ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ
อาจารย์ประจำคณะการทูตและการต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยรังสิต
นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง นโยบายเรือธงของเขาในการเลือกตั้งครั้งก็ได้ถูกดำเนินการทันที แน่นอนว่ามอตโต้ “America First” ที่ถูกใช้มานับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกก็ได้ถูกนำมาเป็นธีมหลักของการทำงาน ซึ่งหนึ่งในหัวใจสำคัญของธีมนี้ คือการขึ้นเพดานภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศต่างๆทั่วโลก ด้วยเหตุผลว่า ที่ผ่านมาการค้ากับประเทศต่างๆนั้นทำให้ “สหรัฐเสียเปรียบ” เสมอมา จึงจำเป็นที่จำต้องนำเอาผลประโยชน์กลับสู่คนอเมริกันให้ได้มากที่สุด
หลังจากนั้นโลกก็เริ่มปั่นป่วน ด้วยกลิ่นของสงครามการค้าที่ทุกคนสัมผัสได้
แรกเริ่มเดิมที สหรัฐแสดงให้โลกทั้งใบเห็น ว่า “เอาจริง” ด้วยการเริ่มต้นจัดหนักประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ แคนาดา เม็กซิโก และ จีน ซึ่งเป็นข้อความที่ชัดเจนว่า “ไม่ว่าจะเป็นใคร ใกล้ชิดสหรัฐมากแค่ไหน แต่ถ้าได้เปรียบสหรัฐ ก็ต้องโดน”
เรียกว่า ตรงไปตรงมา จัดเต็ม ไม่อ้อมค้อม
ซึ่ง จีน ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่โดนไปเต็มๆ จนเกิดการขึ้นเพดานภาษีตอบโต้อย่างทันควันต่อสหรัฐ จนเรียกได้ว่า ไม่ต้องเดาอีกต่อไป “สงครามการค้า” มาแล้ว
อย่างไรก็ดี ในภายหลังดูท่าว่าสหรัฐจะหันมาใช้ยุทธศาสตร์ “ป่าล้อมเมือง” เพิ่มมากขึ้น
วิเคราะห์ได้ว่า ทรัมป์น่าจะเริ่มรู้ตัวว่า การสู้กับจีนในแง่ของการขึ้นภาษีกันไปมาเช่นนั้น ไม่น่าจะดีต่อสหรัฐเองในระยะยาว เพราะสหรัฐในปัจจุบันไม่ใช่ประเทศที่มีศักยภาพด้านการผลิตภายในประเทศอีกต่อไป สหรัฐเดินผ่านจุดนั้นมานานแล้ว และได้กลายร่างเป็นประเทศเจ้าของกิจการที่มีการผลิตอยู่ในต่างประเทศเป็นหลัก การเป็นประเทศผู้ซื้อมากกว่าที่จะเป็นผู้ผลิตทำให้แรงงานและเทคโนโลยีในการผลิตของสหรัฐไม่ได้อยู่ในจุดที่สู้ได้อีกต่อไป ด้วยค่าแรงที่สูงและการขาดความต่อเนื่องในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการผลิต ซึ่งตรงข้ามกับจีนที่มีทั้งสองอย่างครบจบในตัวเอง
คำกล่าวที่ว่า “พระเจ้าสร้างโลก ที่เหลือจีนสร้าง” นั้นดูแล้วน่าจะเป็นความจริงอยู่ไม่น้อย เพราะจีนคือราชาแห่งการผลิต สินค้าแทบทุกชนิดบนโลกสามารถผลิตได้ในจีน ด้วยต้นทุนที่ต่ำ ดังนั้นการขึ้นเพดานภาษีนำเข้าต่อจีนอย่างรุนแรง ย่อมจะส่งผลลบย้อนกลับมาสู่พลเมืองสหรัฐเอง เพราะภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นจะทำให้ราคาสินค้าภายในประเทศสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสินค้านั้นไม่สามารถหาทดแทนได้จากประเทศอื่น เรียกได้ว่าแม้แต่สินค้าสัญชาติอเมริกันเองที่ผลิตในประเทศจีน ก็จะมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย จนกลายเป็นดราม่าในสังคมอเมริกันอยู่สักพัก ว่า เฮ้ยย นี่ฉันจะต้องซื้อไอโฟนแพงกว่าประเทศอื่นๆเขาจริงๆหรอเนี่ยย ในขณะที่การย้ายฐานการผลิตอย่างที่ทรัมป์ว่าไว้ว่า “มาผลิตในอเมริกาสิ จะได้ไม่มีภาษี” ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ง่ายในความเป็นจริง เพราะภาคธุรกิจจะต้องแบกรับต้นทุนมหาศาลที่จะเพิ่มขึ้น และนั่นแปลว่า กำไรจะลดน้อยลง
ทำให้การจะสู้กับจีนแบบหมัดต่อหมัดอย่างในตอนแรก ไม่ใช่เรื่องง่าย และดูแล้วจะเจ็บตัวไม่น้อย ปัจจุบัน จึงกลายเป็นภาพของการกดดันประเทศต่างๆ ด้วยมาตรการทางภาษีที่ทำให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึง supply chain ที่มาจากจีน โดยเห็นได้ชัดเจนจากกรณีของเวียดนาม ที่แม้จะให้เพดานภาษีต่อสินค้าสัญชาติเวียดนาม 20% (ต่ำกว่าหลายประเทศ) แต่มีการบีบอย่างชัดเจนต่อสินค้าส่งผ่าน (Transshipped goods) ว่าถ้ามีการส่งสินค้ามาเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐแทน ก็จะโดน 40% เป็นต้น เดือดร้อนถึงภาคเอกชนต้องมาสืบที่มาที่ไปของวัตถุดิบว่ามาจากจีน หรือมีความเป็น “สินค้าจีน” มากน้อยแค่ไหน
ที่สำคัญ การจะบอกว่าอะไรมีความเป็น “สินค้าจีน” มากน้อยแค่ไหน ไม่ได้มีหลักเกณฑ์ตายตัว แต่เป็นการตัดสินของสหรัฐเองล้วนๆ นั่นหมายความว่า ทางที่ดีควรทำให้ “การปนเปื้อน” ของสินค้าและวัตถุดิบจากจีน มีน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ภาคธุรกิจที่ต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาจึงอาจต้องคิดหนักเรื่องสินค้าจากจีน
งานนี้เห็นชัดว่า มุ่งเป้าไปที่ supply chain จากจีนเต็มๆ
ถ้าดีลลักษณะนี้มีการใช้กับประเทศอื่นๆมากขึ้นในอนาคต ก็น่าจะเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ว่านี่คือการ “จัดแถว” หรือจัดระเบียบเพื่อดูว่าใครเป็นข้างสหรัฐบ้าง ถ้าเป็นพวกกัน สินค้าสัญชาตินั้นก็จะได้รับการลดภาษีลง แต่บี้ไปที่สินค้าส่งผ่านที่อาจเป็นสินค้าจีนแทน แต่ถ้าใครยังลูกผีลูกคน ก็จัดหนักไปก่อนตามระเบียบ
แถมตอนนี้ยังลุกขึ้นมาถามพันธมิตรอย่างญี่ปุ่นและออสเตรเลียอีกว่า ถ้าเกิดปัญหาเรื่องไต้หวัน ยูจะเอายังไง? เรียกได้ว่า ดูแล้วน่าจะตึงเครียดกันไปอีกยาว
ที่ทำแบบนี้ ทั้งหมดอาจเพราะเริ่มรู้สึกว่า “ขาสั่น” รึปล่าว อาจกลัวว่าสหรัฐจะสูญเสียอำนาจในเวทีโลก จึงต้องลุกขึ้นมากดดันประเทศอื่นๆ จัดแถวใหม่ บีบให้เลือกข้างกันแบบเห็นๆ ก่อนจะโดนจีนจัดระเบียบโลกแบบเนียนๆ โดยไม่ทันตั้งตัว ผ่านเศรษฐกิจ การค้า และการผลิต
เกมนี้ดูกันยาวๆ ผลเป็นยังไงยังตอบไม่ได้ รู้แต่ว่า มีสิทธิเปลี่ยนแปลงรายวัน ขึ้นกับผลประโยชน์ที่จะแลกกัน บอกได้เลยว่า...มันส์พะยะค่ะ!
เอวัง