เสรี พงศ์พิศ/www.phongphit.com บ้านเราชอบทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก สื่อมวลชน กระทรวง ศึกษาธิการ สนใจเรื่องการแต่งกายนักเรียน แต่ไม่สนใจเรื่องปฏิรูปการศึกษา หรือว่าสนใจเรื่องเล็กเพื่อกลบเกลื่อนเรื่องใหญ่ที่ไม่ต้องการแตะ “ชอบทำ” มากกว่า “ชอบธรรม” ชอบรักษาอำนาจของตนเองไว้ อำนาจในการควบคุม การสั่งการ อำนาจเผด็จการชอบระเบียบภายนอกมากกว่าระเบียบภายใน ชอบเปลือกมากกว่าแก่น กระพี้มากกว่าเนื้อใน จึงมักได้แต่ของปลอมมากกว่าของจริง ได้โง่มากกว่าฉลาด ซึ่งปกครองง่าย ครอบงำง่าย การพัฒนาจึงไม่เกิด มีแต่การปะผุ ไม่มีการรื้อถอนปรับโครงสร้างใหม่ สร้างรากฐานใหม่ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดการพัฒนาทั้งระบบ ทำให้มีพลังจากข้างในมาข้างนอก ได้วิธีคิดใหม่ วิธีทำใหม่ การศึกษาบ้านเราจึงวนอยู่ในอ่าง อ้างแต่แชมป์โน่นแชมป์นี่ ฉลาด 1 โง่ 99 แล้วยังภูมิใจในความ เหลื่อมล้ำแบบนี้กันต่อไป ชอบแต่ตัดเสื้อโหลให้คนใส่ โรงเรียนเป็นโรงงานผลิตสินค้าออกไปแบบเดียวกัน แนวคิดที่ล้าหลังของการศึกษาแบบอุตสาหกรรม ที่เอาแต่สร้างคนไปรับจ้าง ไม่ได้สร้างคนให้คิดเป็น แต่ก็ชอบอ้างไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องการคนคิดเป็น คิดนวัตกรรม สวนทางกันจริงๆ การเอาเรื่องเล็กมากลบเรื่องใหญ่ เอาเปลือกมากลบแก่น คล้ายกับการทำเพลงขายเมื่อหลายปีก่อน ที่ไปเอานักมวยชื่อดัง ดาราดัง มาออกเทป ทั้งๆ ที่พูดยังเหน่อ ร้องเพลงก็เพี้ยน แต่อาศัยดนตรีดังๆ กลบเกลือน จนแทบไม่ได้ยินเสียงร้อง แล้วก็ไปจ้างเขาเปิดเพลงทุกสถานีทั่วประเทศ คนซื้อไปฟังทีเดียวก็เลิก แม้แต่นักศึกษาปริญญาโทปริญญาเอกก็ชอบวนเวียนอยู่กับงานวิจัยวิทยานิพนธ์เรื่อง “รูปบบ” ลองไปนับดูก็ได้ว่า มีการศึกษาเรื่อง ”รูปแบบ” กันมากเหลือเกิน ซึ่งในหลักวิชาการจริงๆ มีคำ 3 คำที่เป็นแฝดสาม คือ รูปแบบ-เนื้อหา-กระบวนการ การเรียนการสอนถึงระดับอุดมศึกษาปริญญาเอกก็ยังเน้นแต่เรื่อง “รูปแบบ” มหาวิทยาลัยก็ยังเน้นการแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยตามระเบียบของสถาบัน บางมหาวิทยาลัยมีรูปชาย รูปหญิง แต่งกายให้เห็นเป็นตัวอย่างบนคัทเอ้าท์ใหญ่ทางเข้ามหาวิทยาลัย ยังกับโรงเรียนอนุบาล เมื่อ 30 กว่าปีก่อน ที่กำแพงหน้าตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เช้าวันหนึ่งมีคนเอาไวนิลไปขึงไว้ให้คนผ่านไปมาเห็น มีรูปเด็กหญิงระดับอนุบาล บนหน้าอกเสื้อเขียนว่า “เด็กหญิงนงเยาว์ ไชเสรีภาพ” ประท้วงอธิการบดีคุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี ที่กำลังมีนโยบายให้นักศึกษากลับไปแต่งตัวให้ “เรียบร้อย” เรียบร้อยแปลว่าให้เหมือนมหาวิทยาลัยอื่นๆ เหมือนแต่โบราณก่อนที่จะมีผู้นำขบถอย่าง “เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” นำประท้วงและให้ยกเลิกระเบียบที่ “กดขี่เสรีภาพ” ทั้งประเพณีรับน้องและการแต่งกาย ทำให้นักศึกษาธรรมศาสตร์เป็นพวก “5 ย.” เสื้อยืด กางเกงยีน ผมยาว รองเท้ายาง สะพายย่าม แต่ก็แปลก นักศึกษาธรรมศาสตร์จำนวนไม่น้อยก็ยังอยากแต่งกายนักศึกษา คงชอบ “เครื่องแบบ” เพราะดูเท่ดี หรืออยากไปไหนมาไหนให้คนรู้ว่าเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ เป็นพวก “สายลมแสงแดด”ที่ไม่สนใจการเมืองเหมือนก่อนและหลัง 14 ตุลา ถูกสังคมกระแสหลักกลืนไม่ได้ต่างจากเยาวชนทั้งประเทศ เด็กเหล่านี้เป็นเหมือนช้างอินเดียที่เขาผูกไว้กับเสาตั้งแต่เล็กจนโต เมื่อโตแล้วก็แก้เชือกที่ผูกออก จากเสาไปผูกกับท่อนไม้เล็กๆ ไปไหนก็ได้ แต่ช้างเชื่องแล้ว คุ้นกับเชือกก็ไม่หนีไปไหน หรือว่าคนไทยทั้งผู้หญ่ทั้งเด็กก็เป็นแบบนั้น ที่วิจารณ์เรื่องการแต่งกายก็รู้ดีว่า ประเทศต่างๆ ในโลกมีระเบียบที่แตกต่างกัน ด้วยเหตุผลต่างกันเพียงแต่ประเทศพัฒนาแล้วเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เหมือนบ้านเรา ไม่ว่าจะแต่งหรือไม่แต่งก็เป็นเรื่องรองจากระบบโครงสร้างและคุณภาพการศึกษา บ้านเราน่าจะคิดอะไรให้สร้างสรรค์กว่าการบังคับแบบทื่อๆ ให้มีรูปแบบเดียว แต่ให้คุณค่าและความหมายในสิ่งที่ทำมากกว่าเพียงแค่ต้องการระเบียบ หรือศรีธนญชัยไปอ้างเรื่องไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพราะยังไงก็ไม่มีทางแก้ได้เพียงให้แต่งเครื่องแบบนักเรียน เพราะเงินที่ติดกระเป๋า รองเท้า เครื่องใช้ รวมไปถึงรถพ่อแม่ที่ไปส่งถึงหน้าโรงเรียน ให้เขาขับรถยี่ห้อเดียวได้หรือ มีงานวิจัยของนักการศึกษาบอกว่า โรงเรียนมีอิทธิพลต่อชีวิตและพฤติกรรมของเด็กเพียง 15% ครอบครัว สังคม สื่อ ต่างหากที่มีอิทธิพลมากที่สุด ความเหลื่อมล้ำอยู่ตามถนน ตามห้าง เอาชุดนักเรียน มาปิดความเหลื่อมล้ำไม่มิดแน่นอน แต่ก็ยังหลับหูหลับตาอ้างไปเรื่อย โรงเรียนในชนขบท ชาวเขาชาวดอยหลายแห่งทั้งรัฐและเอกชน เขาให้นักเรียนแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าท้องถิ่น หรือของชนเผ่ามาโรงเรียนได้ในวันศุกร์ เหมือนที่ราชการนิยมแต่งชุดไทย ชุดท้องถิ่นกัน มีไหมโรงเรียนที่ให้นักเรียนแต่งชุดนักเรียน 1 วัน ชุดชนเผ่าหรือเผ่าพันธุ์ ท้องถิ่น 1 วัน ชุดลูกเสือ เนตนารี 1 วัน ชุดทำงาน 1 วัน ชุดอิสระ 1 วัน หรือปรับอย่างไรก็ให้มีความหลากหลาย ไม่น่าเบื่อเหมือนในชีวิตจริง ที่ไม่มีใครอยากใส่เสื้อผ้าชุดเดียวทุกวัน คุณเองยังชอบหลากหลาย ทำไมไม่ให้เด็กหลากหลายบ้าง ตั้งแต่ 30 ปีก่อน โรงเรียนบ้านน้ำลาด อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ครูใหญ่ให้เด็กๆ ชาวบน หรือเนียะกุร แต่งตัวชุดชนเผ่ามาโรงเรียนในวันศุกร์ เด็กๆ และพ่อแม่ดีใจมาก มีการเรียนร้องเพลง ฟ้อนรำ การแสดงละเล่นของชนเผ่า ทุกคนมีความสุขกับการไปโรงเรียนวันศุกร์ ไม่เห็นมีใครประท้วง