แสงไทย เค้าภูไทย ฝุ่นกรุง PM 2.5 ยังเป็นเรื่องจนปัญญาของรัฐบาลคสช.ในการแก้ไข มีแต่พูดลอยๆให้รอรถไฟฟ้าอีก 3ปีเสร็จ โดยไม่คิดว่า ตัวทำฝุ่น/ควันคือรถใช้ดีเซลอันป็นรถพาณิชย์ รถไฟฟ้าเป็นรถโดยสารสาธารณะ ช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวได้บ้าง แต่ช่วยอะไรไม่ได้กับรถปิกอัพ รถสิบล้อ รถพ่วง ฯลฯ จะห้ามรถพาณิชย์เหล่านี้เข้ากรุงเทพฯหรือผ่าเมืองนั้นทำไม่ได้ เพราะกรงเทพฯเป็นศูนย์กลางเเศรษฐกิจและศูนย์กลางด้านอื่นๆแทบทุกด้าน การชัตดาวน์กรุงเทพฯเมื่อ 5 ปีก่อนนั้นทำความพินาศยับเยินให้เศรษฐกิจไทยเหลือคณานับ การย้ายศูนย์ราชการ ศูนย์การเงิน เศรษฐกิจ ออกจากกรุงเทพฯ น่าจะทำให้ กรุงเทพฯหลวม และ“หยุดโต”ได้ แต่ก็ไม่มีใครคิดจะทำ กรุงเทพฯก็เลยกลายเป็นเมืองรถติดและเมือง มลภาวะติดอันดับอันดับ 9 ของโลกเท่ากัน และที่กำลังจะเป็นก็คือ เมือง 1 ใน 10 ที่จะสูญหายไปจากแผนที่ภายใน 10-15 ปี (เวนิส อันดับ 1 )เพราะกรุงเทพฯทรุดลงปีละ 5-15 เซนติเมตร พื้นที่กรุงเทพฯ 15 เขต ขณะนี้อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลแล้ว ความแออัดของกรุงเทพฯเกิดจากจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์ 5.5 ล้านคน(ปี 2561) แต่มีจำนวนประชากรแฝงถึง 10 ล้านคน จำนวนยานยนต์จึงเพิ่มตามจำนวนคน จำนวนประชากรรถยนต์นั้น เฉพาะในกรุงเทพฯ ตัวเลขจำนวนรถยนต์ขึ้นทะเบียนเมื่อถึงเดือนมีนาคม 2561 มีถึง 9,912,067 คัน จำนวนจักรยานยนต์ส่วนบุคคล 3,565,843 คัน จักรยานยนต์รับจ้าง 97,902 คัน ทั้งประเทศมีจำนวนกว่า 38 ล้านคัน แต่ถนนที่รองรับการขับขี่ของรถเหล่านี้ในกรุงเทพฯ มีน้อยกว่าจำนวนรถถึง 4.4 เท่าตัว การเพิ่มพื้นที่ถนนเพื่อลดการจราจรแออัดคงช่วยไม่ได้มากนัก เห็นได้จากการสร้างถนนวงแหวนรอบนอก สร้างทางยกระดับ มอเตอร์เวย์ ฯลฯ ที่ไม่สามารถลดจำนวนรถยนต์ทางราบ ซ้ำถนนยกระดับบางสาย เช่นบางนา-บางขุนเทียน ที่ผ่ากรุงเทพฯจากตะวันออกสู่ตะวันตก รถจะติดกันตั้งแต่เช้าจรดเย็น เนื่องจากเป็นเส้นทางเชื่อมท่าเรือแหลมฉบังกับเมืองอุตสากรรมฝั่งตะวันตก ส่วนจะให้รถเข้ากรุงเทพฯน้อยลง อย่างที่เคยใช้มาตรการเลขทะเบียน คู่คี่ หรือห้ามเข้าชั้นใน หรือติดเวลา หรือจะห้ามเข้าโดยเด็ดขาดอย่างบางเมืองหลวงในยุโรป ก็คงจะยากเช่นกัน เพราะเหตุผลว่ากรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางแทบทุกอย่างของประเทศไทยดังกล่าว คงจะต้องใช้เวลาอีกยาวนานกว่าจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของกรุงเทพฯได้ จึงได้แต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน คือฝุ่นธุลีกรุง ดูวิธีแก้ปัญหาทำนองนี้ของสิงคโปร์เป็นแนวคิด สิงคโปร์เล็กกว่ากรุงเทพฯมาก แม้จะไม่่ีมีปัญหามลภาวะ แต่ก็พยายามยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรให้สูงขึ้น โดยเฉพาะด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อม ขณะนี้สิงคโปร์กำลังรณรงค์ทำเป็นเมืองสีเขียว ปลูกต้นไม้ทุกที่ ตั้งแต่ริมถนนไปจนบนยอดตึก ในบ้าน สวนดาดฟ้า ต้นไม้นอกจากเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นอ็อกซิเจนแล้ว ยังเป็นตัวดักจับฝุ่น ละอองในอากาศด้วย เห็นได้จากต้นไม้ในกรุงเทพฯ ใบไม้ กิ่งก้าน ลำต้น จะมีคราบฝุ่นจับทุกวัน เมื่อรดน้ำแล้ว ฝุ่นก็จะหายไปกับน้ำ ยิ่งในฤดูฝนด้วยแล้ว ต้นไม้จะสดใสเขียวชอุ่ม เพราะน้ำฝนให้ทั้งความชุ่มชื้นและชำระล้างฝุ่นตามธรรมชาติ กรุงเทพฯได้ฉายาว่า “ป่าคอนกรีต” จากนักเขีนอาวุโส 'รงค์ วงศ์สวรรค์ เมื่อ 40 ปีก่อน ทั้งๆที่ช่วงนั้นยังมีพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ใหญ่ริมทางอยู่มาก แต่ตอนนี้ ตึกระฟ้าขึ้นมาแทนที่ ต้นไม้ริมถนนสำคัญๆหายไป อย่างริมคลองสาทร ต้นมะฮอกกะนีอายุเกือบร้อยปีหายไป คลองสาทรแคบลง ถนน 3 เลนทั้ง “สาทรเหนือ สาทรใต้”มาเบียด พร้อมคอนโดมีเนียมและตึกระฟ้ามาแทนที่ จะเรียกว่่าป่าอะไรดี ? มีการพูดกันถึงการย้ายเมืองหลวงคือกรุงเทพฯไปยังจังหวัดเหนือขึ้นไป อย่างนครราชสีมาเป็นต้น แต่คงจะเป็นไปได้ยาก ที่จะทำได้ก็คงจะเป็นแค่ย้ายส่วนราชการออกไปทั้งหมด แต่ตัวก่อมลภาวะยังคงเป็นความเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯเช่นเดิม จะเป็นเช่นนี้ไปอีก 10-20 ปี จนกว่าจะมีสนามบินสุวรรณภูมิ 2-3-4 หรือท่าเรือน้ำลึกอีกแห่ง หรือเมืองอุตสาหกรรม สถานประกอบการ ฯลฯ ไปอยู่เมืองบริวารของกรุงเทพฯทั้งหมด เท่ากับผลักประชากรแฝงของกรุงเทพฯให้ย้ายตามแหล่งงานออกไป ย้ายเมืองไม่ได้ ก็ต้องย้ายคนแทน