ทวี สุรฤทธิกุล รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นผู้นำกลุ่มสยามหนุ่ม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สวรรคตในวันที่ 1 ตุลาคม 2411 เจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ด้วยการ “ให้ความเห็นชอบ” (ซึ่งผู้รู้บางท่านอย่างเช่น ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ใช้คำว่า “เอนกนิกรสโมสรสมมติ” หมายถึง การแต่งตั้ง = สมมติ ด้วยที่ประชุมร่วม = สโมสร จากตัวแทนของกลุ่มคนต่างๆ = เอนกนิกร ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า “เป็นวิธีที่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง” อันเป็นรูปแบบที่แตกต่างจาก ปราบดาภิเษก = การทำสงครามหรือยึดอำนาจขึ้นมาเป็นกษัตริย์ เทวาภิเษก = การสถาปนาโดยอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และราชาภิเษก = การสืบราชสมบัติในฐานะพระรัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาล) โดยที่ประชุมของพระบรมวงศานุวงศ์ สมเด็จพระราชาคณะ และข้าราชการผู้ใหญ่ เนื่องจากรัชกาลที่ 4 ไม่ได้ทรงแต่งตั้งรัชทายาท เพียงแต่มีพระราชหัตถเลขาเป็นพระราชกระแสไว้ว่า “พระราชดำริทรงเห็นว่า เจ้านายที่จะสืบพระราชวงศ์สืบไปภายหน้า พระเจ้าน้องยาเธอก็ได้ พระเจ้าลูกยาเธอก็ได้ พระเจ้าหลานเธอก็ได้ ให้ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ปรึกษากันจงพร้อม สุดแล้วแต่จะเห็นดีพร้อมกันเถิด ท่านผู้ใดมีปรีชาควรจะรักษาแผ่นดินได้ ก็ให้เลือกดูตามสมควร” ในครั้งนั้นผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในที่ประชุมคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งถึงแม้จะชราภาพแต่ก็เป็นที่ยำเกรงของคนทั้งหลาย ได้กำกับดูแล “การให้ความเห็นชอบ” ครั้งนั้นอย่างแข็งขัน และเป็นโชคดีของประเทศไทยที่ขุนนางตระกูลนี้มีความรักชาติและเทิดทูนพระมหากษัตริย์ ที่สุดที่ประชุมก็เลือกให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์อย่างเป็นเอกฉันท์ ทรงพระนามโดยย่ออย่างที่คนไทยรู้จักกันว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระชนมายุเพียง 15 ปี ด้วยความที่ยังทรงพระเยาว์ ที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนกระทั่งพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนม์ได้ 20 ปี ใน พ.ศ. 2416 จึงได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีอำนาจเต็ม มีเกร็ดเล่ากันว่าผู้สำเร็จราชการฯคือสมเด็จเจ้าพระยาฯนั้นได้ “อภิบาล” ถวายการดูแลพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เป็นอย่างใกล้ชิดและแสดงความห่วงใยเป็นที่สุด“เยี่ยงลูกหลาน” ไม่เฉพาะแต่ในพระราชกิจต่างๆ เท่านั้น แต่ยังดูแลถึงพระจริยาวัตรคือการอบรมสั่งสอนเยี่ยงญาติผู้ใหญ่ที่จะดูแลลูกหลานของตนอีกด้วย อย่างเช่นครั้งหนึ่งพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจากการถวายพระกระยาหารค่ำจากงานเลี้ยง ท่านเจ้าคุณสมเด็จฯก็ขอพระราชานุญาตตรวจสอบว่าทรงดื่มของมึนเมาอะไรหรือไม่ อย่างที่พ่อแม่ทำกับลูกของตนกระนั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์หรือที่คนทั้งหลายเรียกว่า “ท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ” นี้ถูกมองว่าเป็นคนหัวโบราณเพราะเป็นผู้ที่รักษาพระราชประเพณีต่างๆ อย่างเคร่งครัด แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเป็น “หัวทันสมัย” อยู่อย่างมาก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะด้วยได้เติบโตขึ้นมาในยุคที่ต้องปรับตัวให้เป็นฝรั่งในยุคที่ฝรั่งมาล่าอาณานิคมในยุคนั้นนั่นเอง รวมทั้งที่จะต้องสนองราชการแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระราชปรารถนาให้ใช้ความเป็นฝรั่งนั้นปกป้องพระราชอาณาจักรและการรุกรานจากฝรั่ง ตัวท่านเจ้าคุณสมเด็จฯเองก็เลย “เป็นฝรั่ง” สนองพระราชนิยมนั้นอย่างเต็มที่ นับแต่บ้านเรือนที่อาศัยในบริเวณที่เรียกว่า “สมเด็จเจ้าพระยา” ที่คลองสาน ฝั่งธนบุรี ก็เป็นกลุ่มบ้านเรือนอย่างฝรั่ง (ยังคงมีปรากฏอยู่ในส่วนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสมเด็จเจ้าพระยาบำรุงรักษาไว้ และบ้านเรือนในบริเวณรายรอบ) การแต่งเนื้อแต่งตัว อาหารการกิน และชีวิตความเป็นอยู่ก็ปรับไปเป็นแบบฝรั่งหมด อันเป็นที่นิยมนับถือไปในหมู่ข้าราชการทั้งหลาย ไม่เพียงแต่เป็นพระราชนิยมเท่านั้น แต่ด้วยอิทธิพลของท่านเจ้าคุณ คนทั้งหลายจึงพากันปฏิบัติตาม มีเรื่องเล่าว่า(จากท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อีกเช่นกัน) ครั้งที่ท่านเจ้าคุณได้สร้างเรือน(ความจริงน่าจะเรียกว่าคฤหาสน์)เพื่อรับรองแขกบ้านแขกเมืองให้สมฐานะของ “สมเด็จเจ้าพระยา” ที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา(ตรงที่เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏสมเด็จเจ้าพระยานี่แหละ) ท่านเจ้าคุณได้สั่งโคมระย้าที่ฝรั่งเรียกว่า Chandelier มาเพื่อประดับโถงรับแขก แต่ด้วยความที่คนรับคำสั่งไปสั่งซื้อคงจะเกรงกลัวในอำนาจวาสนาของท่านเจ้าคุณเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ไปสั่งโคมระย้าที่มหึมาจนเกินขนาดไม่สามารถนำขึ้นไปประดับบนเรือนนั้นได้ ที่สุดท่านเจ้าคุณได้ให้นำไปประดับที่โถงท้องพระโรงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ดังที่เห็นประดับมาถึงทุกวันนี้ (ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่าเพิ่งได้ไปเห็นเต็มตาเวลาที่เป็นนายกรัฐมนตรี โดยได้ร่วมนำแขกบ้านแขกเมืองเข้าเฝ้าและรับพระราชทานเลี้ยงอาหารในท้องพระโรงนี้ จึงได้เห็นถึงความ “มหึและอลัง” ดังกล่าว) ซึ่งพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทนี้เป็นพระที่นั่งที่สร้างที่แบบฝรั่งผสมไทยประยุกต์ที่สวยงามมากและเชิดหน้าชูตามาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าท่านเจ้าคุณจะมีแนวคิดที่ชื่นชอบความเป็นฝรั่งอยู่อย่างมาก ที่รวมถึงแนวคิดทางด้านการเมืองการปกครองของฝรั่งนั้นด้วย แต่ก็อยู่ในฝ่ายที่เห็นว่าควรจะต้องมีการปรับตัว “ไปอย่างช้าๆ” ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอยากให้ “เกิดขึ้นโดยเร็ว” ชนชั้นนำในยุคนั้นจึงมีการแบ่งกันเป็น 2 กลุ่มอย่างไม่เป็นทางการ(คือไม่ถึงขั้นเป็นสมาคมหรือกลุ่มการเมือง เพียงแต่เป็นกลุ่มที่สนทนาหรือมีความเห็นในเรื่องการเมืองการปกครองนี้เหมือนกัน กลุ่มแรกประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่ค่อนข้างจะมีอายุน้อย เรียกว่า “กลุ่มสยามหนุ่ม” นำโดยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 กับอีกกลุ่มที่มีอาวุโสมากกว่า จึงเรียกว่า “กลุ่มสยามอนุรักษ์” (ไม่ยักเรียกว่าสยามอาวุโสหรือคำอื่นๆ) ที่นำโดยท่านเจ้าคุณสมเด็จเจ้าพระยาฯ ซึ่งทั้งสองกลุ่มก็เห็นด้วยว่าต้องมีการ “เปลี่ยนแปลง” บ้านเมืองให้เจริญอย่างฝรั่งนั้นให้ได้ซึ่งจะขออธิบายด้วย “เหตุการณ์ ร.ศ. 103” ในสัปดาห์ต่อไป