รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์/มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ดีเบต หรือ Debate เป็นประเด็นร้อนแรงในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายหลังที่ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วๆ ไปในวันที่ 24 มีนาคม นี้ ก็เกิดการจัดกิจกรรมดังกล่าวอย่างกว้างขวาง โดยทั่วไปการดีเบต เป็นการอภิปรายหรือแสดงความเห็นแย้งเกี่ยวกับเรื่องหรือหัวข้อที่ผู้คนมีความคิดเห็นแตกต่างกัน ซึ่งการดีเบตทางการเมืองครั้งแรก เริ่มขึ้นในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา วันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 1960 ระหว่างจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ พรรคเดโมแครต กับ ริชาร์ด เอ็ม นิกสัน หลังจากที่มีการดีเบตครั้งนั้น ก็ทำให้กิจกรรมทางการเมืองดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ในหลายประเทศที่มีระบบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นระบบประธานาธิบดี ระบบรัฐสภา ระบบกึ่งประธานาธิบดี รวมทั้งประเทศไทย ประเทศไทยได้เคยจัดกิจกรรมการดีเบตในการเลือกตั้งทั่วไปมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ทั้งในลักษณะที่มีหัวหน้าพรรคการเมืองหลายพรรคร่วมกิจกรรม และหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคเข้าร่วมกิจกรรม และเป็นกิจกรรมที่มีการจัดเรื่อยมาสำหรับการเลือกตั้งทั่วไป อีกทั้งสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปก็สนใจเฝ้ารอคอยติดตามชมการดีเบตของผู้เสนอตัวเป็นผู้นำสูงสุดในฝ่ายบริหาร ซึ่งก็คือตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การเลือกตั้งไทย 2562 มีการจัดกิจกรรมดีเบต ทั้งในสื่อหลัก รวมถึงสื่อออนไลน์ จนอาจจะกล่าวได้ว่า ณ วันนี้ สังคมไทยกำลังตกอยู่ในยุค “ดีเบตเกลื่อนเมือง” ที่อาจทำให้ “ประชาชน” จำนวนไม่น้อยเกิดอาการ “เอียน” หรือ “สำลัก” ข้อมูลจากดีเบตก็เป็นได้ เมื่อสังคมไม่สามารถหลีกเลี่ยงการดีเบตได้ สิ่งที่ควรจะรู้คงหนีไม่พ้นความสำคัญและประโยชน์ของการดีเบตที่มีต่อการเมืองการปกครองของไทย ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การดีเบตเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย เพราะเป็นวิธีที่จะทำให้ประชาชน ได้เห็นวิสัยทัศน์ ไหวพริบ ภาพลักษณ์ของผู้นำประเทศในอนาคต รวมถึงนโยบายของพรรคได้อย่างรวดเร็วและชัดเจน ซึ่งย่อมเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของประชาชนเจ้าของสิทธิเจ้าของเสียงเจ้าของอำนาจอธิปไตยสำหรับการตัดสินใจว่าเห็นด้วยต่อนโยบายของฝ่ายใด และจะลงคะแนนให้กับฝ่ายใด การดีเบต เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงทักษะการเจรจา การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การแสดงปฏิภาณ ไหวพริบของผู้เสนอตัวเป็นผู้นำในฝ่ายบริหาร ซึ่งหลีกหนีไม่พ้นที่ผู้นำฝ่ายบริหารของประเทศจะต้องพบปะเจรจาความเมืองกับผู้นำของประเทศอื่นๆ โดยหากผู้เสนอตัวเป็นผู้นำฝ่ายบริหารของไทยมีทักษะด้านต่างๆ เป็นอย่างดี ย่อมเป็นข้อมูลเชิงลึกด้านคุณสมบัติของผู้เสนอตัวที่ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย ผู้ลงคะแนน สามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจได้ดีกว่า นอกจากนั้น ยังเป็นช่องทางที่ทำให้ประชาชนได้รับรู้แนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายในเชิงลึก เนื่องจากประเด็นด้านนโยบาย มักเป็นจะถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ในการดีเบตอยู่เสมอ ซึ่งจะทำให้เกิดการชี้แจง อธิบาย แสดงความเห็นแย้งถึงข้อดี ข้อเสีย จุดอ่อน จุดแข็งในนโยบายของแต่ละฝ่าย ตลอดจนเป็นการตรวจสอบแนวคิด นโยบาย แนวทางการบริหารจัดการประเทศของแต่ละพรรคการเมืองไปด้วย ขณะที่การนำเสนอตัวตนของว่าที่ผู้นำประเทศในอนาคตผ่านการดีเบต จะสะท้อนให้เห็นถึงทักษะความรู้ความสามารถ และวิสัยทัศน์ที่แท้จรง ซึ่งไม่ผ่านการปรุงแต่งจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดยเมื่อต้องเข้าร่วมกิจกรรมการดีเบต ย่อมเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยว่า บุคคลที่พรรคการเมืองนั้นๆ นำเสนอไร้ความสามารถ ไร้สติปัญญา ไร้คุณสมบัติที่เหมาะสมเป็นผู้นำของประเทศ พูดง่ายๆ ว่า การดีเบตจะสะท้อนให้เห็นว่า “ใครเป็นของจริง...ใครเป็นของปลอม” นั่นเอง นี่คือ ภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นว่า “ดีเบต” ในทางการเมืองจึงไม่ใช่เรื่องชวนทะเลาะ ไม่ใช่เรื่องชวนหัวตลกโปกฮา ไม่ใช่การประคารมเอาชนะกัน หรือการโต้คารมเอาใจผู้ฟังเรียกเสียงฮาเพียงอย่างเดียวอย่างการโต้วาทีตามความคุ้นเคยที่จัดเพื่อความบันเทิงหรือสันทนาการ แต่ดีเบตเป็นเวทีของ “การประชันวิสัยทัศน์” อย่างแท้จริง เมื่อเข้าใจตรงกันแล้วว่า “ดีเบต” หรือ “ประชันวิสัยทัศน์” คืออะไร?...มีความสำคัญต่อการปกครองของไทยอย่างไร? ก็น่าจะทำให้สามารถตัดสินได้ไม่ยากเลยว่า การดีเบตแบบแท้แท้ : ประชาชนได้ประโยชน์จริงหรือ?... แต่ถ้าเป็น “การดีเบตแบบจอมปลอม” ซึ่งไม่มุ่งนำเสนอให้พรรคการเมืองมาประชันวิสัยทัศน์และนโยบาย และมุ่งเน้นการสร้างข้อถกเถียงทางการเมือง ก็น่าจะทำให้สามารถตัดสินได้ไม่ยากเช่นกันว่า การดีเบต เป็นประโยชน์หรือโทษ...!! สุดท้ายก็คงต้องสรุปว่าที่กล่าวไปทั้งหมดนี้ผู้เขียนต้องการให้ “ประชาชน” เกิดความรับรู้ความเข้าใจ และเมื่อประชาชนเกิดความเข้าใจ ก็คงไม่เกิดข้อถกเถียงว่าอะไรคือ “ดีเบต” อะไรคือ “โต้เถียง” กันแน่??... แล้วคงไม่เกิดความคิดที่ว่า คนพูดเก่งจะชนะ...หรือจะได้เปรียบ เพราะหากพูดเก่ง แต่เข้าทำนอง “น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหลงเหลง” เชื่อว่าประชาชนฟังออก...แยกแยะได้อย่างแน่นอน!! ไม่ต้องห่วงหรอกครับ!!