ทวี สุรฤทธิกุล กบฏบวรเดชเกิดขึ้นเพื่อปกป้องกษัตริย์ ภายหลังการรัฐประหารเงียบในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 โดยคณะทหารที่นำโดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้มี “หนังสือขอร้อง” ให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดานายกรัฐมนตรีลาออก รัฐบาลใหม่ที่มีพระยาพหลฯเป็นนายกรัฐนตรีนี้ก็ได้มี “หนังสือไปเชิญ” หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับประเทศ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสภายหลังที่ถูกโจมตีเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ถึงขั้น “คัดง้าง” กับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างรุนแรง การได้รับเชิญให้คืนสู่ประเทศไทยอย่างเป็นทางการนี้จึงแสดงถึง “บารมี” ของหลวงประดิษฐ์ว่ายังมีอยู่อย่างมากมาย โดยที่พระยาพหลฯและหลวงพิบูลสงครามเองก็ได้ไปต้อนรับถึงที่ท่าเรือวังบางขุนพรหม แล้วนำมาจนถึงวังปารุสกวันที่ใช้เป็นทำเนียบรัฐบาลอยู่ในตอนนั้น โดยมีนักเรียนกฎหมายมารอต้อนรับอยู่ด้วยที่นั่นถึง 400 คน ในหนังสือ “เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ” โดยวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย ได้วิเคราะห์ว่าสิ่งนี้ได้นำมาซึ่ง “ปฏิกิริยาทางการเมือง” ของฝ่ายต่อต้าน เพราะทันทีที่รัฐบาลทหารได้ตั้งหลวงประดิษฐ์ฯเป็นรัฐมนตรีลอย(ในสมัยนั้นมีตำแหน่งนี้นัยว่าเพื่อให้มีส่วนร่วมหรือช่วยนายกรัฐมนตรีเพื่อสั่งราชการต่างๆ คล้ายๆ กับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัยนี้)ในวันที่ 1 ตุลาคม 2476 พอวันที่ 11 ตุลาคม พลเอกพระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหมสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ได้นำกำลังทหารจากหัวเมืองที่มีศูนย์บัญชาการอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา เดินทางมาโดยรถไฟจนถึงสถานีดอนเมือง โดยรัฐบาลก็ได้นำกองทัพจากเมืองหลวงไปตรึงไว้ที่ย่านบางเขน เกิดการสู้รบอยู่หลายวัน ฝ่ายต่อต้านที่เรียกตัวเองว่า “คณะกู้บ้านกู้เมือง” มีกำลังน้อยกว่าก็พ่ายแพ้ต้องถอยร่นไปเรื่อยๆ กระทั่งวันที่ 25 ตุลาคม ทหารฝ่ายรัฐบาลก็ยึดเมืองนครราชสีมาได้ พระองค์เจ้าบวรเดชและนายทหารคนสำคัญต้องหลบหนี มีผู้เสียชีวิตทั้งสองฝ่ายนับร้อยๆ คน ประมาณว่าความเสียหายด้านทรัพย์สินในครั้งนั้นมีมูลค่ามากถึง 3 ล้านบาท ระหว่างเหตุการณ์นี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไปประทับอยู่ที่หัวหิน ในพระราชบันทึกทรงเล่าของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงบันทึกไว้ว่า “ไม่ยอมเข้ากับใครทั้งสองข้างไม่ว่าข้างไหน จะเป็นกลางอยู่เฉยๆ ต่อมาทราบข่าวว่า หลวงพิบูลสงครามจะส่งรถไฟมาเชิญเสด็จกลับ ก็รับสั่งว่ายังไม่กลับ แต่ก็ทรงตัดสินพระทัยเสด็จพระราชดำเนินสงขลา” เรื่องเสด็จไปสงขลานี้เคยมีคณะข้าราชบริพารถวายคำแนะนำแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ครั้งที่คณะราษฎรยึดอำนาจทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แล้วว่าเป็น “ทางเลือก” เพื่อหลีกเลี่ยงการประทะกับคณะผู้ก่อการดังกล่าวนั้น เผื่อว่ามีอะไรรุนแรงก็จะได้เสด็จไปทางทะเลไปยังชวาหรือประเทศอื่นๆ ต่อไป แต่ด้วยพระราชขัตติยะมานะจึงทรงยอมเสด็จกลับกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายพระองค์ทรงตัดสินพระราชหฤทัยที่จะเสด็จกลับและได้เสด็จไปร่วมรัฐพิธีเปิดประชุมสภาในวันที่ 10 ธันวาคม 2476 นั้นด้วย และในการประชุมสภาครั้งถัดมารัฐบาลก็เสนอจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อลงโทษเอาผิดกับพวกกบฏ ซึ่งพระองค์ทรงไม่เห็นด้วยแต่รัฐบาลก็ยังดึงดันที่จะเสนอกฎหมายดังกล่าว จนในที่สุดพระองค์ก็ทรงตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จไปยังประเทศอังกฤษเพื่อรักษาพระเนตร โดยได้เสด็จพระราชดำเนินออกจากประเทศสยามในวันที่ 12 มกราคม 2476 (ตอนนั้นยังนับวันปีใหม่เริ่มที่วันที่ 1 เมษายน จึงจะเริ่มเป็น พ.ศ. 2477) ทั้งนี้พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสแก่พสกนิกรทางสถานีวิทยุกระจายเสียง เสมือนจะเป็นพระราชดำรัสอำลาเป็นครั้งสุดท้าย ความจริงแล้วหลังการเข้าปกครองประเทศของคณะราษฎร บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ได้อพยพไปยังต่างประเทศหลายพระองค์ ที่มากที่สุดก็คือที่ชวาหรืออินโดนีเซีย รวมทั้งที่อยู่ใกล้ๆ อย่างปีนัง ประเทศมาเลเซีย ที่พระบรมวงศานุวงศ์ของไทยมีความคุ้นเคยกับผู้คนที่นั่นมาก่อน ซึ่งระหว่างทางเสด็จไปประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเสด็จไปทรงเยี่ยมพระประยูรญาติหลายพระองค์ ณ ประเทศเหล่านั้น ประหนึ่งว่าจะทรงสั่งเสียและอำลาพระประยูรญาติเหล่านั้น ระหว่างที่ทรงประทับอยู่ในประเทศอังกฤษ รัฐบาลได้เสนอกฎหมายสำคัญหลายฉบับเพื่อให้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยหลายฉบับ เช่น ร่างพระราชบัญญัติภาษีอากรมรดก ที่รัฐบาลจะให้มีการจัดเก็บภาษีมรดกจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่ทรงแย้งว่าทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนพระองค์แต่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน หรือร่างพระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายลักษณะอาญา ที่ทรงไม่เห็นด้วยกับการลดพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษการประหารชีวิต นอกจากนี้ยังได้ทรงมีพระราชบันทึกไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ให้มีพระราชอำนาจในการยับยั้งกฎหมายที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงการที่รัฐบาลไม่ได้ปกป้องพระมหากษัตริย์ ปล่อยให้มีการ "กล่าวร้ายทับถม" พระบรมจักรีพระราชวงศ์ โดยที่รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการปราบปราม ซึ่งรัฐบาลได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องของพระองค์ทุกประเด็น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปรารภกับพระบรมวงศ์ที่ใกล้ชิดว่าจะสละราชสมบัติอยู่หลายครั้ง โดยทรงให้เหตุผลว่า “เมื่อรัฐบาลไม่เคยสนใจฟังคำทักท้วงอย่างใดอย่างหนึ่งเลย ก็คงจะไม่มีประโยชน์ในการช่วยปกปักรักษาผู้ใดได้” โดยในการสละราชสมบัตินั้นจะไม่ทรงแต่งตั้งรัชทายาท ทั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร “หาผู้ขึ้นครองราชย์เองตามความพอใจ” ซึ่งรัฐบาลเองก็พยายามจะเจรจาไม่ให้ทรงสละราชสมบัติถึง 4 ครั้ง เพราะทราบว่าถ้าทรงสละราชสมบัติแล้วจะนำความยุ่งยากให้เกิดขึ้นมากมาย แล้ว 2 มีนาคม 2477 ก็ทรงสละราชสมบัติจริงๆ