ทวี สุรฤทธิกุล
รัฐบาลที่ดีคือรัฐบาลที่ทำงานได้เข้าตาประชาชน แต่ถ้าไม่ดีก็จะไปเข้าอวัยวะอื่นที่อยู่ต่ำลงไป คืออาจจะถูกประชาชน “ตบเท้า” ออกมาขับไล่ให้ไปเสียพ้น ๆ ก็ได้
ขอวกไปในเรื่องวิชาการอีกสักเล็กน้อยเกี่ยวกับความอยู่รอดของรัฐบาล ตำรารัฐศาสตร์ที่ผู้เขียนเรียนมาบอกว่า ความอยู่รอดของรัฐบาลประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ ความชอบธรรม ประสิทธิภาพ และเสถียรภาพ อธิบายย่อ ๆ ว่า เริ่มต้นรัฐบาลจะต้องมีที่มาอย่างถูกต้อง เรียกว่ามีความชอบธรรม เมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้วก็ต้องทำงานให้ดี เรียกว่ามีประสิทธิภาพ จากนั้นรัฐบาลจึงจะมีความมั่นคง เรียกว่ามีเสถียรภาพ
เมื่อสัปดาห์ก่อนได้พูดถึง “ความชอบธรรม” ที่โดยหลักคือความถูกต้องที่มีกฎหมายรองรับ เช่น ได้มาอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ แต่นักรัฐศาสตร์บอกว่าลำพังแต่ที่มีกฎหมายรองรับ ก็ไม่ใช่จะทำให้รัฐบาลนั้นมีความถูกต้อง เพราะระบบกฎหมายในบางประเทศอาจจะ “บิดเบี้ยว” หรือถูกเขียนขึ้นมาเพื่อรองรับอำนาจของผู้มีอำนาจนั้น หรือไม่ก็ผู้มีอำนาจนั้น “บิดเบือน” เอากฎหมายที่เขาเขียนไว้มาใช้ให้เป็นประโยชน์
ในทำนองเดียวกัน แม้บางทีรัฐบาลอาจจะไม่ได้มาอย่างถูกต้อง เช่น ได้มาจากการทำรัฐประหาร ซึ่งเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ (แต่ทหารที่ทำรัฐประหารก็ล้มเลิกรัฐธรรมนูญนั้นเสีย เพื่อไม่ให้เอาผิดได้) แต่ก็อาจจะมีความชอบธรรมสูง คือประชาชนมีความชื่นชอบและสรรเสริญ อย่างกรณีคณะรัฐประหารของประเทศไทยในหลาย ๆ ครั้ง นี่ก็ด้วยประชาชนชอบในวิธีการทำงานของทหาร เรียกว่าทหารทำงานได้มี “ประสิทธิภาพ” ซึ่งเป็นหลักที่สองของ “ความอยู่รอดของรัฐบาล” นั่นเอง ซึ่งบางทีทหารก็ได้อยู่ในอำนาจเป็นเวลานาน แสดงถึงความมี “เสถียรภาพ” หรือฐานะที่มั่นคงแข็งแรงของรัฐบาลนั้น
สำหรับประเทศไทย เราต้องยอมรับว่าประเทศของเราคือ “รัฐทหาร” โดยแท้ แม้แต่ในเวลาที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลนั้นก็ต้อง “ซูฮก” ให้ทหาร หรือไม่ก็ร่วม “หากิน” กับทหาร มิฉะนั้นก็อยู่ไม่ได้ หรือไม่ก็ต้องเลี้ยงดูหรือ “เอาใจ” ทหารให้ดี ตัวอย่างของรัฐบาลชุดนี้ก็เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า พรรคเพื่อไทยที่เคยกระเหี้ยนกระหือรือคิดจะจัดการทหารมาตั้งแต่ที่เป็นพรรคไทยรักไทยในสมัย “มารหน้าเหลี่ยม” มาถึงสมัยนี้ก็ยอม “หงอ” สยบแทบท็อปบู๊ต จนไม่เหลือเกียรติอะไรให้พูดถึง รวมถึงตัวมารหน้าเหลี่ยมที่มาในคราบใหม่ “สทร.” ก็ไม่กล้าที่จะเฉี่ยวไปทะเลาะกับทหารอีกเลย (เผื่อจะต้องใช้เส้นทางธรรมชาติที่ทหารดูแลหนีออกนอกประเทศอีกเร็ว ๆ นี้)
ผู้เขียนมีข้อเสนอทางวิชาการอีกเรื่องหนึ่งที่จะเสริมความอยู่รอดของรัฐบาล ดังที่เสนอไว้ในตอนท้ายของบทความนี้เมื่อสัปดาห์ก่อน นั่นก็คือหลักของ “กิจกรรมสัมพันธ์” ที่หมายถึงการปฏิบัติต่อกันของประชาชนกับผู้ปกครอง ซึ่งจะต้องดำเนินไปอย่างปราศจากความขัดแย้ง หรือเกิดความร่วมมือระหว่างกันด้วยดี ทั้งนี้เสาหลักตัวนี้น่าจะต้องมาอยู่หลัง “ประสิทธิภาพ” เพื่อที่จะสะท้อนไปถึงความมั่นคงหรือ “เสถียรภาพ” ที่เป็นตัวสุดท้าย
ดังนี้ก็จะเกิดระบบ “4 เสาหลักของความอยู่รอดในรัฐบาล” คือ ความชอบธรรม ประสิทธิภาพ กิจกรรมสัมพันธ์ และเสถียรภาพ” ( Government Survival = Legitimacy + Efficiency + Relationship + Stability )
โดยเฉพาะ “กิจกรรมสัมพันธ์” ที่แม้ว่ารัฐจะมีการปกครองในรูปแบบใด ผู้ปกครองของรัฐนั้นก็ต้องเอาใจใส่ประชาชนให้ดี รับฟังเสียงประชาชนและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ทันท่วงที ในทำนองเดียวกัน ประชาชนก็ต้องสนใจหรือให้การสนับสนุนรัฐบาลนั้นด้วยดี และให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยจะมีระบบความสัมพันธ์เหล่านี้ไว้อย่างเพียงพอ แม้แต่ผู้ปกครองที่เป็นเผด็จการ “ที่ดี” ก็ยังใช้วิธีการเดียวกันนี้ เพื่อเอาใจประชาชนและรับการสนับสนุนจากประชาชน
ทีนี้พอมาดูที่รัฐบาลของไทยในสมัยของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร แน่นอนว่ามีที่มาด้วยความชอบธรรม คือระบบของเราเปิดโอกาสให้พรรคที่รวมกันได้เสียงข้างมากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ รวมถึงที่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในรัฐสภาก็สามารถใช้กฎหมายเอาตัวรอดได้ตามกฎระเบียบของสภา เช่นเดียวกันเมื่อเกิดปัญหาบางอย่างก็ใช้กฎหมายหรือองค์กรอิสระที่มีกฎหมายรองรับ มาช่วยแก้ปัญหาได้เสมอ
แต่รัฐบาลนี้มีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพอย่างแน่นอน ที่เห็นชัด ๆ ก็คือไม่สามารทำผลงานได้ตามนโยบายที่บอกไว้กับประชาชน แถมยังมีการนำเสนอนโยบาย “ชั่วร้าย” ใหม่ ๆ งอกมาอีกด้วย ได้แก่ นโยบายดิจิตอลวอลเล็ต ที่ต้องมาแจกเงินมั่ว ๆ และยังไม่แล้วเสร็จ ทั้งยังมีการใช้เงินผิดประเภทจนนำมาสู่การฟ้องร้องเอาผิดของทั้งรัฐบาล ส.ส. และ ส.ว. อยู่ขณะนี้ กับนโยบายคาสิโนที่เอาเอนเทอเทนเมนต์คอมเพล็กซ์มาบังหน้า จนเกิดการต่อต้านขนานใหญ่ไปทั้งประเทศ ก็แสดงถึงการทำงานที่ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของประชาชน หรือดื้อดึงดันด้วยมัวเมาในอำนาจและผลประโยชน์ โดยไม่ฟังเสียงประชาชน
รัฐบาลนี้จึงเกิดปัญหาเกี่ยวกับ “กิจกรรมสัมพันธ์” ขึ้นมาในทันที อันเนื่องมาจากการไม่ยอมฟังเสียงประชาชนนี่เอง ดังนั้นจึงเป็นสิทธิของประชาชนที่จะต่อต้านรัฐบาลนี้ ดังที่ผู้วางหลักการเรื่องประชาธิปไตยได้พูดไว้ถึง “การปฏิวัติโดยประชาชน” ด้วยเหตุที่รัฐหรือผู้ปกครองไม่ยอมรับฟังเสียงท้วงติงหรือข้อเสนอแนะจากประชาชนดังกล่าว
ในประวัติศาสตร์ คนไทยสามารถล้มล้างผู้ปกครองด้วยการปฏิบัติของประชาชนนี้มาหลายครั้ง ได้แก่ 14 ตุลาคม 2416 , พฤษภาคม 2535 , พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 2549 และ กปปส. 2557 (โดยสองครั้งแรกเป็นการขับไล่รัฐบาลทหาร ที่พระมหากษัตริย์ทรงพระมหากรุณามาระงับเหตุ และสองครั้งหลังไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ทหารออกมาช่วยประชาชน) และในขณะนี้ก็มีการก่อม็อบขึ้นต่อต้านรัฐบาลขึ้นบ้างแล้ว ซึ่งหลายคนปรามาสว่าคง “ไร้น้ำยา” แต่สำหรับในโลกของการสื่อสารสมัยใหม่ “ม็อบเดินเท้า” แบบในอดีตอาจจะไม่เป็นที่เกรงกลัวของผู้มีอำนาจ แต่ก็ยังมี “ม็อบเท้าทิพย์” ที่เร่งเร้ากันด้วยโซเชียลมีเดีย ที่ถ้าหากว่าแสดงพลังออกมาเรื่อย ๆ ก็น่ากลัวมาก ๆ เหมือนกัน
เรายังไม่เคยมีประวัติศาสตร์ว่าม็อบในโลกอินเตอร์เน็ต หรือที่ผู้เขียนเรียกว่า “ม็อบเท้าทิพย์” นี้ได้ “กระทืบ” รัฐบาลใดลงไปจากอำนาจได้ แต่ก็น่าจะเป็นไปได้ที่จะเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวในเร็ว ๆ วันนี้
มีข้อเสนอว่า นายกฯ “อ่อนเอ๋อ” ที่ชอบใช้ไอแพดและไอโฟน ควรจะสนใจอ่านข่าวสารจากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลบ้าง อย่าใช้แต่ท่องจำหรือรับฟังคำสั่งของ “พ่อ สทร.” หรือ “บริวาร งฉห.” แต่เพียงเท่านั้น
ไม่งั้นเธอจะเจอกับ “เท้าทิพย์” ที่จะออกมาถล่มมากขึ้น ๆ ไปในทุก ๆ วัน จนอยู่ไม่ได้ในที่สุด !