เสรี พงศ์พิศ
Fb Seri Phongphit
ศ.ดร.เจฟฟรีย์ แซคส์ (Jeffrey Sachs) นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย วิจารณ์นโยบายการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าเต็มไปด้วย "ตรรกะวิบัติ" (fallacy) และความเข้าใจผิดขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก
เขาบอกในที่สัมมนาถ่ายทอดสดไปทั่วโลกว่า ทรัมป์กับคณะที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจที่คิดเรื่องแบบนี้ไม่ผ่านแม้แต่ปีแรกในภาควิชาเศรษฐศาสตร์ของเขาเลย นักศึกษาของเขายัง “คิดเป็น” มากกว่านี้
โดยเฉพาะในประเด็นที่ทรัมป์กล่าวหาว่า สหรัฐ "เสียเปรียบ" ประเทศอื่นเพียงเพราะมี ดุลการค้าเป็นลบ หรือขาดดุลการค้ากับประเทศนั้น
ทรัมป์เสนอว่าการที่สหรัฐอเมริกานำเข้าสินค้ามากกว่าส่งออกกับบางประเทศ (เช่น จีน เม็กซิโก แคนาดา หรือไทย) คือสัญญาณของการถูกเอาเปรียบ เขาจึงตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีศุลกากรอย่างรุนแรง โดยอ้างว่าเป็นการ “เอาคืน” ให้สมดุล
ฟังดูเผิน ๆ เหมือนเป็นเรื่องธรรมดา แต่ เจฟฟรีย์ แซกส์ เตือนว่าความคิดนี้ผิดร้ายแรง และทำให้สหรัฐยิ่งเสื่อมถอยลงในเวทีโลก
เขายกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนว่า “การขาดดุลการค้า ก็เหมือนเวลาที่คุณไปซื้อของที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต คุณซื้อของมาเต็มรถเข็น แต่คุณไม่ได้เอาสินค้าไปขายกลับให้ซุปเปอร์มาร์เก็ต แล้วคุณจะโวยวายว่า ‘ฉันเสียเปรียบซุปเปอร์มาร์เก็ต เพราะพวกเขาขายของให้ฉัน แต่ไม่ได้ซื้ออะไรจากฉันเลย’
“แบบนี้มันไร้สาระใช่ไหม” เขาถาม
นี่คือหัวใจของการวิจารณ์ ในโลกของการค้า ไม่จำเป็นต้อง "แลกเปลี่ยนแบบตรง" เสมอไป และดุลการค้าไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบแบบบวกลบเลข
ในชีวิตจริง คนเราซื้อของจากร้านค้า ใช้บริการจากช่าง ใช้ไฟฟ้าจากโรงงาน แต่ไม่ได้ "ขาย" อะไรให้กับพวกเขาทุกคนโดยตรง หากแต่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันผ่านระบบเศรษฐกิจที่หมุนเวียนซับซ้อน
แซคส์ชี้ว่า ดุลการค้า (Current Account Balance) เป็นเพียงผลสะท้อนหนึ่งของโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น การออม การลงทุน การบริโภค และระดับค่าเงิน
ประเทศที่มีดุลการค้าเป็นลบ อาจเพราะมีการอุปโภคบริโภคสูง หรือมีสกุลเงินที่แข็งค่า ซึ่งทำให้สินค้านำเข้าถูกลง ไม่ใช่เพราะถูกต่างชาติมาขูดรีด
ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ขาดดุลการค้ากับหลายประเทศมาหลายทศวรรษ แต่ประชาชนกลับมีมาตรฐานชีวิตสูง เพราะสามารถนำเข้าสินค้าคุณภาพดีมีราคาต่ำ ขณะเดียวกัน เงินทุนจากต่างประเทศก็หลั่งไหลกลับเข้ามาลงทุนในหุ้น พันธบัตร และอสังหาริมทรัพย์ในอเมริกา
นโยบายแบบ "เข้าใจผิด" ก่อให้เกิดสงครามการค้า เมื่อทรัมป์ใช้ความเข้าใจผิดนี้เป็นฐานในการดำเนินนโยบาย จึงเกิดการตั้งกำแพงภาษีระหว่างประเทศ ทำให้สินค้าแพงขึ้นทั้งสำหรับผู้บริโภคชาวอเมริกันและผู้ผลิตในประเทศที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้า เช่น เหล็ก อลูมิเนียม หรือสินค้าเกษตร
สงครามการค้าไม่มีผู้ชนะ ทุกฝ่ายต่างเสียหายทางเศรษฐกิจ
ประเทศไทยไม่ควรใช้แนวคิด “ได้เปรียบเสียเปรียบ” แบบง่าย ๆ นี้ในการวางนโยบายการค้า แต่ควรมองให้ลึกว่า การมีดุลการค้าเป็นลบหรือเป็นบวกนั้น ขึ้นอยู่กับโครงสร้างเศรษฐกิจ การลงทุนในเทคโนโลยี การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และระดับการพึ่งพิงตลาดโลก
การค้าที่แท้จริงคือการ "เชื่อมโยง" ให้เกิดประโยชน์ร่วม ไม่ใช่ "ตัดแต้ม" ว่าใครชนะหรือแพ้
ไม่ว่านายทรัมป์จะฟังหรือไม่ ไทยก็ควรจะยกประเด็นของการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างสหรัฐกับไทย ที่ไม่ได้มีแต่ “การค้า” แต่มีเรื่องอื่นๆ มากมายที่ไทยเอื้อให้สหรัฐมาตั้งแต่หลังสงครามโลก สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม ไม่ใช่การลำเลิก แต่เพื่อให้รู้ว่า คนเราไม่ได้คบกันเพียงแค่ “กิน” หรือ “ซื้อขาย” เพียงอย่างเดียว
คนไทยน้ำมีใจไม่ตรี ความเอื้ออาทรที่ชนะใจคนต่างชาติ การเจรจาที่โยงการค้าไปถึงมิตรภาพมิติอื่นๆ น่าจะเป็นจุดแข็งของไทยที่ควรนำมาใช้
โดยเตรียมการอย่างเร่งด่วนทั้งระยะสั้นและระยะยาว เร่งปรับตัว ไม่ “โอ้เอ้วิหารราย” อย่างสามเดือนที่ผ่านมา เจรจาทางการทูตแบบเฉพาะกิจ ไทยควรเร่งเจรจาผ่านช่องทางทวิภาคีหรือกรอบอาเซียน และพันธมิตรในเอเชีย ส่งออกหาตลาดใหม่ โดยเฉพาะที่มีปัญหาภาษีกับสหรัฐเหมือนกัน
ระยะยาว พึ่งพาตนเองอย่างมีภูมิคุ้มกัน หันมาใช้แนวทาง “เศรษฐกิจพอเพียง” อย่างจริงจังในภาคการผลิต การส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในระดับชุมชน-ท้องถิ่น เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าที่จำเป็นได้เอง เป็นทางรอดที่ยั่งยืน
เพิ่มมูลค่าการส่งออก แทนที่จะส่งออกวัตถุดิบหรือสินค้าแปรรูปขั้นต้น ควรเน้นการวิจัยและพัฒนา การสร้างแบรนด์ สร้างคุณค่า สร้างต้นแบบนวัตกรรม เช่น อาหารสุขภาพ สินค้าเกษตรชีวภาพ ยารักษาโรคจากสมุนไพร นำเข้า “สินค้า” วัตถุดิบจากสหรัฐ แปรรูป แล้วส่งกลับไปขายสหรัฐ
สร้างตลาดภายในประเทศให้แข็งแรง รัฐควรลงทุนสร้าง “เศรษฐกิจฐานราก” ผ่านโครงสร้างอย่าง ศูนย์เศรษฐกิจชุมชน หรือตลาดวิถีใหม่ ที่ประชาชนเป็นเจ้าของเอง และช่วยให้ผู้ผลิตรายย่อยอยู่รอดได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการส่งออกเสมอไป
โลกกำลังเปลี่ยน ไทยต้องเปลี่ยน ตรรกะของทรัมป์คือการลากเศรษฐกิจโลกกลับสู่โลกแบบศูนย์รวมอำนาจ ชาตินิยม และคิดแบบง่ายๆ เหมือนทำบัญชีรายรับรายจ่ายส่วนตัว
โลกหลังโควิดและหลังโลกาภิวัตน์ต้องการแนวคิดใหม่ที่ลึกซึ้งกว่า และมองเศรษฐกิจเป็นระบบเชื่อมโยงมากกว่าการแข่งขันแบบแพ้ชนะ มองความสัมพันธ์ในมิติรอบด้านมากกว่าแค่ “ค้าขาย”
วิกฤติโควิด-19 ใช้เวลาสามปี “ภาษีทรัมป์” คงไม่เกิน 3-4 ปี แทนที่จะ “ร้องไห้” เพราะถูกข่มขู่รังแก ก็ฟิตร่างกายให้แข็งแรง ฝึกฝนศิลปะป้องกันตัวให้ดี จนขึ้นเวทีต่อสู้ได้ ไม่ให้ใครมาบูลลี่อีก