั้งเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้า อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น ราคาน้ำมัน และปัญหาการเมืองของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม สภาพการเมืองภายในประเทศไทยยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะฉุดหรือดึงประเทศไปได้ดีมากน้อยเท่าใดขึ้นอยู่กับ “ผู้นำ” แต่ปัจจัยทางเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยหลักที่จะนำพาประเทศให้ “มั่งคั่ง” ได้หรือไม่ซึ่งเป็น “ความคาดหวัง” ของประชาชน ก็ขอให้ประเทศไทยมีความ “มั่นคง มั่งคั่ง” เถอะครับ ส่วน “ยั่งยืน” หรือไม่นั้นต้องเฝ้าดู!