รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์/มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้งนั้น ทำให้สังคมไทยเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงการแสดงความไม่พอใจในรูปแบบของ “ชุมนุมคัดค้านการเลื่อนเลือกตั้ง” โดยเมื่อไม่นานมานี้ นักกิจกรรมการเมืองและประชาชนที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม "คนอยากเลือกตั้ง" ได้มีการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อกดดันรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ "หยุดเลื่อนเลือกตั้ง" ออกไปจากกำหนดเดิมวันที่ 24 ก.พ. 2562 กิจกรรม "หยุดเลื่อนการเลือกตั้ง" ถือเป็นการชุมนุมทางการเมืองครั้งแรกนับจาก คสช. ยอม "ปลดล็อก" ทางการเมือง โดยกลุ่มคนอยากเลือกตั้งได้ออกแถลงการณ์ แสดงความต้องการอย่างชัดเจน โดยมีประเด็นสำคัญ คือ 1. ให้รัฐบาล คสช. ชี้แจงโดยปราศจากความคลุมเครือเกี่ยวกับขั้นตอนการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ว่าขณะนี้กระบวนการอยู่ในขั้นตอนใด 2. ให้รัฐบาล คสช. หยุดแทรกแซงการจัดการเลือกตั้ง 3. ให้รัฐบาล คสช. และ กกต. บริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ เต็มศักยภาพของแต่ละหน่วยงาน ในการจัดทั้งพระราชพิธี การเลือกตั้ง และรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ทำไม? สังคมไทยถึงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. 2562 ทั้งๆ ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาเปิดเผยว่า หากจะเลื่อนหรือไม่เลื่อนเลือกตั้ง กกต. จะต้องจัดการให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วันนับตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.2561 ตามกรอบกฎหมายที่กำหนด แต่ต้องไม่เกิน 9 พ.ค. 2562 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเรียกร้อง น่าจะเป็นเพราะ ตลอดการมีอำนาจของ คสช. 5 ปี มีการเลื่อนโรดแมปเลือกตั้งมาแล้ว 5 ครั้ง ครั้งที่ 1: จากปลายปี 2558 สู่การเริ่มนับหนึ่งใหม่ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ครั้งที่ 2: จากกลางปี 2560 สู่ปลายปี 2560 ครั้งที่ 3: จากปลายปี 2560 สู่ปลายปี 2561 ครั้งที่ 4: จากพฤศจิกายน 2561 สู่กุมภาพันธ์ 2562 และสู่ความไม่แน่นอน ครั้งที่ 5: จากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 สู่ไม่เกินกรอบ 150 วัน ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การเลื่อนเลือกตั้งครั้งนี้ จะถูกคัดค้านจากสังคม จนมีการแสดงออก ในรูปแบบของการชุมชุม อย่างไรก็ตามความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลื่อนการเลือกตั้ง ไม่ได้ถูกสะท้อนออกมาในรูปแบบของการชุมนุมเท่านั้น แต่จากการสำรวจความคิดเห็นของ “ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ” จำนวนทั้งสิ้น 1,029 คน โดย “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในประเด็น ประชาชนคิดอย่างไร? กับ การเลื่อนเลือกตั้ง สามารถสะท้อนความคิดประชาชน โดยสรุปผลได้ ดังนี้ ประชาชนคิดอย่างไร? กับ การเลื่อนเลือกตั้ง อาจไม่ใช่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” มากที่สุด ร้อยละ 31.50 คือ ขอให้ทุกคนทุกฝ่ายเห็นแก่ส่วนรวม ไม่สร้างความวุ่นวายให้บ้านเมือง รองลงมา ได้แก่ กกต.ต้องประกาศวัน เวลา เลือกตั้งที่ชัดเจน ร้อยละ 23.32 ส่งผลกระทบกับรัฐบาลและกกต. มีกระแสข่าวในทางลบ ร้อยละ 20.11 ถูกมองว่าเป็นการซื้อเวลา มีนัยยะแอบแฝง ร้อยละ 17.96 และไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ก็ต้องมีการเลือกตั้ง ร้อยละ 15.68 “ข้อดี” ของการเลื่อนเลือกตั้ง คืออะไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” มากที่สุด ร้อยละ 48.45 คือ ทั้งผู้สมัครและพรรคการเมืองมีเวลาเตรียมตัว ลงพื้นที่หาเสียงได้มากขึ้น รองลงมา ได้แก่ กกต.มีเวลาเตรียมการต่างๆ เกี่ยวกับเลือกตั้งอย่างรอบคอบ รัดกุม ร้อยละ 29.19 และประชาชนมีเวลา ในการตัดสินใจมากขึ้น ร้อยละ 27.95 “ข้อเสีย” ของการเลื่อนเลือกตั้ง คืออะไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” มากที่สุด ร้อยละ 29.19 คือ บ้านเมืองขาดเสถียรภาพ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รองลงมา ได้แก่ ทิศทางการเมืองไม่ชัดเจน อึมครึม เสียเวลา ร้อยละ 27.95 และเกิดความขัดแย้ง ใส่ร้าย โจมตีทางการเมืองมากขึ้น ร้อยละ 30.70 เมื่อพิจารณาแล้ว ประชาชนคิดว่าการเลื่อนเลือกตั้งจะทำให้เกิดความคุ้มค่าหรือไม่ ? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” มากที่สุด ร้อยละ 63.75 คือ ไม่คุ้มค่า เพราะ มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจ การเมืองขาดเสถียรภาพ เสื่อมเสียภาพลักษณ์ เป็นประเด็นขัดแย้งทางการเมือง ฯลฯ ขณะที่ ร้อยละ 36.25 ตอบว่า คุ้มค่า เพราะ มีเวลาในการเตรียมพร้อม และพิจารณาดำเนินการเรื่องต่างๆได้อย่างรอบคอบมากขึ้น จะได้ไม่เสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ ฯลฯ นี่คือ ความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ “กรณีการเลื่อนการเลือกตั้ง” ซึ่งแม้ว่าประชาชนจะเห็นว่าการเลื่อนการเลือกตั้งจะเป็นเรื่องที่คุ้มค่าและไม่เหมาะสมนัก แต่ก็เชื่อว่าประชาชนพร้อมรับฟังและยอมรับในเหตุผล หากมีเหตุจำเป็นที่ทำให้การจัดการเลือกตั้งต้องยืดระยะเวลาออกไปอีกสักเล็กน้อย ฝ่ายประชาชนพร้อมรับฟัง...พร้อมรอให้มีการเลือกตั้ง (เพราะรอมาถึง 5 ปี ก็รอมาแล้ว!!) คงต้องถามฝ่าย กกต. และผู้ที่เกี่ยวข้องว่าพร้อมประกาศกำหนดการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง...หรือยัง??!! คงถึงเวลาที่ต้องพูดให้ชัดแล้วละครับ!! ว่าจะเลื่อน...ไม่เลื่อน หากมั่วแต่ “อำอึ้ง” ไม่พูด...ไม่ชี้แจงอยู่แบบนี้ ก็มีแต่จะสร้าง “ความอึมครึม” ที่ก่อให้เกิดความอึดอัด...สับสบวุ่นวายในสังคม… พูดให้ชัดเสียที...เห็นใจคนที่รอการเลือกตั้งบ้างเถอะครับ!!??