เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com “ไม้ล้มต้นเดียว ดังกว่าป่าทั้งป่าเติบโต” ภาษิตอินเดียนำมาอธิบายได้หลายอย่าง คนทำอะไรดีๆ ทั้งชีวิต ผิดพลาดครั้งเดียวกลายเป็นคนดังในทางไม่ดี ได้ยินได้เห็นแต่ไม้ล้มต้นเดียว ไม่ได้ยินและไม่ได้เห็นป่าทั่งป่าเติบโต หรือคุณงามความดีที่ทำมาทั้งชีวิต กรณีหนุ่มดาราหน้าตาดี ได้รางวัลคนดี พอคลิป “กราบรถกู” ออกไป พระเอกกลายเป็นผู้ร้ายไปในบัดดล เช่นเดียวกับนักพูดสาววัยผ่านเบญจเพสมาไม่นาน ที่สื่อบางช่องยกยอด้วยฉายาที่น่าทึ่ง คลิปที่ถูกตัดตอนออกไปกลายเป็นเรื่องร้อนทำให้คนที่น่าจะเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง กลายเป็นดังบั้งไฟที่ระเบิดก่อนขึ้นฟ้า คนหนุ่มสาวเหล่านี้และอีกหลายคนล้วนเป็นคนมีศักยภาพที่จะทำอะไรดีๆ ให้สังคม ผิดพลาดครั้งเดียวถูกถล่มด้วยสื่อสังคมแบบไม่ให้ผุดไม่ให้เกิด นับเป็น “ศาลเตี้ย” ที่ทรงพลังยิ่งนัก พิพากษาทันทีทันใด เป็น “การลงโทษโดยสังคม” (social sanction) ที่รุนแรง แต่ “ยุติธรรม” และ “แฟร์” แน่หรือ แม้แต่คนที่ประกาศว่า “ผมจะเป็นคนดี” ก็รุมกระหน่ำเรียกร้องให้สังคมต่อต้าน “ไม่ให้มีที่ยืนในสังคม” ถ้าหากสังคมทำกับ “เขา” เมื่อก่อนเช่นนี้ วันนี้เขาจะมีที่ยืนในสังคมหรือ สื่อมวลชนและสื่อสังคมชอบเอาเรื่องร้ายๆ มานำเสนอ เพราะ “ดัง” กว่าเรื่องดีๆ ที่คิดว่าน่าเบื่อ เมื่อมผู้คนรับรู้ก็มีการเหมารวม ด่วนสรุป ตีตราบาป “คนดีๆ” ที่ทำผิดครั้งเดียวกลายเป็น “คนบาป” เป็น “เหยื่อ” ของสังคมที่สนใจแต่เรื่องร้ายๆ แบบไทยมุง ที่บางคนคอยกระทืบซ้ำ เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่กลายเป็นอะไรที่ร้ายแรงเพราะเทคโนโลยียุคใหม่ทำให้เรื่องราวเหล่านี้แพร่กระจายกลายเป็นสึนามิสังคมชั่วพริบตา นึกว่าไม่มีใครเห็น อย่างเรื่องที่เกิดบนถนนที่บันทึกจากกล้องติดรถหรือมือถือ หรืออย่างผู้ชายทะเลาะกับแม่ค้าขายอาหารปากซอย ที่มีคลิปจากกล้องวงจรปิดเก็บภาพไว้อย่างละเอียดตั้งแต่เถียงกันจนลงมือลงเท้าถึงก้านคอ นึกว่าดูหนังไทย การเหมารวมแบบไม่แยกแยะเป็นที่มาของตราบาป เป็นอะไรที่เกิดได้ในทุกสังคมและทุกยุคทุกสมัย กว่าภาพลักษณ์จะเปลี่ยนไป ตราบาปจะจางหายใช้เวลานาน อย่างลูกคนจีนสมัยก่อนรู้สึกอายไม่อยากใช้นามสกุล “แซ่” กลัวคนดูถูกว่าเป็น “ลูกเจ๊ก” คนเวียดนามไม่กล้าบอกใคร กลัวเขาว่าเป็น “แกว” คนลาว ชาวเขาชาวดอย ไม่กล้าแสดงตน เพราะถูก “ตีตรา” เหมารวมแบบดูถูกดูหมิ่น ผู้หญิงไทยหลายแสนที่แต่งงานกับฝรั่งยังได้ภาพของผู้หญิงหากิน เพราะหลายสิบปีก่อน ผู้หญิงไทยไปขายบริการทางเพศถึงประเทศต่างๆ ในยุโรป จนคนเยอรมันใช้คำว่า “Thai Maedchen” ซึ่งแปลว่า “สาวไทย” แทนคำว่า “หญิงบริการ” มีการจัดทัวร์ให้ฝรั่งมาเลือกสาวไทยเพื่อแต่งงานด้วย แถวๆ พัทยา สามสิบกว่าปีก่อน เอดส์เริ่มระบาด ทั่วโลกก็ตีตราบาปให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีว่าเป็นพวกไม่รักดี พวกส่ำส่อน และแพร่ขาวที่น่าเกลียดน่ากลัว จนผู้ติดเชื้อถูกรังเกียจและถูกทอดทิ้ง หลายคนตายไปไม่ใช่เพราะเอดส์แต่เพราะ “ตราบาป” ที่ได้รับ โดยไม่เคยคิดถึงแม่บ้านที่ติดจากสามี จากแฟน ลูกที่ติดจากพ่อแม่ หรือแม้แต่คนที่ติดเพราะไปเที่ยวหญิงบริการ หรือเพราะใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน รวมทั้งหญิงบริการ คนเหล่านี้อาจติดเพราะไม่รู้ ไม่มีข้อมูล ไม่มีความรู้ ไม่มีโอกาสดีเหมือนคนอื่นในสังคม แล้วยังมาถูกกระหน่ำซ้ำเติมจน “ไม่มีที่ยืนในสังคม” การเหมารวมและตราบาปยังมีอยู่ถึงทุกวันนี้ คนอเมริกันถูกนักการเมืองหาเสียงซ้ำเติมความรู้สึกเกลียดชัง การแบ่งแยก การเหมารวม ถูกทำให้เกลียดชังผู้อพยพ ผู้ลี้ภัยที่มาอาศัยในประเทศตน หาว่ามาแย่งงาน ทำให้เกลียดชังชาวมุสลิมว่าเป็นพวกก่อการร้าย ลืมไปว่า หลายร้อยปีก่อนบรรพบุรุษของตนมาแย่งแผ่นดินของชาวพื้นเมือง ฆ่าคนเหล่านั้นไปเท่าไร ทำลายวัฒนธรรมประเพณีพวกเขาไปหมด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอุดลยเดชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่เพราะทรงมีพระเมตตาเผื่อแผ่ไปถึงคนไทยทุกคน ไม่แบ่งแยก ไม่เลือกพวกเลือกเผ่าเลือกกลุ่ม ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใด บนเขาบนดอย ใกล้ไกลเพียงใด กันดารเพียงใด ลำบากเพียงไดก็เสด็จไปเยี่ยมเยียนจนทั่วถึง ภาพที่เราเห็นในทีวี ในสื่อต่างๆตั้งแต่เดือนตุลาคนเป็นต้นมา ทำให้เห็นถึงน้ำพระทัยอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่ทรงมีต่อพสกนิกรด้วยความสนพระทัยต่อแต่ละบุคคล ทรงโน้มพระองค์ลง หรือประทับนั่งบนพื้น สนทนากับชาวบ้าน ชาวไร่ชาวนา ชาวเขาชาวดอย ไม่ว่าจะยากจนข้นแค้นเพียงใด พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ช่วยเหลือเด็กยากจนให้ได้เรียน คนยากไร้ให้มีที่ดินบ้านอยู่อาศัย ทรงตอบจดหมายเด็กหรือใครที่เขียนถึงพระองค์ท่าน พระราชกรณียกิจส่วนใหญ่เน้นไปที่เกษตรกร คนยากคนจน ชาวเขาชาวดอย คนขาดโอกาส คนเฒ่าคนแก่ คนพิการ ทรงสร้างศูนย์ศึกษาและพัฒนาใหญ่ 6 แห่ง ย่อยๆ อีกหลายร้อย โครงการพระราชดำริอีกหลายพัน เพราะไม่ทรงปรารถนา “ตัดเสื้อไซซ์เดียว” ให้คนใส่ทั้งประเทศ ทรงยอมรับความแตกต่างและความหลากหลาย ทรงพัฒนาตัวแบบมากมายให้คนได้เห็น ได้ไปเรียนรู้ นำไปประยุกต์ให้เหมาะสมกับ “ภูมิสังคม” ของตนเอง คำที่พระองค์ทรงใช้และทรงเน้น เพราะทรงตระหนักถึงความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ ดิน น้ำ สังคมวัฒนธรรม ระบบคุณค่า วิถีชีวิตของแต่ละแห่ง ทรงเคารพในอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ แต่ละเผ่าพันธุ์ และทรงเล็งเห็นศักยภาพที่พัฒนาได้ของทุกแห่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ เพราะทรงเคารพศักย์ศรีของผู้คนทุกคนว่ามีเท่าเทียมกัน ต่างกันแต่เพียงหน้าที่ในสังคมเท่านั้น