ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว ที่ได้กล่าวถึง “รัชกาลที่ 10” ที่มีพระนามว่า “สมเด็จพระเจาอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูล” โดยตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา พระองค์ท่านได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างมากมาย ทั้งร่วมทรงกราบถวายสักการะพระบรมศพ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช : รัชกาลที่ 9” ตลอดจนแต่งตั้ง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กลับมาเป็น “ประธานองคมนตรี” ตามเดิม และได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่ตั้งองคมนตรีใหม่ 10 ท่าน ดังรายนามที่ทุกท่านได้อ่านผ่านสื่อกันไปเรียบร้อย มาต่อกันด้วยถึง “พระราชประวัติ” ของพระองค์ท่านกันต่อครับ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2495 ตรงกับ วันจันทร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 9 ปีมะโรง จัตวาศก อธิกวาร จุลศักราช 1314 นับเป็นปีที่ 7 แห่งการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินี 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เมื่อทรงเจริญพระชนมายุได้ 1 เดือน กับ 18 วัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกอบพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ เมื่อวันที่ 14 และวันที่ 15 สิงหาคม พุทธศักราช 2495 ประกอบพระราชพิธี ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทั้งพิธีพราหมณ์ พิธีสงฆ์ และถวายแห่กล่อม ในพระราชพิธีนี้ “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์” ได้มีพระลิขิตไปถวายพระพรชัยมงคลในนามแห่งคณะสงฆ์ไทย เนื่องในอภิลักขิตสมัยมหามงคลสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ด้วย ต่อมาเมื่อทรงเจริญพระชนมายุได้ 1 พรรษา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชทานพระนาม ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นผู้ตั้งถวายตามดวงพระชะตาว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร” ทรงอธิบายเป็นพระมงคลนามตามพระราชตระกูล คือได้อัญเชิญพระนามฉายาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระไปยิกาธิราช ซึ่งปรากฏในขณะทรงพระผนวชว่า วชิรญาณะŽ ผนวกกับ อลงกรณ์Ž จากพระนาม จุฬาลงกรณ์Ž ของรัชกาลที่ 5 จากนั้น ทรงเข้าศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ 1 เมื่อเดือนกันยายน พุทธศักราช 2499 เมื่อพระชนมายุ 4 พรรษา ณ โรงเรียนจิตรลดาชั้นอนุบาล ตั้งอยู่ ณ พระที่นั่งอุดร ในพระราชวังดุสิต ต่อมาโรงเรียนย้ายไปตั้งในบริเวณพระราชฐานสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ทรงศึกษาจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จึงเสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน พุทธศักราช 2509 ทรงเข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงสมีด เมืองซีฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และในเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้น ได้เสด็จฯไปทรงศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลล์ฟิลด์ เมืองสตรีท แคว้นซัมเมอร์เซท ประเทศอังกฤษ จนถึงเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช 2513 เมื่อเดือนสิงหาคม พุทธศักราช 2513 ทรงเข้ารับการศึกษาระดับเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทรงศึกษาอยู่จนถึงเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2514 พุทธศักราช 2515 ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา นับตั้งแต่ภาคแรกแห่งการศึกษาเป็นต้นไป พร้อมกันนี้ นักเรียนนายร้อยที่ผ่านหลักสูตรดังกล่าวจะได้รับปริญญาตรีตามสาขาวิชาที่เลือกศึกษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเลือกศึกษาในสาขาวิชาอักษรศาสตร์ เมื่อพุทธศักราช 2515 เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 20 พรรษา ทรงบรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ให้ดำรงพระอิสริยยศ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร”Ž ตามโบราณขัตติยราชประเพณี นับแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงมีอุปนิสัยโปรดความมีระเบียบวินัย และสนพระราชหฤทัยในกิจการเกี่ยวกับกองทัพอยู่เสมอ โดยเดือนสิงหาคม พ.ศ.2513 ทรงเข้ารับการศึกษาระดับเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์ นครซิดนีย์ ออสเตรเลีย ต่อมาทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา ต่อมา พ.ศ.2520-2521 ทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ต่อมาพ.ศ.2527-2530 ทรงศึกษาด้านกฎหมาย ทรงได้รับปริญญานิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ.2533 ทรงเข้ารับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งราชอาณาจักร ระหว่างพ.ศ.2522-2524 ทรงเข้าศึกษาหลักสูตรการบินเฮลิคอปเตอร์หลากหลายหลักสูตร และหลักสูตรการฝึกเครื่องบินเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม พระองค์ท่านทรงยึดแนวทางการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการดูแลช่วยเหลือราษฎรในเรื่องปัญหาดินและน้ำในลักษณะต่างๆ โดยมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาแหล่งน้ำในหลายพื้นที่ทุกภูมิภาค นับตั้งแต่ พ.ศ.2553 เป็นต้นมา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงทำการบินเที่ยวบินมหากุศลในตำแหน่งนักบินที่ 1 เที่ยวบินพิเศษของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นำคณะพุทธศาสนิกชนไปสักการะปูชนียสถานสำคัญ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์เพื่อประโยชน์ทางศาสนา จึงมีผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินเพื่อสมทบทุนเพื่อการกุศลอื่นๆ เป็นจำนวนมาก และเมื่อ พ.ศ.2555 เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ วันที่ 28 กรกฎาคม 2555 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำการบินเที่ยวบินมหากุศล เส้นทางไปกลับกรุงเทพฯ-ขอนแก่น เที่ยวบินพิเศษ TG 8866 นำคณะพุทธศาสนิกชนจำนวน 113 คน ไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ณ วัดป่าวิเวกธรรม อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น รายได้จากการจำหน่ายบัตรและเงินบริจาคสมทบจากผู้มีจิตศรัทธาครั้งนี้ ปี 2558 มีกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นั่นคือเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม มีกิจกรรม “Bike for Mom-ปั่นเพื่อแม่” กิจกรรมปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ หลังจากนั้น วันที่ 11 ธันวาคม 2558 มีกิจกรรม “ปั่นเพื่อพ่อ BIKE FOR DAD” เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา 5 ธันวาคม 2558 นี่คือส่วนหนึ่งของพระราชกรณียกิจใน “สมเด็จพระเจาอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูล” ที่ทรงมีคุณูปการยิ่งใหญ่ต่อชาวไทยตลอดมา