ทวี สุรฤทธิกุล วันนี้เคยเป็นวันที่คนไทยความสุขมากที่สุดในรอบปี 5 ธันวาคมของทุกปีคือวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช หรือที่เรียกกันทั่วๆ ไปว่า “วันเฉลิมพระชนมพรรษา” ทั่วประเทศมีการประดับตกแต่งบ้านเรือน อาคารสถานที่ และถนนหนทาง พร้อมประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์อันสง่างามของพระองค์ท่าน เป็นที่ปลาบปลื้มยินดียิ่งนัก แต่มาปีนี้ที่พระองค์ท่านได้เสด็จสู้สรรคาลัยแล้ว แม้เราจะยังคงปลาบปลื้มและรำลึกถึงพระองค์ท่านมากมายเพียงใด ก็คงไม่เท่าความโศกเศร้าที่เราคนไทยต้องสูญเสียพระองค์ท่านไปเช่นนี้ ยิ่งรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ก็ยิ่งมีความอาลัยอย่างหาที่สุดมิได้ ในบทความนี้เมื่อสัปดาห์ก่อน ผู้เขียนได้ท้าวความไปถึงการที่รัชกาลที่ 7 ได้ทรงยินยอมรับเป็น “พระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ” ว่าเป็นเพราะพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดไม่ได้นั้นโดยแท้เช่นกัน เพราะถ้าทรงขัดขืนก็อาจจะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นได้ หลังจากที่ทรงยินยอมขึ้นครองราชย์แล้วเหตุการณ์บ้านเมืองก็ไม่ใคร่สงบ คณะราษฎรเองก็เหมือนจะมีบารมียังไม่เข้มแข็งแข็งพอ เพราะรัฐบาลที่คณะราษฎรจัดตั้งขึ้นแล้วให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ใช้ว่าจะอยู่ “ในโอวาท” คณะราษฎรสักเท่าใดนัก ในปีแรกของการขึ้นสู่อำนาจ คณะราษฎรก็ถูกท้าทายจาก “กลุ่มอำนาจเก่า” อันประกอบด้วยข้าราชการและทหารที่เคยมีตำแหน่งสูงๆ ซึ่งส่วนหนึ่งก็อยู่ในสภาผู้แทนราษฎรที่คณะราษฎรแต่งตั้งมาอีกด้วย ขอเสนอที่จะจัดตั้ง “สมาคมคณะชาติ” โดยมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นเลขาธิการสมาคม ซึ่งดูเหมือนว่ารัฐบาลก็จะเห็นดีด้วย โดยพระยามโนฯได้นำเรื่องนี้ขึ้นกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไม่เห็นด้วย ดังที่ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบว่า “สำหรับประเทศสยามซึ่งเพิ่งจะมีรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ยังหาถึงเวลาสมควรที่จะมีคณะการเมืองเช่นเขาไม่ ด้วยประชาชนส่วนมากยังไม่เข้าใจวิธีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญเสียเลย เมื่อเกิดมีคณะการเมืองขึ้นแข่งกันเช่นนี้ ก็จะเข้าใจผิดไปเป็นว่า เป็นการตั้งหมู่ ตั้งคณะ สำหรับเป็นปฏิปักษ์หักล้างอำนาจซึ่งกันและกัน ผลที่สุดอาจจะเป็นเหตุชวนให้เกิดวิวาทบาดหมางกันได้อย่างรุนแรง จนถึงเป็นภัยแห่งความสงบสุขของประเทศ หรืออย่างน้อยก็ก็ทำให้เกิดความหวาดหวั่นในหมู่อาณาประชาราษฎร์ อันเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาเป็นอย่างยิ่ง” พระยามโนฯนายกรัฐมนตรีได้นำเรื่องนี้เข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี โดยได้อาศัยพระราชหัตถเลขาดังกล่าวห้ามไม่ให้ข้าราชการรวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าเป็นสมาชิกสมาคมการเมือง ซึ่งมีนัยถึงการห้ามมิให้เข้าร่วมกับคณะราษฎรนั้นด้วย ทำให้คณะราษฎรระแวงว่าพระยามโนฯอาจจะยุบคณะราษฎรเป็นขั้นตอนต่อไป ในช่วงเวลานั้นรัฐบาลก็ได้จับกุมผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ด้วยจำนวนหนึ่ง ทั้งที่ยังไม่มีพระราชบัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานเป็นคอมมิวนิสต์แต่อย่างใด ในขณะที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้เสนอ “เค้าโครงเศรษฐกิจ” หรือ “สมุดปกเหลือง” เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าเป็น “แนวคิดคอมมิวนิสต์” ซึ่งมีแนวคิดที่จะเอาทรัพย์สินของบรรดาเจ้าขุนมูลนายทั้งหลายมาแจกจ่ายให้กับราษฎร แม่แต่ในคณะราษฎรด้วยกันเองก็มีความเห็นแย้ง และนำมาสู่ความแตกแยกในคณะราษฎรนั้นด้วย คณะรัฐมนตรีได้ถวาย “สมุดปกเหลือง” นั้นให้พระบาทสมเด็จทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งทรงเห็นควรว่าต้องล้มเลิกเค้าโครงเศรษฐกิจดังกล่าวเสีย ดังใจความที่ทรงตอบมาตอนหนึ่งว่า “มีข้อสำคัญอันหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนอย่างไม่ต้องสงสัยเลยว่า โครงการนี้นั้นเป็นโครงการอันเดียวอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่ ส่วนใครจะเอาอย่างใครนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบ สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์หรือหลวงประดิษฐ์จะเอาอย่างสตาลินก็ตอบไม่ได้ ตอบได้ข้อเดียวว่าโครงการทั้งสองนี้เหมือนกันหมด เหมือนกันจนรายละเอียด เช่น ที่ใช้และรูปของวิธีการกระทำ จะผิดกันก็แต่รัสเซียนั้นแก้เป็นไทย หรือไทยนั้นแก้เป็นรัสเซีย" (ข้อมูลทั้งหมดนี้ผู้เขียนคัดลอกมาจากหนังสือ “เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ” เรียบเรียงโดย วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย จัดพิมพ์โดยมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี พิมพ์เมื่อ 1 สิงหาคม 2553 ที่แจกจ่ายไปยังสถานศึกษาและหน่วยงานราชการทั่วประเทศ) เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งลุกลามใหญ่โต พระยามโนฯได้ประกาศปิดสภาผู้แทนราษฎร (หรือในศัพท์ปัจจุบันก็คือ “ยุบสภา”) แต่ความขัดแย้งก็ไม่จบลง เพราะในเวลาไล่เรี่ยกัน “คณะ 4 ทหารเสือ” ในคณะราษฎร ซึ่งก็คือนายทหารที่ร่วมก่อการฯ 4 ท่าน คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิ์อัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ ได้ลาออกจากตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี จากนั้นในวันที่ 20 มิถุยายน 2476 พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พันโทหลวงพิบูลสงคราม และนาวาโทหลวงศุภชลาศัย ก็ได้ทำหนังสือด่วนให้นายกรัฐมนตรีลาออก ซึ่งพระยามโนฯก็ยอมลาออกแต่โดยดี แล้วให้พระยาพหลฯขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสืบแทน นับเป็นการทำรัฐประหารครั้งแรกของประเทศไทย โดยมีผลพวงเป็นความวุ่นวายในบ้านเมืองตามมาอีกมากมาย รวมถึงกบฏบวรเดชและการสละราชสมบัติของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 แล้ว “การรัฐประหาร” ก็เป็นกลายเป็น “ยาสามัญประจำประเทศไทย”