แสงไทย เค้าภูไทย โรงงานยาสูบเสนอผลิตกัญชาครบวงจร อันจะนำไปสู่การใช้กัญชาแทนยาสูบในอนาคต จะเกิดอะไรขึ้น ? หลังจากกัญชาถูกปลดล็อกจากการเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 มาเป็นประเภทที่ 2 เหมือนมอร์ฟีน ที่ใช้ทางการแพทย์ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไปเมื่อ 18 ก.พ.ก็มีทั้งเสียงตอบรับเชิงบวกและวิจารณ์เชิงลบ ผู้ที่ตอบรับเชิงบวกคือแพทย์และคนไข้ที่ได้กัญชาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรคร้ายแรงและเรื้อรัง กับกลุ่มเกษตรกรและผู้ต้องการผลิตกัญชาเชิงพาณิชย์ที่มีคุณสมบัติตามพ.ร.บกำหนด ส่วนผู้ตอบรับเชิงลบคือผู้ที่ต้องการให้เป็นกัญชาเสรีเต็มร้อย ขณะเดียวกัน มีหลายหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ที่ระบุใน พ.ร.บ.คือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข เป็นข่ายงานที่ควบคุมและดูแลการใช้กัญชาตาม พ.ร.บ.นี้ ทำให้หลายหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจพากันจับจ้อง ตีความตาม พ.ร.บ.นี้ว่า จะนำกัญชามาสร้างผลประโยชน์ ให้แก่หน่วยงานของตนได้อย่างไร อย่างเช่นโรงงานยาสูบเป็นต้น นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.)ได้เสนอแนวทางปรับปรุงกิจการของยสท. 5 แนวทาง โดยมีแนวทางข้อแรกคือ เป็นหน่วยงานสนับสนุน “การปลูกกัญชา-กัญชง เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์และเวชภัณฑ์ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ” โดยจะดูแลตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูก กระบวนการผลิต ซัพพลายเออร์ และนำร่องใช้กัญชากับ โรงพยาบาลของ ยสท. ซึ่งอยู่ในกระบวนการยื่นขออนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข เหตุผลที่ ยสท.ต้องการผลิตกัญชาแบบครบวงจรก็คือ ภาษีสรรพสามิตของบุหรี่อัตราใหม่ที่จะเพิ่มเป็น 40%เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม ศกนี้นั้น จะทำให้ยอดขายบุหรี่ตกลงไปมาก ดังเช่นที่เกิดขึ้นจากการปรับภาษีในแต่ละครั้งที่ผ่านมา ครั้งนี้เชื่อว่าจะตกต่ำที่สุด เพราะราคาบุหรี่จะขึ้นไปอีกซองละ 33 บาท ทำให้แต่ละแบรนด์ราคาเกิน 93 บาทต่อซอง การขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ รวมถึงสุรานั้น จุดประสงค์เพื่อรายได้ทางหนึ่งและเพื่อลดการบริโภคอีกทางหนึ่ง ซึ่งก็บรรลุเป้าหมายทั้ ง 2 ด้านสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่สำหรับบุหรี่ ได้ผลในด้านคนสูบน้อยลงก็จริง แต่รายได้จากภาษีก็ลดตามลงไปด้วย หากยสท.ที่แปรรูปมาจาก รยส.หันมาผลิตกัญชาแบบครบวงจร ก็คงจะไม่มีปัญหาด้านกฎหมาย เพราะเป็นหน่วยงานหรือวิสาหกิจที่มีคุณสมบัติตามข้อกำหนด ที่่ว่า “เกษตรกรที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์ซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายและร่วมดำเนินการกับหน่วยงานรัฐและสถาบันอุดมศึกษา” ยสท.มี ลูกไร่ปลูกยาสูบป้อนโรงงานอยู่แล้ว จึงน่าจะได้รับอนญาตให้ดำเนินการได้ครบวงจร แต่ก็มีการมองไกลไปอีกว่า หากเปิดกัญชาถูกกฎหมายด้านสันทนาการแล้ว กัญชาจะกลายเป็นบุหรี่ไปด้วย พวกที่อยากให้เปิดกัญชาเสรีมักจะอ้างประเทศที่เปิดกัญชาถูกกฎหมาย (cannabis legalization) ว่าเสรีแบบใครใคร่สูบ สูบ ใครใคร่เสพ เสพ ใครใคร่ปลูก ปลูก ได้อย่างเสรี แต่แท้ที่จริงแล้ว มีข้อจำกัดอยู่มาก เช่นอายุของผู้ที่มีสิทธิซื้อหรือครอบครองกัญชา เหมือนกับบ้านเรากำหนดอายุผู้ที่ซื้อสุราและกำหนดเวลาขายด้วย เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ที่จะปลูก ยังต้องขึ้นทะเบียนหรือได้รับอนุญาตในลักษณะสัมปทานจากรัฐด้วย มิใช่ใครอยากจะปลูกก็ปลูกกันเหมือนปลูกข้าว ปลูกผัก ในด้านส่วนบุคคล ยังกำหนดปริมาณครอบครองด้วย อย่างสหรัฐนั้น รัฐที่เปิดเสรีด้านสันทนาการยังควบคุมปริมาณครอบครองอยู่ รายละไม่เกิน 1 ถึง 3 ออนซ์เป็นต้น บางรัฐยังกำหนดโทษด้วย อย่างนอร์ธแคโรไลน่านั้น ให้ครอบครองได้ไม่เกิน 3 ออนซ์( 85.05 กรัม) ใครมีเกินกว่านั้นจะโดนปรับ 100 ดอลลาร์(ประมาณ 3,200 บาท) ถ้าเกินจาก 3 ออนซ์ เท่าครึ่งคือ 1.50 ออนซ์จะโดนอาญา เป็นจำคุก 20 วัน และถ้ามากกว่า เท่าตัว จะติดคุกถึง 5 เดือน เป็นต้น การจำกัดปริมาณครอบครองนั้น ก็ด้วยเหตุผลว่ากัญชายังมีฐานะเป็นยาเสพติดอยู่ส่วนหนึ่ง บรรดาผู้เรียกร้องกัญชาเสรีจึงควรศึกษาการเปิด “เสรีกัญชา” ของสหรัฐที่เปิดไปแล้วกว่า 30 รัฐดูว่า กัญชาของเขาเสรีกันจริงหรือไม่ ขนาดไหน อย่างไร ด้วยเหตุผลอะไร แม้กัญชาในรูปสารสกัดจะรักษามะเร็ง อัลไเมอร์ส พาร์กินสัน เครียด ฯลฯ ได้ดี แต่ในทางตรงกันข้าม หากใช้มากก็จะให้โทษ โดยเฉพาะกัญชาใช้ในรูปของบุหรี่ ที่มีโทษมากกว่าบุหรี่ที่ทำจากใบยาสูบ เพราะมันมีทาร์หรือยางมากกว่าบุหรี่มาก ปัจจุบันบุหรี่เป็นตัวก่อมะเร็งปอดที่เป็นสาเหตุการตายด้วยมะเร็งมากเป็นอันดับที่หนึ่ง การใช้กัญชาสันทนาการนั้น ส่วนใหญ่ใช้สูบเหมือนบุหรี่ ทำให้ผู้สูบได้รับสารก่อมะเร็งที่มีอยู่ถึง 33 ชนิดในกัญชาดิบ งานสาธารณสุขของสหรัฐจึงบังคับให้ผู้ผลิตกัญชาติดป้ายคำเตือนเกี่ยวกับพิษภัยของกัญชาที่ภาชนะบรรจุสินค้าผสมกัญชาทุกชนิดเหมือนกับคำเตือนบนซองหรือกล่องบุหรี่ กัญชาเสรีกับคุณภาพชีวิต จึงต้องชั่งน้ำหนักให้เท่ากัน ไม่เทไปข้างใดข้างหนึ่ง ตอนนี้ มีสหรัฐและแคนาดาเป็นตัวนำร่องที่ดีที่ควรจะเดินตาม ถือภาษิตว่า เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัดก็แล้วกัน